posttoday

นิคมอุตสาหกรรมเกษตรแห่งแรกในไทย แนวคิด Smart Argriculture Industrial Estate

11 มิถุนายน 2567

LPP ในเครือล้อพูลผล MOU จัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมแอลพีพี นครสวรรค์ นิคมอุตสาหกรรมการเกษตรและอาหารแบบครบวงจร (Smart Argricultur Industrial Estate) แห่งแรกในไทย ขับเคลื่อนเศรษฐกิจชีวภาพ เพิ่มมูลค่าผลิตผลการเกษตร ชูแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน มุ่งเป็นนิคมปล่อยของเสียน้อยสุด

“โครงการจัดตั้งนิคมแอลพีพี นครสวรรค์ เป็นโครงการสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจชีวภาพ BIOECONOMY โดยนำความรู้ นวัตกรรม และความได้เปรียบของประเทศไทย ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ ผลผลิตทางเกษตร มาสร้างมูลค่าเพิ่มให้เป็นสินค้าที่ใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ เช่น การเกษตร อาหารเสริมสุขภาพ เครื่องสำอาง การแพทย์ และพลังงาน เกิดความสมดุลทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม"

 

การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ( กนอ. ) และ บริษัท แอลพีพี อินดัสเตรียล เอสเตท จำกัด ลงนามในสัญญาร่วมดำเนินงาน จัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมแอลพีพี นครสวรรค์ นิคมอุตสาหกรรมแห่งที่ 69 ภายใต้การกำกับดูแลของ กนอ.

 

นิคมอุตสาหกรรมเกษตรแห่งแรกในไทย แนวคิด Smart Argriculture Industrial Estate

 

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า กนอ. ลงนามในสัญญาร่วมดำเนินงานกับ บริษัท แอลพีพี อินดัสเตรียล เอสเตท จำกัด เพื่อจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมแอลพีพี นครสวรรค์ นับเป็น นิคมอุตสาหกรรมแห่งที่ 69 ภายใต้การกำกับดูแลของ กนอ. ซึ่ง บริษัท แอลพีพี อินดัสเตรียล เอสเตท จำกัด ถือเป็นหนึ่งในพันธมิตรที่สำคัญของ กนอ.

 

นายวีริศ กล่าวว่า ด้วยศักยภาพของพื้นที่และความพร้อมของบริษัท แอลพีพี อินดัสเตรียล เอสเตท จำกัด เชื่อว่านิคมอุตสาหกรรมแห่งนี้จะได้รับการตอบรับที่ดีจากนักลงทุน ช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคอุตสาหกรรมของประเทศ กนอ. พร้อมสนับสนุน ส่งเสริมการดำเนินงาน เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายหลักของกระทรวงอุตสาหกรรมและประเทศต่อไป

 

ภาพ 3D ของโครงการนิคมอุตสาหกรรมแอลพีพี


นิคมอุตสาหกรรมแอลพีพี นครสวรรค์ ตั้งอยู่บนพื้นที่กว่า 673 ไร่ ในตำบลโคกเดื่อ อำเภอไพศาลี จังหวัดนครสวรรค์ ภายใต้แนวคิดการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Industrial Town) มีพื้นที่สีเขียวและแนวกันชนเชิงนิเวศ จุดเด่นของโครงการคือการส่งเสริมการจ้างงานและกระจายการผลิตไปยังภาคกลางตอนบน และยังสอดคล้องกับนโยบาย BCG ด้วยการใช้วัตถุดิบภาคการเกษตรในท้องถิ่นมาสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ผ่านความเชี่ยวชาญของบริษัท แอลพีพี อินดัสเตรียล เอสเตท จำกัด

 

นิคมอุตสาหกรรมเกษตรแห่งแรกในไทย แนวคิด Smart Argriculture Industrial Estate

 

นิคมอุตสาหกรรมเกษตรแห่งแรกเน้นบริหารด้วยแนวคิด Green/Smart Argriculture Industrial มุ่งกำจัด Waste ในภาคการเกษตรเพื่อนำมาเพิ่มมูลค่า

 

นายถวิล ล้อพูลผล กรรมการบริหารบริษัท แอลพีพี เอสเตท จำกัด กล่าวว่า ตั้งใจให้นิคมแอลพีพี เป็นศูนย์กลางในการเพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิตทางการเกษตร เช่น การผลิตซิลิก้าจากแกลบ (ชนิดผง) ที่มีเป็นจำนวนมากในพื้นที่ เพื่อนำไปเป็นส่วนประกอบในยางรถยนต์ โดยล่าสุดมีโรงงานจากญี่ปุ่นที่จะเข้ามาดำเนินงานผลิตซิลิก้าจากแกลบในนิคมแอลพีพี โดยวางเป้าปริมาณแกลบที่ 250 ตันต่อวัน

 

Business Model พัฒนามาจากแนวคิดหลัก เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ตั้งใจเน้นการหมุนเวียนใช้ทรัพยากรและพลังงานให้มีของเสียเกิดขึ้นน้อยที่สุด บวกกับการหาทางนำของเสียมาแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าให้เกิดประโยชน์สูงสุดโดยในนิคมจะมี Central Lab ด้านเกษตรและอาหารที่ให้บริการทดสอบและวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์และมีสถาบันฝึกอบรมหรือพัฒนาองค์ความรู้ด้านการเกษตรเพื่อพัฒนาเกษตรกรในพื้นที่เพื่อให้ได้วัตถุดิบที่มีคุณภาพป้อนเข้าสู่โรงงานในนิคมฯ ด้วย

 

และยังมีพื้นที่สีเขียวในพื้นที่นิคมฯ ถึง 20% จากแนวคิดนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ หรือ Eco Industrail Town ซึ่งกำลังเป็นแนวคิดหลักของนิคมอุตสาหกรรมในปัจจุบัน โดยมีการจัดสรรพื้นที่สีเขียวและพื้นที่แนวกันชนเชิงนิเวศ (Eco-Belt) รอบพื้นที่โครงการ และมีการนำน้ำทิ้งที่ผ่านการบำบัดแล้วมาปรับปรุงคุณภาพด้วยระบบ Reverse Osmosis System นำไปหมุนเวียนใช้กับพื้นที่สีเขียวในโครงการ

 

มุ่งเน้นความ Smart ตามมาตรฐานของ กนอ.คือ Smart Facility, Smart IT, Smart Energy, Smart Economy, Smart Living และ Smart Work Place

 

นิคมอุตสาหกรรมเกษตรแห่งแรกในไทย แนวคิด Smart Argriculture Industrial Estate

 

โครงการนี้ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการ กนอ. เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2567 ด้วยงบลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคประมาณ 854.44 ล้านบาท ซึ่งจะก่อให้เกิดมูลค่าการลงทุนในระบบเศรษฐกิจของประเทศกว่า 18,216 ล้านบาท และสร้างงานกว่า 4,554 ตำแหน่ง โดยใช้ระยะเวลาการพัฒนาโครงการประมาณ 3 ปี ภายหลังได้รับการประกาศเขตนิคมอุตสาหกรรม คาดว่าจะเปิดดำเนินการได้ในปี 2569