posttoday

เปิด “เส้นทางรถไฟฟ้าสายสีส้ม” มีสถานีไหนบ้าง คาดปี 2568 มาแน่

13 กุมภาพันธ์ 2567

ยังเป็นที่รอคอยของคนกรุง ที่จะได้ใช้งาน “รถไฟฟ้าสายสีส้ม” ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ซึ่งเป็นโครงการส่วนตะวันออก จนเกิดคำถามว่า “รถไฟฟ้าสายสีส้ม เสร็จปีไหน” ไปหาคำตอบกัน

จากคำถาม รถไฟฟ้าสายสีส้มจะเสร็จเมื่อไหร่ ล่าสุดมีรายงานว่า การก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม แล้วเสร็จประมาณ 98.65% แล้ว

 

เปิดเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีส้มล่าสุด

เปิด “เส้นทางรถไฟฟ้าสายสีส้ม” มีสถานีไหนบ้าง คาดปี 2568 มาแน่

 

ทำความรู้จัก “รถไฟฟ้าสายสีส้ม”

รถไฟฟ้าสายสีส้ม เป็นระบบรถไฟฟ้าขนาดใหญ่ (Heavy Rail Transit System) เหมือนกับ BTS ที่เปิดใช้บริการอยู่ในปัจจุบัน รองรับผู้โดยสารได้มากกว่า 50,000 คน/ชั่วโมง/ทิศทาง และใช้ความเร็วได้สูงสุด 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เป็นหนึ่งในโครงการก่อสร้าง เส้นทางรถไฟฟ้าในระบบรถไฟฟ้ามหานคร ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการระบบขนส่งมวลชนทางรางในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ดำเนินการโดย บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ภายใต้การร่วมลงทุนกับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย เป็นระบบรถไฟฟ้าที่มีทั้งโครงสร้างใต้ดินและยกระดับ มีแนวเส้นทางที่รองรับการเดินทางภายในเขตเมือง ตามแนวตะวันออก-ตะวันตก ของกรุงเทพมหานคร มีระยะทางรวมทั้งหมด 35.9 กิโลเมตร ตั้งแต่บางขุนนนท์-มีนบุรี โดยแบ่งเป็น สายตะวันออก-สายตะวันตก

 

ภาพรวมก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม

 

รถไฟฟ้าสายสีส้มมีสถานีไหนบ้าง

สายตะวันออก : จะเป็นเส้นทางภายในเขตเมืองตามแนวตะวันออก “ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี (สุวินทวงศ์)” ระยะทาง 22.5 กิโลเมตร จำนวน 17 สถานี แบ่งออกเป็น สถานีใต้ดิน 10 สถานี และสถานียกระดับ 7 สถานี โดยแต่ละสถานีมีดังนี้:

 

OR13 สถานี ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย

OR14 สถานี การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)

OR15 สถานี วัดพระราม 9

OR16 สถานี รามคำแหง 12

OR17 สถานี รามคำแหง

OR18 สถานี การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.)

OR19 สถานี รามคำแหง 34

OR20 สถานี แยกลำสาลี

OR21 สถานี ศรีบูรพา

OR22 สถานี คลองบ้านม้า

OR23 สถานี สัมมากร

OR24 สถานี น้อมเกล้า

OR25 สถานี ราษฎร์พัฒนา

OR26 สถานี มีนพัฒนา

OR27 สถานี เคหะรามคำแหง

OR28 สถานี มีนบุรี

OR29 สถานี แยกร่มเกล้า

 

โดยทั้งหมดจาก 17 สถานี รถไฟฟ้าสายสีส้ม ยังมีสถานีหลักที่เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายอื่นอีก 3 สาย ประกอบไปด้วย

 

  • เชื่อมต่อรถไฟฟ้า สายสีน้ำเงิน ตรงสถานีศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย สามารถเดินทางระหว่างสถานีหัวลำโพง-สถานีบางซื่อ-สถานีหลักสอง

 

  • เชื่อมต่อรถไฟฟ้า สายสีเหลือง ตรงสถานีแยกลำสาลี สามารถเดินทางระหว่างสถานีสำโรง-สถานีลาดพร้าว

 

  • เชื่อมต่อรถไฟฟ้า สายสีชมพู ตรงสถานีมีนบุรี สามารถเดินทางไประหว่างสถานีศูนย์ราชการนนทบุรี

 

สายตะวันตก : เส้นทาง “ศูนย์วัฒนธรรมฯ-บางขุนนนท์” ระยะทาง 13.4 กิโลเมตร มีสถานีทั้งหมด 11 สถานี แนวเส้นทางในส่วนตะวันตกเป็นเส้นทางใต้ดินทั้งหมด โดยจะเชื่อมต่อกับสถานีรถไฟร่วมศิริราช โรงพยาบาลศิริราช, รถไฟฟ้ามหานคร สายสีม่วง, รถไฟฟ้าบีทีเอสที่สถานีราชเทวี, รถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิที่สถานีราชปรารภ และรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล

 

รถไฟฟ้าสายสีส้ม เสร็จปีไหน

ตามแผนงานเดิม การก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2568 ส่วนของการเดินรถนั้น มีรายงานข่าวว่า ทาง BEM จะทยอยนำขบวนรถมาทดสอบเดินรถภายใน 1 ปีครึ่ง หรือ 2 ปี เพื่อให้สามารถเปิดใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีส้มส่วนตะวันออกได้ก่อน นอกจากนี้ จะปรับแผนงานการก่อสร้างส่วนตะวันตกให้รวดเร็วมากขึ้นด้วย

 

และเมื่อ ‘รถไฟฟ้าสายสีส้ม’ ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) โครงการส่วนตะวันออก เปิดให้บริการเต็มรูปแบบ จะแวะเช็กอินที่ไหนได้บ้าง

 

ห้างสรรพสินค้า: เอสพานาด รัชดา, เดอะมอลล์ 2 รามคำแหง, เดอะมอลล์ 3 รามคำแหง, Big C สุขาภิบาล 3, Homepro รามคำแหง และ The Paseo รามคำแหง

โรงพยาบาล: โรงพยาบาลปิยะเวท, โรงพยาบาลรามคำแหง และเกษมราษฎร์ รามคำแห่ง

สถานที่สำคัญอื่นๆ: สวนพรรณภิรมย์, มหาวิทยาลัยรามคำแหง, ศูนย์กีฬาหัวหมาก และเตรียมอุดมศึกษาน้อมเกล้า

 

ขอบคุณข้อมูลจาก: คมชัดลึก