posttoday

NASA จับมือ Nokia ตั้งเสาสัญญาณ 4G บนดวงจันทร์

25 เมษายน 2567

องค์การนาซาจับมือโนเกีย เตรียมติดตั้งระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต 4G บนดวงจันทร์ นับจากนี้อยู่ที่ไหน แม้แต่นอกโลกก็สามารถเชื่อมต่อคนทางบ้านผ่านอินเทอร์เน็ตได้

องค์การอวกาศนาซา (NASA) และโนเกีย (Nokia) บริษัทเทคโนโลยีสารสนเทศและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สัญชาตืฟินแลนด์กำลังวางแผนร่วมกันจัดตั้งเครือข่ายอินเทอร์เน็ตบนดวงจันทร์ เพื่อเชื่อมต่อคนบนโลกและนักบินอวกาศที่เดินทางไปนอกโลก 

โครงการนี้ทำเพื่อช่วยวางรากฐานสำหรับการดำรงอยู่ของมนุษย์บนดาวเคราะห์ดวงอื่นในระยะยาว

จรวด SpaceX ซึ่งมีกำหนดออกเดินทางในปีนี้ แม้จะยังไม่ได้รับการยืนยันวันที่แน่นอน แต่จะบรรทุกเครือข่ายอินเทอร์เน็ต 4G ไปยังดวงจันทร์ด้วย จากนั้นจะติดตั้งระบบอินเทอร์เน็ตที่ขั้วใต้ของดวงจันทร์ และทดลองการควบคุมระยะไกลจากโลก

“ความท้าทายแรกในการติดตั้งและใช้งานเครือข่ายคือการมีอุปกรณ์เซลลูลาร์ที่ผ่านการรับรองพื้นที่ซึ่งตรงตามข้อกำหนดขนาด น้ำหนัก และพลังงานที่เหมาะสม ตลอดจนการใช้งานโดยไม่ต้องใช้ช่างเทคนิค” วอลต์ เองเกลุนด์ ( Walt Engelund) รองผู้อำนวยการฝ่ายเทคโนโลยีอวกาศของนาซา กล่าว
 

ทั้งนี้เครือข่าย 4G ถูกสร้างขึ้นโดย Bell Labs ของ Nokia โดยใช้ส่วนประกอบเชิงพาณิชย์ที่มีจำหน่ายทั่วไป มันจะบรรทุกลงบนยานลงจอดที่ผลิตโดยบริษัท Intuitive Machines ของสหรัฐฯ และเมื่อถูกใช้งานแล้ว มันจะเชื่อมต่อยานลงจอดผ่านอุปกรณ์วิทยุเข้ากับยานพาหนะสองคันที่สัญจรไปมาโดยมีภารกิจพิเศษของตนเอง นั่นคือการค้นหาน้ำแข็ง

ซึ่งการลงพื้นที่ไปสำรวจบนดวงจันทร์ก่อนติดตั้งนั้นจะส่งรถลงไปสำรวจ 2 คัน เริ่มที่คันแรกคือ คือรถแลนด์โรเวอร์ Lunar Outpost จะสำรวจพื้นที่ที่เรียกว่า Shackleton Connecting Ridge ส่วนอีกคันหนึ่งคือ Micro-Nova Hopper จะถูกส่งเข้าไปในปล่องภูเขาไฟเพื่อสแกนหาหลักฐานอย่างใกล้ชิดอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนของน้ำแข็งบนดวงจันทร์

ซึ่งภาพน้ำแข็งที่ส่งกลับไปยังสถานีส่งและโลกจะอยู่ในเวลาใกล้เคียงกัน หรือแทบจะเรียลไทม์ผ่านเครือข่ายเซลลูล่าร์ 

การเชื่อมต่อการสื่อสารและอินเทอร์เน็ตยังเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับโครงการ “อาร์เทมิส” (Artemis) ของนาซา ซึ่งมีเป้าหมายในการส่งนักบินอวกาศกลับไปเหยียบดวงจันทร์ในทศวรรษนี้
 

เองเกลุนด์บอกว่า ปัจจุบัน นักบินอวกาศพูดคุยกันผ่านทางวิทยุ แต่นาซาต้องการระบบการสื่อสารบนดวงจันทร์ที่สามารถรองรับวิดีโอความละเอียดสูงและข้อมูลวิทยาศาสตร์ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อภารกิจของอาร์เทมิสมีความซับซ้อนมาก

“ความสามารถในการสื่อสารบนดวงจันทร์เป็นสิ่งสำคัญสำหรับอาร์เทมิส สำคัญพอ ๆ กับองค์ประกอบภารกิจอื่น ๆ เช่น พลังงาน น้ำดื่ม และอากาศสำหรับหายใจ” เอนเงลุนด์กล่าว

“ที่สุดแล้ว ความพยายามนี้จะช่วยสร้างเครือข่ายการสื่อสารบนดวงจันทร์ที่สามารถทำให้นักสำรวจของเราสามารถส่งสัญญาณข้อมูลทางวิทยาศาสตร์กลับมา หารือกับฝ่ายควบคุมภารกิจ และพูดคุยกับครอบครัวของพวกเขา ราวกับว่าพวกเขากำลังอยู่บนโลกเดินไปตามถนนพร้อมโทรศัพท์มือถือ”

หากโครงการนี้ประสบความสำเร็จ มันจะสามารถวางรากฐานสำหรับอินเทอร์เน็ตนอกโลกที่ไม่ต่างจากอินเทอร์เน็ตบนโลกได้ อุปกรณ์ส่วนบุคคลสามารถเชื่อมต่อกับเครือข่ายดังกล่าวได้ ทำให้ชาวอาณานิคมในอวกาศสามารถใช้สมาร์ทโฟนที่สามารถเข้าถึงแอปและบริการทั้งหมดได้ไม่ต่างจากคนที่อยู่บนโลก