สกสว. ชูโมเดล ขอนแก่น Smart City สุดยอดเมืองแห่งการใช้ประโยชน์
สำนักงบประมาณ (สกสว.)ชู “ขอนแก่น” สุดยอดเมืองแห่งการใช้ประโยชน์ พร้อมโชว์ 8 ผลงานจากกองทุน ววน. ตอบโจทย์โครงสร้างพื้นฐาน เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ใช้ AI พัฒนาเมือง พัฒนารถไฟฟ้ารางเบา ช่วยสร้างอาชีพและส่งเสริมอาหารที่มีคุณค่าสูง
สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ร่วมกับ คณะผู้แทนสำนักงบประมาณ โชว์ความสำเร็จจาการนำกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุนส่งเสริม ววน.) พร้อมตรวจเยี่ยมชมผลงานการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ในจังหวัดขอนแก่น ซึ่งมีส่วนสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
นำโดย รศ. ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการ สกสว. ดร.สมคิด แก้วทิพย์ อนุกรรมการด้าน RU นายโกวิทย์ มีกรุณา และนางสาวนิสากร จึงเจริญธรรม ที่ปรึกษา สกสว. พร้อมด้วยคณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ โดยมีตัวอย่างนวัตกรรมและโครงการพัฒนาที่ประสบความสำเร็จ เช่น การใช้แพลตฟอร์ม AI สำหรับการพัฒนาขอนแก่น Smart City การพัฒนารถไฟฟ้ารางเบา หรือ Tram ไก่พื้นเมือง KKU1 ซึ่งเป็นพันธุ์ที่กรดยูริกต่ำ ช่วยสร้างอาชีพและส่งเสริมอาหารที่มีคุณค่าสูง
รศ. ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการ สกสว. กล่าวว่า ปีนี้นับเป็นปีแรกที่ได้มีการจัดสรรงบประมาณ โครงการการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ หรือ RU ซึ่งการลงพื้นที่ครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงรูปธรรมของการใช้ประโยชน์จากผลงานวิจัยและนวัตกรรมในรูปแบบต่าง ๆ
“ขอนแก่นเป็นหนึ่งในจังหวัดที่มีการนำงบประมาณจากกองทุนส่งเสริม ววน.มาสร้างประโยชน์ได้หลากหลายมิติ ครอบคลุมทั้งในเชิงเศรษฐกิจ สังคม การสร้างความก้าวหน้าโครงสร้างพื้นฐานด้วยเทคโนโลยี ตลอดจนการนำนวัตกรรมมายกระดับต้นทุนและบริบทของเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีผลิตภัณฑ์และบริการที่สร้างสรรค์สอดคล้องกับความต้องการของตลาด และเป็นหนึ่งในจังหวัดยุทธศาสตร์ที่พร้อมรองรับการลงทุนใหม่ ๆ ได้อีกมาก นอกจากนี้ การใช้ประโยชน์จากกองทุนส่งเสริม ววน. ยังเป็นกลไกที่ช่วยให้ภาคการบริหารท้องถิ่นมีความเข้มแข็ง ช่วยปลดล็อกความต้องการคนในพื้นที่ได้อย่างตรงจุด เช่น มิติการคมนาคม บริการสาธารณะ สิ่งแวดล้อม และยังนำไปสู่การเปิดกว้างทางผลิตภัณฑ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต” รศ. ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการ สกสว กล่าว
ด้าน ผู้แทนสำนักงบประมาณ กล่าวว่า สำนักงบประมาณมีกระบวนการพิจารณาข้อมูลที่แต่ละหน่วยงานได้ดำเนินการขอเข้ามาอย่างถี่ถ้วน โดยหากเป็นผลงานหรือโครงการวิจัยควรจะต้องได้รับการจัดสรรงบประมาณ
จากกองทุนส่งเสริม ววน. โดยตรง เพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนของการจัดสรรงบประมาณ พร้อมทั้งได้เน้นย้ำว่าแต่ละโครงการที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณวิจัยควรมีการอ้างอิงถึงกองทุนส่งเสริม ววน. ทุกครั้ง เพื่อเป็นการสื่อสาร
ถึงความสำคัญของกองทุนส่งเสริม ววน. ในการนำเงินงบประมาณมาลงทุนอย่างคุ้มค่า และสามารถส่งผลลัพธ์และผลกระทบต่อประเทศได้จริง
ทั้งนี้ คณะได้ลงพื้นที่ติดตามผลการดําเนินงานของโครงการภายใต้กองทุนส่งเสริม ววน. ซึ่งพบว่ามีกลุ่มที่มีความน่าสนใจดังนี้
- การขยายผลการถ่ายทอดองค์ความรู้การผลิตแมลงโปรตีน สำหรับเป็นอาหารสัตว์เพื่อลดต้นทุนการผลิต สร้างรายได้ในระดับชุมชน พร้อมเยี่ยมชมโรงผลิตแมลงโปรตีนอุตสาหกรรมแบบครบวงจร เพื่อให้เกิดการผลักดันและกำหนดนโยบายในการส่งเสริมเศรษฐกิจจากแมลงโปรตีนระดับประเทศ เกิดธุรกิจด้านแมลงโปรตีนเพื่อรองรับความมั่นคงทางอาหารและเกิดการลงทุนของอุตสาหกรรมอาหารขนาดใหญ่ในอนาคต โดยสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก.
- การใช้แพลตฟอร์ม AI สำหรับการพัฒนาขอนแก่น Smart City เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในจังหวัด ที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและสังคม ลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงการใช้งานเทคโนโลยี สร้างความเข้มแข็งในการสร้างองค์ความรู้ของคนไทยเพื่อคนไทย ลดค่าใช้จ่ายจากการนำเข้าและพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ โดยหน่วยบริหารจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.)
- การพัฒนาระบบการจัดทำแผนน้ำระดับจังหวัด และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม และน้ำแล้งในพื้นที่ จ.ขอนแก่น เพื่อให้เกิดการใช้ระบบภูมิสารสนเทศ สำหรับการจัดเก็บข้อมูลและจัดทำแผนปฏิบัติการด้านทรัพยากรน้ำทั้งในระดับตำบล-จังหวัด ด้วยกลไกความร่วมมือของผู้ใช้น้ำร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ที่จะนำไปสู่การยกระดับการประกอบอาชีพและสร้างรายได้แก่คนในชุมชน โดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)
- ไก่พื้นเมือง KKU1 ซึ่งเป็นไก่ที่มีกรดยูริกต่ำ เพื่อสร้างอาชีพและส่งเสริมอาหารที่มีคุณค่าสูง โดยจะช่วยสร้างรายได้แก่ครัวเรือนเพิ่มมากขึ้น เป็นทางเลือกอาชีพให้เกษตรกรสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ KKU1 ให้สูงกว่ารายได้ที่ได้รับในปัจจุบัน รวมทั้งได้มีการนำคุณสมบัติเด่นของเนื้อไก่ KKU1 คือ Low uric Low Fat และ Low Cholesterol มาพัฒนาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์พร้อมรับประทานที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้ไก่ KKU1 และเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพของผู้บริโภค ซึ่งหวังให้เกิดการขยายตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยมหาวิทยาลัยขอนแก่น
- การถ่ายโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น กรณีศึกษา รพ.สต. บ้านโนนม่วง อ.เมือง จ.ขอนแก่น ที่นำผลงานวิจัยมาช่วยให้การถ่ายโอนมีประสิทธิภาพ การบริหารจัดการมีความสะดวกมากขึ้น และประชาชนได้รับการบริการจากระบบสุขภาพปฐมภูมิอย่างทั่วถึง โดยสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.)
- การพัฒนารถไฟฟ้ารางเบา (Tram) โดยใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตภายในประเทศ พร้อมต่อยอดสู่การผลิตในระดับอุตสาหกรรม ที่จะช่วยลดต้นทุนการนำเข้าขบวนรถไฟฟ้ารางเบาได้มากกว่า 40% และยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยในอุตสาหกรรมระบบราง โดยหน่วยบริหารจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) หน่วยบริหารและจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรมด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น
- การบริหารจัดการน้ำแล้ง น้ำหลาก บนพื้นที่สูงลอนคลื่น ชุมชนบ้านป่าภูถ้ำ ภูกระแต อ.แวงน้อย จ.ขอนแก่น ที่ช่วยให้พื้นที่มีปริมาณน้ำต้นทุนเพิ่มขึ้น 800,000 ลบ.ม. เกิดความมั่นคงน้ำอุปโภค-บริโภค และน้ำเพื่อการเกษตร และมีน้ำสำรองไว้ใช้ได้ถึง 5 ปี รวมทั้งช่วยรักษาพื้นป่าให้คงความอุดมสมบูรณ์กว่า 2 พันไร่ ช่วยให้รายจ่ายครัวเรือนลดลงเฉลี่ยกว่า 4 แสนบาทต่อปี โดยสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) หรือ สสน.
- โมเดลนำร่องในการขับเคลื่อนงานวิจัย เพื่อสร้างผลกระทบขนาดใหญ่ในการพัฒนาเชิงพื้นที่แบบองค์รวม พื้นที่ดำเนินการ CIGUS Model ต.บ้านโต้น และ ต.หนองแวง อ.พระยืน จ.ขอนแก่น ในการยกระดับการใช้ประโยชน์จากงานวิจัยและนวัตกรรมในระดับตำบล โดยมีมหาวิทยาลัยหรือหน่วยงานขับเคลื่อนงานในระดับท้องถิ่น ให้เกิดเป็นแผนงานที่มีประสิทธิภาพและตอบสนองต่อความต้องการของพื้นที่ สู่เป้าหมายการดำเนินงานทั้ง 5 มิติ คือ มิติรายได้ มิติสังคม มิติสุขภาพ มิติสิ่งแวดล้อม และมิติการศึกษา โดยมหาวิทยาลัยขอนแก่น