posttoday

เมื่อพลังงานสะอาดกลายเป็นคุกคามชีวิตนกและค้างคาว

19 มกราคม 2567

ที่ผ่านมาพลังงานสะอาดหรือพลังงานหมุนเวียนได้รับการพูดถึงในฐานะทางออกของภาวะโลกร้อน ทั่วโลกจึงต่างผลักดันเทคโนโลยีพลังงานสะอาดอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะพลังงานลม วันนี้เราจึงมาพูดปัญหาที่เกิดจากพลังงานลมต่อสัตว์ปีกที่ทำให้นกเสียชีวิตปีละกว่า 500,000 ตัว

พลังงานสะอาด แนวทางที่ได้รับการพูดถึงและถูกยกให้เป็นทางออกของภาวะโลกร้อน อาจไม่สามารถขจัดผลกระทบแก้ปัญหาอย่างปัจจุบันทันด่วนแต่ก็ช่วยให้ทุกอย่างไม่เลวร้ายไปกว่าเก่า จึงเกิดการผลักดันพัฒนาเทคโนโลยีให้สามารถรองรับการใช้พลังงานทั่วไปภายในสังคม เพื่อเป้าหมายในการเลิกใช้น้ำมันเชื้อเพลิงอย่างเด็ดขาด

 

          นำไปสู่การคิดค้นพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานสะอาดหลายรูปแบบ ทั้งพลังงานน้ำจากเขื่อน พลังงานแสงอาทิตย์จากโซล่าเซลล์ ไปจนพลังงานลมจากกังหันลมขนาดใหญ่ มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขึ้นมารองรับ เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเปลี่ยนผ่านที่กำลังจะเกิดขึ้น

 

          อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนผ่านนั้นอาจนำมาสู่การตั้งคำถาม เมื่อพลังงานสะอาดเองก็ถือเป็นภัยคุกคามต่อสิ่งมีชีวิตเช่นกัน

 

เมื่อพลังงานสะอาดกลายเป็นคุกคามชีวิตนกและค้างคาว

 

เมื่อพลังงานสะอาดเป็นภัยคุกคามต่อสัตว์มีปีก

 

          อันที่จริงปัญหาระหว่างกังหันลมกับนกไม่ใช่ของใหม่แต่ได้รับการพูดถึงครั้งแรกตั้งแต่ปี 2013 เมื่อมีรายงานว่าแต่ละปีจำนวนนกนักล่าที่เสียชีวิตจากกังหันลมมีมากกว่า 83,000 ตัว และหากนับรวมเป็นจำนวนนกทั้งหมดจะมีนกที่ตกเป็นเหยื่อของกังหันลมกว่าปีละ 573,000 ตัวเลยทีเดียว

 

          สาเหตุสำคัญของปัญหานี้เกิดขึ้นจากกังหันลมที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้ามักมีใบพัดขนาดใหญ่และถูกตั้งในพื้นที่ลมส่ง เพื่อให้สามารถดึงพลังงานธรรมชาติมาใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าให้มากที่สุด แต่พื้นที่เหล่านี้มักซ้อนทับกับเส้นทางการบินของนกทั่วไป นกหลายชนิดโดยเฉพาะนกที่อพยพตามฤดูกาลจึงชนเข้ากับกังหันลมจนเกิดการเสียชีวิตจำนวนมาก

 

          นอกจากนกที่ได้รับผลกระทบจนศาลสหรัฐฯมีคำตัดสินให้บริษัทพลังงานชดเชยค่าเสียหายกว่า 268 ล้านบาทแล้ว สัตว์อีกชนิดที่ถูกรบกวนการใช้ชีวิตคือ ค้างคาว ในเขตพื้นที่โรงไฟฟ้าพลังงานลมค้างคาวลดพื้นที่หากินลงไปกว่า 77% คาดว่ามีสาเหตุจากเสียงรบกวนจากกังหันลมทำให้เกิดคลื่นความถี่รบกวน จนค้างคาวสูญเสียแห่งหากินและที่อยู่อาศัยไป

 

          ไม่เพียงกังหันลมที่นำไปสู่การเสียชีวิตของนกเป็นจำนวนมาก แม้แต่โซล่าเซลล์เองก็สามารถเป็นสาเหตุการตายของนกได้เช่นกัน มีนกจำนวนไม่น้อยที่เสียชีวิตใกล้กับแผงโซล่าเซลล์ในโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ คาดว่าเกิดจากความเข้าใจผิดในแสงสะท้อนจึงดึงดูดนกบางชนิดให้เข้ามาชนกับแผงโซล่าเซลล์ในที่สุด

 

          ประเด็นการเสียชีวิตของนกนำไปสู่การตั้งคำถามและปัญหาสำคัญในการใช้พลังงานสะอาด จริงอยู่เราจำเป็นต้องเร่งเปลี่ยนผ่านมาใช้พลังงานหมุนเวียนโดยเร็ว กระนั้นก็ไม่อาจมองข้ามอัตราเสียชีวิตของนกและสัตว์อีกหลายชนิดที่เกิดจากกังหันลมได้เช่นกัน

 

          ถือเป็นโจทย์ข้อใหญ่ของประเทศที่มีโรงไฟฟ้าพลังงานลมต้องให้คำตอบ

 

เมื่อพลังงานสะอาดกลายเป็นคุกคามชีวิตนกและค้างคาว

 

การรับมือและแก้ไขปัญหาเพื่อรักษาชีวิตนก

 

          เมื่อหลักฐานเชิงประจักษ์และตัวเลขทางสถิติยืนยันแน่ชัด รวมถึงมีผลคำตัดสินจากศาลทั้งในสหรัฐฯและฝรั่งเศส บริษัทพลังงานจึงไม่อาจละเลยการเสียชีวิตของนกและต้องเริ่มหันมารับมืออย่างจริงจัง หลายประเทศจึงเริ่มคิดค้นพัฒนาแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหานกชนกังหันลมในที่สุด

 

          แนวคิดแรกที่ได้รับการพูดถึงคือ การแก้ปัญหาของ Smøla Wind Farm ในนอร์เวย์ กับการทาสีใบพัดกังหันลมเป็นสีดำ ด้วยในระหว่างการบินนกมักมองเห็นสิ่งกีดขวางได้ยากโดยเฉพาะที่เป็นสีขาว เมื่อทาส่วนใบพัดที่เป็นปัญหาให้กลายเป็นสีดำ อัตราเสียชีวิตของนกก็ลดลงจากเดิมถึง 71.9%

 

           ลำดับต่อมาคือแนวคิดในการชะลอใบพัดกังหันลมช่วงฤดูอพยพ จากความพยายามลดจำนวนการเสียชีวิตของนกของรัฐบาลเนเธอร์แลนด์ โดยการลดรอบการหมุนจากระดับ 30 – 60 รอบ/นาที ให้เหลือเพียง 2 รอบ/นาที ในช่วงเวลาที่มีฝูงนกอพยพเพื่อลดโอกาสเสียชีวิตจากการชน

 

          อีกหนึ่งแนวคิดที่น่าพูดถึงคือ Woolnorth Renewables โรงไฟฟ้าพลังงานลมในออสเตรเลีย กับการติดตั้งระบบ AI เพื่อป้องกันไม่ให้นกชนกังหัน อาศัยเซ็นเซอร์และเรดาร์สำหรับตรวจับนกโดยเฉพาะ เมื่อมีนกบินเข้าใกล้กังหันลมในรัศมี 1 กิโลเมตร ระบบจะทำการประเมินเพื่อชะลอหรือปิดกังหันเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอันตราย โดยจากการทดลองใช้สามารถลดอัตราการเสียชีวิตของนกลงกว่า 85%

 

          นอกจากแนวทางที่กล่าวมาข้างต้นอีกหนึ่งแนวทางที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือ การพัฒนากังหันลมไร้ใบพัดจากบริษัทสตาร์ทอัพ Vortex Bladeless กับการพัฒนากังหันลมไร้ใบพัดที่มีความสูงราว 3 เมตร ที่แกว่งไปมาภายในพื้นที่จำกัดวงแคบ อาศัยแรงสั่นสะเทือนสร้างพลังงานไฟฟ้า นอกจากแก้ปัญหาเรื่องนกชนกังหันแล้ว ยังมีจุดเด่นในด้านใช้พื้นที่น้อย รวมถึงสร้างมลภาวะทางเสียงน้อยกว่ากังหันลมทั่วไป จึงเกิดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่น้อยกว่าอีกด้วย

 

 

 

          จริงอยู่แนวทางแก้ไขปัญหาที่กล่าวมาส่วนมากอยู่ในระหว่างการพัฒนา จำเป็นต้องรวบรวมข้อมูลและทดสอบการใช้งานอีกมาก จึงจะสามารถหาแก้ปัญหานกชนกังหันลมโดยยังสามารถรักษาอัตราการผลิตพลังงานเอาไว้ได้ เพื่อให้พลังงานลมยังคงเป็นคำตอบในการพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไป

 

 

 

          ที่มา

 

          https://www.sanook.com/campus/1362530/

 

          https://www.komchadluek.net/news/510699

 

          https://news.ufl.edu/2024/01/bird-deaths-from-wind-and-sun-energy-plants/

 

          https://news.ufl.edu/2024/01/bird-deaths-from-wind-and-sun-energy-plants/

 

          https://www.eurekalert.org/news-releases/1030287

 

          https://interestingengineering.com/science/painting-wind-turbines-black-can-reduce-bird-deaths-by-70

 

          https://www.bloomberg.com/news/articles/2023-04-25/dutch-windmill-blades-to-spin-slower-to-save-birds-during-migration

 

          https://reneweconomy.com.au/tasmania-wind-farm-ditches-bird-radar-for-new-technology-to-avoid-eagle-collisions/amp/

 

          https://vortexbladeless.com/