เปิดแผนงาน "กสว." วาระเร่งด่วนพัฒนา AI พร้อมขับเคลื่อนระบบวิทยาศาสตร์
ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์" ประธานกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) เปิดเวที กสว. ชี้ทิศทางก้าวต่อไปของการขับเคลื่อนระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ที่ตอบโจทย์นโยบายของรัฐบาล สอดรับกับทิศทางการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน
สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ สกสว. นำโดย ศาสตราจารย์ นายแพทย์ ดร.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ประธานกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) นำเสนอนโยบายและแนวทางการขับเคลื่อนประเทศด้วยระบบระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ที่ตอบโจทย์นโยบายของรัฐบาล สอดรับกับทิศทางการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ผ่านงาน "กสว.: ก้าวต่อไปสู่การขับเคลื่อนระบบ ววน.ของประเทศ" พร้อมแนะนำคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) ชุดใหม่ กับสื่อมวลชน เพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดี ให้เกิดพันธมิตรทางการสื่อสาร ร่วมกันมุ่งสร้างประโยชน์ต่อสังคมในระยะยาว
ศ.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ประธานกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) กล่าวว่า เป็นเรื่องที่น่ายินดีสำหรับประเทศไทยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เมื่อรัฐบาลให้ความสนใจที่จะนำวิจัยมาใช้เป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนและพัฒนาประเทศ รวมถึงได้มีการปฏิรูประบบการอุดมศึกษาวิจัยของประเทศ ทำให้การวิจัยมีความชัดเจนมากขึ้น มีการเพิ่มทรัพยากรในการวิจัย และการขยายตัวของนักวิจัย สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ ล้วนเป็นผลมาจากการปฏิรูป ซึ่งกองทุน ววน. นับเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการปฏิรูปครั้งนี้ รวมถึงการดูแลส่งเสริมกิจกรรมทางด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และศาสตร์ในทุก ๆ ด้านอีกด้วย
"เรามีหน้าที่ในการกำหนดนโยบาย ขับเคลื่อนนโยบายและที่สำคัญ คือ มีกองทุน ววน. เป็นเครื่องมือในการที่จะจัดสรรทรัพยากรและงบประมาณของประเทศ เข้าไปช่วยในการดำเนินการในมิติต่าง ๆ ซึ่งผลที่เกิดขึ้นช่วยทำให้ประเทศมีความชัดเจนว่าจะทำวิจัยในด้านใด และเพื่อให้เกิดประโยชน์อย่างไรบ้าง ด้วยการให้กองทุน ววน. เข้าไปสนับสนุนในด้านต่าง ๆ ตามนโยบายและทิศทางที่ทางสภานโยบายได้กำหนดไว้"
ศ.นพ.สิริฤกษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การวิจัยและนวัตกรรมจะสามารถสร้างรายได้ ถ้าเรามีผลิตภัณฑ์ใหม่ ซึ่งผลิตภัณฑ์นี้อาจเป็นในด้านของการชุมชน ผลิตภัณฑ์คุณภาพสูง หรือทำให้เกิดอุตสาหกรรมใหม่ ๆ โดยรายได้ที่ได้มานั้นประชาชนก็จะได้รับประโยชน์โดยตรง เราก็จะสามารถทำให้สังคมและสิ่งแวดล้อมดีขึ้น ทรัพยากรดีขึ้น น้ำสะอาด ขยะลดลง ช่วยทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น เราสามารถจะทำให้เกิดการเดินทางที่มีความสะดวกปลอดภัยมากขึ้น อุบัติเหตุในท้องถนนลดลง ทำให้เกิดความเท่าเทียมกันในการเข้าถึงทรัพยากรต่าง ๆ ลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ
ซึ่งการทำให้มีระบบในการนำเอาความรู้เหล่านี้มาใช้เป็นเรื่องที่มีประโยชน์อย่างมาก เราจำเป็นจะต้องผสมผสานศาสตร์ในทุก ๆ ด้านรวมกัน ไม่ใช่เฉพาะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเท่านั้น แต่ยังมีประเด็นเรื่องสังคม สังคมศาสตร์ มนุษย์ศาสตร์ และความเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ดังนั้น สกสว. ต้องการที่จะส่งเสริมให้นักวิชาการในแต่ละด้านได้มาทำงานร่วมกัน และที่สำคัญนักวิชาการไม่ได้ทำงานกับเฉพาะนักวิชาการเท่านั้น แต่ต้องทำงานร่วมกับภาคประชาสังคม ภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรม และที่สำคัญคือสื่อมวลชน ซึ่งอาจจะรวมทั้งกลไกในระดับภูมิภาคและในระดับนานาชาติอีกด้วย
เปิดแผนงานและวาระเร่งด่วนของคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.)
ทั้งนี้ทีมงานชุดใหญ่ชุดใหม่ของ กสว. ที่วางไว้ ได้มองเห็นภาพการบริหารจัดการ การดูแลทิศทางงบประมาณของประเทศในภาพรวม ขับเคลื่อนอย่างมีทิศทางตามที่ประเทศต้องการ ประกอบด้วย
1. กำหนดเป้าหมายที่ชัดเจน มีกลไกขับเคลื่อนและสร้างความสำเร็จเห็นผลสัมฤทธิ์ ประชาคมวิจัยมีความเชื่อมั่นในระบบ ววน. เน้นการร่วมหารืออย่างต่อเนื่องกับทุกภาคส่วน การมีส่วนร่วมของเครือข่ายและประชาคมเพิ่มเติมจากที่มีอยู่อย่างต่อเนื่อง
2. กำหนดสัดส่วนงบประมาณที่เหมาะสม เกิดการใช้ประโยชน์ทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ผสานการสร้างประโยชน์และเสริมสร้างความเข้มแข็ง มีความโปร่งใส อยู่บนพื้นฐานสร้างความเสมอภาค แม้อยู่ในสภาวะงบประมาณจำกัด มุ่งให้ทุกภาคส่วนที่เป็นการลงทุนของระบบ ววน. ทั้งประชาชน ประเทศ อุตสาหกรรมได้ประโยชน์ และเห็นความสำเร็จของโครงการสำคัญของประเทศ เช่น แก้ปัญหาสภาพแวดล้อม การสร้างความมั่นคงทางสุขภาพ สนับสนุนให้เกิดรายได้ที่เพิ่มขึ้น รวมถึงการเกษตรสมัยใหม่ เป็นต้น
3. สร้างการเจริญเติบโตและความเสถียรของกองทุน ววน. ด้วยกลไกของการกำหนดทรัพยากรส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนกิจกรรมที่สำคัญ เป็นชุดโครงการขนาดใหญ่ที่ขับเคลื่อนทั้งห่วงโซ่อุปทาน อาศัยการมีส่วนร่วม demand side approach เช่น แก้ปัญหาเรื่องฝุ่น PM 2.5 ยาและเคมีภัณฑ์ มีวัคซีนเพียงพอ น้ำท่วมน้ำแล้ง โดยระบุระยะเวลาความสำเร็จที่ชัดเจน
4. ทำให้เกิดความร่วมมือกับกลไกอื่นของประเทศ เพื่อให้เกิดผลกระทบที่มากขึ้น รวมถึงมีแนวทางที่ชัดเจนร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียด้วยการทำแผนการปฏิบัติงานที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงครบถ้วน และเหมาะสมทั้งกรอบของกระบวนการ กรอบเวลาที่แน่นอน เพื่อให้มหาวิทยาลัยและหน่วยงานวิจัยได้รับผลกระทบจากการปรับปรุงเปลี่ยนแปลง
5. การปรับปรุง/แก้ไข กฎระเบียบสำคัญเพื่อให้มีความคล่องตัวมุ่งเน้นการดำเนินงานเป็นสำคัญ และการมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
6. มุ่งสร้างการยอมรับให้กับ กองทุน ววน. ให้เป็นที่ประจักษ์ เข้าถึงและจับต้องได้ ด้วยการมีกลยุทธ์การสื่อสารที่ชัดเจน มีการสื่อสารแบบสองทางที่พร้อมตอบคำถามสำคัญ