posttoday

เปิดที่มา'สถานีวิจัยดวงจันทร์นานาชาติ'ถึงMOUไทย-จีนสำรวจอวกาศเชิงลึก

02 เมษายน 2567

MOUไทย-จีนร่วมตั้งสถานีวิจัยดวงจันทร์นานาชาติ หนุนพัฒนาขีดความสามารถนักวิทยาศาสตร์-วิศวกรไทยแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ เพิ่มประสบการณ์ ทักษะเชิงวิจัย ด้านดาราศาสตร์ฟิสิกส์ วิศวกรรมดาราศาสตร์เชิงลึก ครอบคลุมสำรวจอวกาศ พัฒนาเทคโนโลยีและวิศวกรรมขั้นสูง

กรณีกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เสนอร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านสถานีวิจัยดวงจันทร์ระหว่างประเทศ ระหว่างกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งราชอาณาจักรไทย และสำนักงานบริหารอวกาศแห่งชาติจีน ขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีในการประชุมเมื่อวันที่ 2เม.ย.2567 

ก่อนหน้านี้ เมื่อ 8ต.ค.2566 สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร. ลงนามความร่วมมือกับ ศูนย์ปฏิบัติการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการสำรวจอวกาศเชิงลึก (DSEL) องค์การบริหารอวกาศแห่งชาติจีน (CNSA) ภายใต้โครงการสถานีวิจัยดวงจันทร์นานาชาติ (International Lunar Research Station) เพื่อร่วมกันออกแบบและพัฒนาระบบอุปกรณ์ปฏิบัติภารกิจอวกาศ ดาวเทียมวิจัยวิทยาศาสตร์ และอุปกรณ์วิทยาศาสตร์สนับสนุนอื่นๆ 

นอกจากนี้ยังส่งเสริมให้นักวิทยาศาสตร์และวิศวกรไทยมีโอกาสพัฒนาขีดความสามารถ แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ประสบการณ์ และทักษะเชิงวิจัย ด้านดาราศาสตร์ฟิสิกส์ และวิศวกรรมดาราศาสตร์เชิงลึก ครอบคลุมถึงการสำรวจอวกาศ และการพัฒนาเทคโนโลยีและวิศวกรรมขั้นสูง ผ่านการทำงานร่วมกันในการผลิตเครื่องมือตรวจวัดอนุภาคพลังงานสูงในอวกาศ ซึ่งนำไปใช้ในอวกาศได้จริง เพื่อศึกษาปรากฏการณ์และผลกระทบที่เกี่ยวข้องกับดวงอาทิตย์ โลก และดวงจันทร์ ข้อมูลที่ได้จะสามารถมาวิเคราะห์ ตั้งสมมติฐานใหม่ ๆ ทางวิทยาศาสตร์ รวมถึงพัฒนาแบบจำลองเพื่อนำมาใช้แจ้งเตือนต่อสาธารณชนได้อย่างแม่นยำ

ขณะเดียวกัน ยังได้เรียนรู้และพัฒนาด้านวิศวกรรมระบบอวกาศยานสำหรับการสำรวจอวกาศห้วงลึก อาทิ การออกแบบ ทดสอบภายใต้สภาวะอวกาศยิ่งยวด ตลอดจนถ่ายทอดองค์ความรู้และประสบการณ์การออกแบบอุปกรณ์สำหรับการพัฒนาอวกาศยานอื่น ๆ ต่อไปในอนาคต

ทั้งนี้ นักวิทยาศาสตร์ และวิศวกรไทย นำโดย สดร. และ ม.มหิดล ร่วมกำหนดประเด็นในการสำรวจทรัพยากรของดวงจันทร์ โดยนำเสนออุปกรณ์ที่รองรับภารกิจหลักของอวกาศยานฉางเอ๋อ 7 เช่น อุปกรณ์สำรวจสภาพอวกาศระหว่างโลกและดวงจันทร์ ตรวจวัดรังสีคอสมิก ติดตามผลกระทบต่อโลก ซึ่งผ่านการคัดเลือกจากคณะกรรมฝ่ายจีนแล้ว จะเป็น 1 ใน 7 อุปกรณ์ที่จะติดตั้งไปกับยาน ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการพัฒนาเชิงวิศวกรรมร่วมกัน และจีนมีแผนจะส่งไปสำรวจดวงจันทร์ภายในปี ค.ศ. 2026
 
ก่อนหน้านี้ คณะผู้บริหารองค์การบริหารอวกาศแห่งชาติจีน (CNSA) และรัฐวิสาหกิจเพื่อกิจกรรมทางอวกาศรัสเซีย (Roscosmos) ได้ลงนามในหนังสือบันทึกข้อตกลงเมื่อวันที่ 9 มีนาคมที่ผ่านมา เพื่อสร้างสถานีบนดวงจันทร์ในชื่อ “สถานีวิจัยดวงจันทร์นานาชาติ” (International Lunar Research Station : ILRS)

ILRS จะสร้างบนพื้นผิวดวงจันทร์หรือในวงโคจรรอบดวงจันทร์ เพื่อเป็นฐานที่ใช้ทดลองทางวิทยาศาสตร์หลากหลายแขนงในระยะยาว เช่น การสำรวจดวงจันทร์ การใช้ประโยชน์จากดวงจันทร์ การสังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์จากดวงจันทร์ การทดลองทางวิทยาศาสตร์พื้นฐานบนดวงจันทร์ และการทดสอบเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง

แม้ว่าโครงการ ILRS จะนำโดย CNSA (จีน) และ Roscosmos (รัสเซีย) แต่ทั้งสองฝั่งก็พร้อมสนับสนุนให้ชาติอื่น ๆ ที่สนใจเข้ามามีส่วนร่วมในโครงการ เสริมสร้างและแลกเปลี่ยนการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง ส่งเสริมการสำรวจอวกาศของมนุษย์และการประยุกต์ใช้ประโยชน์จากอวกาศในเชิงสันติ แต่ประกาศเกี่ยวกับโครงการ ILRS จากทาง CNSA และ Roscosmos ต่างไม่ระบุเวลาที่จะเริ่มต้นและเสร็จสิ้นการสร้างสถานีวิจัยที่ดวงจันทร์

ปัจจุบันองค์การ NASA ของสหรัฐฯ กำลังดำเนินโครงการอาร์ทิมิส (Artemis) เพื่อนำมนุษย์กลับไปสำรวจดวงจันทร์อีกครั้ง ซึ่งหากโครงการดำเนินไปได้ตามแผน จะสามารถส่งนักบินอวกาศถึงพื้นผิวดวงจันทร์ภายในช่วงกลางคริสต์ทศวรรษ 2020 และสร้างพื้นที่อยู่อาศัยของมนุษย์ในระยะยาวอย่างยั่งยืนทั้งบนพื้นผิวดวงจันทร์และในวงโคจรรอบดวงจันทร์ในท้ายทศวรรษนี้ และ NASA หวังว่าสิ่งที่ได้จากโครงการอาร์ทิมิสจะช่วยสนับสนุนการส่งนักบินอวกาศไปดาวอังคาร ในช่วงคริสต์ทศวรรษ 2030

ทาง NASA ได้ดำเนินโครงการอาร์ทิมิสของสหรัฐฯ พร้อมกับประสานความร่วมมือกับภาคเอกชนหลายบริษัท และอีก 7 ชาติ ได้แก่ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อิตาลี ลักเซมเบิร์ก สหราชอาณาจักร และแคนาดา ขณะที่ประเทศบราซิล ก็แสดงท่าทีต้องการมีส่วนร่วมในโครงการอาร์ทิมิสด้วย

นอกจากความร่วมมือทางอวกาศระหว่างรัสเซียและจีนครั้งนี้ รัสเซียมีความร่วมมือด้านอวกาศกับสหรัฐฯ มาก่อน โดยเฉพาะโครงการสถานีอวกาศนานาชาติ แต่ทางผู้บริหารของ Roscosmos กล่าวว่ารัสเซียไม่น่าจะเข้ามามีส่วนร่วมในโครงการอาร์ทิมิส

ขณะที่ความร่วมมือทางอวกาศระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ในปัจจุบันนี้ไม่สามารถเป็นไปได้เลย เนื่องจากติดข้อจำกัดด้านกฏหมายในสหรัฐฯ โดยรัฐบาลสหรัฐฯ ห้ามไม่ให้องค์การ NASA และสำนักงานนโยบายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของทำเนียบขาว ร่วมมือด้านเทคโนโลยีอวกาศกับประเทศจีน นอกจากทางสภาคองเกรสสหรัฐฯ จะอนุมัติมาก่อน

นอกจาก 3 ชาติข้างต้นแล้ว ยังมีชาติในภูมิภาคอื่น ๆ ที่พยายามสร้างความร่วมมือด้านเทคโนโลยีอวกาศ อย่างฝรั่งเศสที่ศูนย์การศึกษาอวกาศแห่งชาติฝรั่งเศส (CNES) ในฐานะองค์การอวกาศแห่งชาติได้ตกลงในโครงการความร่วมมือด้านการสำรวจอวกาศกับจีน และกลุ่มชาติยุโรปกำลังพยายามสร้างพันธมิตรด้านอุตสาหกรรมอวกาศ เพื่อให้ภูมิภาคนี้ก้าวขึ้นมาเป็นอีกขั้วหนึ่งในด้านเทคโนโลยีอวกาศ นอกจากสหรัฐฯ รัสเซีย และจีน

ที่มา