posttoday

“ผู้ว่าฯ สัญจร Season 2” เน้นจุดเสี่ยงน้ำท่วม-งานระบายน้ำ

17 มีนาคม 2567

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กำชับหน่วยงานเร่งงานระบายน้ำ ตรวจจุดเสี่ยงน้ำท่วม ตรวจสอบความคืบหน้าการทำงานตามนโยบายพร้อมเร่งขับเคลื่อนให้เป็นไปตามแผน มอบนโยบายในการปรับปรุงทางเท้าใน กทม. ทั้งทางเท้าบนถนนหลัก และทางเท้าถนนรอบสถานีรถไฟฟ้า รัศมี 1 กม. ทั้ง 300 สถานี

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า พื้นที่แห่งนี้แสดงถึงความเจริญของเมือง จากที่เมื่อก่อนมีเพียงแค่การเกษตร ตอนนี้เริ่มมีหมู่บ้านจัดสรรเข้ามามากขึ้น ทำให้มีปัญหาเรื่องการระบายน้ำและเรื่องน้ำเสีย ต้องฝากเขตดูแลเรื่องการระบายน้ำ การขุดลอกคูคลอง รวมทั้งต้องลงไปตรวจตัวอย่างน้ำและเข้มงวดเรื่องการบำบัด ส่วนผู้ป่วยติดเตียงที่อยู่ในชุมชนก็ต้องตรวจเยี่ยมใกล้ชิด สนับสนุนผ้าอ้อมและดูแลเรื่องอาหารผู้ป่วย 

"หลังจากได้ลงพื้นที่กิจกรรมผู้ว่าฯ สัญจร season แรก ครบทั้ง 50 เขตแล้ว ใน season 2 นี้ จะเน้นไปลงพื้นที่เพื่อตามดูความคืบหน้าที่ได้สั่งการไว้  ที่ผ่านมา เป็นการดูชุมชนจัดตั้งตามระเบียบ แต่ยังมีชุมชนที่ยังเข้าไม่ถึงคือพวกหมู่บ้านจัดสรร คอนโดมิเนียม ซึ่งจะมีความต้องการที่แตกต่างกัน เช่น ความต้องการเรื่องจุดพักขยะ การขาดตัวแทนชุมชนเพื่อเจรจาเรื่องต่าง ๆ  ปัญหาการเชื่อมต่อการจราจรที่ยังเข้าไม่ถึงหมู่บ้าน ซึ่งเราต้องเข้าไปดูแลและพยายามรับฟังให้มากขึ้น" 

"นอกจากนี้ ปัญหาหลักหลังจากที่มีชุมชนหมู่บ้านเกิดมากขึ้นจนเบียดพื้นที่เกษตรกรรม ก็มีเรื่องการระบายน้ำ การเชื่อมระบบระบายน้ำลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา การบำบัดน้ำเสียก่อนปล่อยออกมา ซึ่งการควบคุมให้แต่ละหมู่บ้านต้องมีระบบบำบัดน้ำเสียของตัวเอง เพื่อคุณภาพน้ำที่ปล่อยออกมาจะได้ไม่สร้างความเดือดร้อนกับคนรอบนอก ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญ"

“ผู้ว่าฯ สัญจร Season 2” เน้นจุดเสี่ยงน้ำท่วม-งานระบายน้ำ
 

แจงเรื่องผู้ค้าหาบเร่ vs คนเดินเท้า 

ผู้ว่าฯ ชัชชาติ ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนถึงการจัดระเบียบผู้ค้าบริเวณถนนสารสิน ว่า  เป็นอีกจุดหนึ่งที่น่าสนใจ เพราะมีการค้าขายเดิมกว่า 24-25 ปี กทม.ใช้โอกาสที่ต้องมีการปรับปรุงทางเท้านี้ ย้ายผู้ค้าไปจุดอื่นที่เตรียมไว้ให้ เพราะหัวใจสำคัญคือคนต้องเดินได้สะดวก สิ่งแวดล้อมต้องดี และได้มอบนโยบายในการปรับปรุงทางเท้าใน กทม. ไปแล้ว ทั้งทางเท้าบนถนนหลัก และทางเท้าถนนรอบสถานีรถไฟฟ้า รัศมี 1 กม. ทั้ง 300 สถานี เพื่อทำให้ First Mile และ Last Mile สะดวกมากขึ้น และเชื่อว่าหลายพื้นที่ก็ดีขึ้นแล้ว 

“ผู้ว่าฯ สัญจร Season 2” เน้นจุดเสี่ยงน้ำท่วม-งานระบายน้ำ

ต่อยอดพัฒนาคลองโอ่งอ่างให้ยั่งยืน เพิ่มประสิทธิภาพรางระบายน้ำ 

ในส่วนของการพัฒนาพื้นที่คลองโอ่งอ่าง ซึ่งเดิมเป็นพื้นที่หลังบ้านประชาชน ร้านค้าจะอยู่อีกฝั่ง โดยผู้ค้าสะพานเหล็ก กทม. ก็ได้ย้ายไปอยู่บนห้าง ทำให้เรียบร้อยขึ้น แต่การที่จะทำให้คนกลับไปเดินคลองโอ่งอ่างแล้วให้คนภายนอกมาจัดอีเวนต์ขายของ สุดท้ายก็จะไม่มีประโยชน์กับคนในพื้นที่ เราต้องพยายามค้นหาตัวเอง ซึ่งมีหลายย่านในกรุงเทพฯ ที่ทำสำเร็จ เช่น ปากคลองตลาด เยาวราช ที่เขาสามารถพัฒนาอัตลักษณ์ตัวเองได้ สำหรับคลองโอ่งอ่างต้องดูบริบทและจุดแข็งของย่าน อย่างเช่น วิทยาลัยเพาะช่างที่มีผลงานศิลปะดี ๆ มากมาย หรือความเข้มแข็งของลิตเติลอินเดียที่ได้รับความนิยมอย่างมากในช่วงหลัง นำมากำหนดเป็นอัตลักษณ์ของย่านเพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน 
 

“ผู้ว่าฯ สัญจร Season 2” เน้นจุดเสี่ยงน้ำท่วม-งานระบายน้ำ

เปลี่ยนตะแกรงเหล็กท่อระบายน้ำแก้ปัญหาเบื้องต้น

ปัญหาเดิมคือจากผิวถนนจะมีตะแกรงเล็ก ๆ ของท่อระบายน้ำ ซึ่งเมื่อฝนตกแล้วมีขยะไปปิดก็จะทำให้ระบายน้ำไม่ได้ ต้องใช้คนเข้าไปเก็บกวาด จึงได้มีการเปลี่ยนตะแกรงเหล็กเป็นท่อระบายน้ำที่ด้านบนมีลักษณะเป็นร่องยาวเพื่อให้สามารถระบายน้ำจากผิวถนนลงท่อระบายน้ำได้เร็วขึ้น ต้องมีการเปลี่ยนตะแกรงเหล็กท่อระบายน้ำ 

ผู้ว่าฯ ชัชชาติ เสริมว่า  เมื่อก่อนการระบายน้ำจะเป็นตะแกรงเหล็กยาวที่น้ำจะสามารถไหลลงได้หมด แต่ปัญหาคือตะแกรงเหล็กมีราคาที่แพงเพราะต้องใช้เหล็กที่มีความหนา และมีเสียงดังเวลารถมอเตอร์ไซค์วิ่งผ่านเนื่องจากเกิดการกระแทก ส่งผลให้รบกวนการพักผ่อนของชาวบ้าน จึงปรับเป็นท่อแบบหล่อสำเร็จจากโรงงานมาซึ่งมีร่องระบายน้ำลงท่อยาวตลอดแนว 

“ผู้ว่าฯ สัญจร Season 2” เน้นจุดเสี่ยงน้ำท่วม-งานระบายน้ำ

สำหรับปัญหาที่ชาวบ้านอาจสงสัยว่าล้อจักรยานจะตกหรือไม่ เรื่องนี้เจ้าภาพอย่าง กทม.ยืนยันว่าไม่น่ามีปัญหา เพราะท่อที่วางใหม่อย่างเช่นบริเวณอุดมสุข ได้ทำให้ขอบชิดกับขอบทางเท้า ดังนั้น ปัญหาที่ล้อจะเข้าไปจึงไม่น่าจะเกิดขึ้น ส่วนพื้นที่อื่น ร่องของท่อระบายน้ำจะไม่ได้กว้างมาก หากหน้ายางไม่ได้เล็กมาก ๆ หรือหน้ายางไม่ได้เล็กกว่าร่อง โอกาสตกนั้นเป็นไปได้ยาก 

ซึ่งเรื่องนี้  ผู้ว่าฯ ชัชชาติ ได้กำชับให้รองผู้ว่าฯ วิศณุ กำกับดูแลและระมัดระวังเรื่องล้อจักรยานที่อาจจะลงร่อง พร้อมกล่าวด้วยว่า  แนวคิดดังกล่าวเป็นแนวคิดที่ทำให้น้ำสามารถระบายลงได้ทุกจุดของถนน ไม่จำเป็นต้องรอไหลลงบ่อพักแต่ละจุดซึ่งบางครั้งทำให้เกิดเป็นแอ่งที่มีน้ำท่วมขังเป็นระยะยาวได้ 

“ผู้ว่าฯ สัญจร Season 2” เน้นจุดเสี่ยงน้ำท่วม-งานระบายน้ำ “ผู้ว่าฯ สัญจร Season 2” เน้นจุดเสี่ยงน้ำท่วม-งานระบายน้ำ

จากนั้นทีมงานกทม.เดินทางไปที่จุดเสี่ยงน้ำท่วมบริเวณซอยรามอินทรา 39 เป็นจุดที่ได้รับงบประมาณเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วม เดิมมีสภาพต่ำ ท่อระบายน้ำเก่า เล็ก และชำรุด ฝนตกน้ำท่วมขังหลายวันประชาชนได้รับความเดือดร้อน ซึ่งซอยดังกล่าวเป็นทางเชื่อมทางลัด ปัจจุบันอยู่ระหว่างบริหารสัญญา เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จจะช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมขัง เป็นทางเชื่อมทางลัดในการสัญจรได้อย่างสะดวก 

งานก่อสร้างสถานีสูบน้ำคลองไผ่เขียว และตรวจความพร้อมบ่อสูบน้ำ ถนนมัยลาภ ปัจจุบันงานก่อสร้างแล้วเสร็จสมบูรณ์ใช้งานได้ สามารถแก้ปัญหาน้ำท่วมแขวงอนุสาวรีย์และแขวงท่าแร้ง โดยมีจำนวนปั๊มน้ำ 4 ชุด อัตราการสูบ 3 ลบ.ม./วินาที/เครื่อง อัตราการสูบรวม 12 ลบ.ม./วินาที สามารถสูบน้ำได้ 2 ทิศทาง 

“ผู้ว่าฯ สัญจร Season 2” เน้นจุดเสี่ยงน้ำท่วม-งานระบายน้ำ “ผู้ว่าฯ สัญจร Season 2” เน้นจุดเสี่ยงน้ำท่วม-งานระบายน้ำ