posttoday

เปิดเหตุผล "ประเสริฐ" ลาออก สส.มุ่ง 3 งานดีอีเร่งด่วน ปั้นรัฐบาลดิจิทัล

10 มกราคม 2567

รมว.ดีอี "ประเสริฐ จันทรรวงทอง" เปิดเหตุผลลาออก สส.บัญชีรายชื่อ หวังเดินหน้าขับเคลื่อนนโยบายดิจิทัลประเทศ 3 งานเร่งด่วน คลาวด์ เฟิร์ส -One Citizen ID และ รัฐบาลดิจิทัล

นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยว่า สาเหตุของการลาออกจากสส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย เพราะต้องการมุ่งมั่นทำงานกระทรวงดีอี ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี โดยเฉพาะ นโยบาย คลาว์ด เฟิร์ส และต้องการขับเคลื่อนประเทศสู่ดิจิทัลทุกมิติ หลังจากมาทำงานที่กระทรวงดีอีแล้วพบว่าเป็นกระทรวงที่สำคัญ มีความท้าทาย จึงต้องใช้เวลาทุ่มเทอย่างมาก ทำให้บางครั้งไม่สามารถเข้าร่วมประชุมในสภาได้ เรื่องนี้คิดมานานแล้วตั้งแต่เข้ารับตำแหน่ง และเห็นว่าควรเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่เข้ามาทำหน้าที่ สส.แทน ส่วนตนเองจะได้ทุ่มเทงานขับเคลื่อนดิจิทัลของประเทศได้อย่างเต็มที่

สำหรับกระทรวงดีอี มีภาระงานหลายเรื่องที่จะต้องเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหา พร้อมไปกับการยกระดับความสามารถด้านดิจิทัลของประเทศในด้านต่างๆ ซึ่งเป็นภารกิจที่สำคัญอย่างยิ่ง และจะต้องอาศัยการทำงานเชิงรุกอย่างมาก แม้ขณะนี้หลายโครงการได้ริเริ่มดำเนินการแล้ว แต่ก็ยังต้องติดตามสานต่อโดยละเอียดเพื่อให้เป็นผลสำเร็จโดยเร็ว ดังนั้นจึงต้องการที่จะใช้ทุกสรรพกำลังผลักดันงานด้านดิจิทัลให้เกิดประโยชน์กับประชาชนกับประเทศโดยเร็วที่สุด  

นายประเสริฐ กล่าวว่า หลังจากลาออกจากตำแหน่งสส.บัญชีรายชื่อแล้ว ตนจะมุ่งพลิกโฉมกระทรวงดีอีด้วยดิจิทัลและคลาวด์ผ่าน 3 นโยบายหลักได้แก่ 1. การเปลี่ยนรัฐบาลดิจิทัลโดยสมบูรณ์ 2.โครงการคลาวด์กลางภาครัฐ และทิศทางความพร้อมก้าวสู่ คลาวด์เฟิร์ส  และ 3. One Citizen ID ซึ่งเป็นการต่อยอดการบูรณาการจากดิจิทัล ไอดี ที่มีอยู่ 4 แอปพลิเคชัน เช่น ThaiD หมอพร้อม เป๋าตัง และ NDID โดยจะมีการประชุมร่วมกันในคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่าจะเลือกใช้การยืนยันตัวบุคคลด้วยดิจิทัลของหน่วยงานใด เพราะปัจจุบันมีการแยกการเก็บข้อมูลของแต่ละหน่วยงาน ดังนั้น สิ่งที่ดีอีจะทำคือซูเปอร์แอปในการรวมบริการภาครัฐไม่เกิน 300 บริการไว้ในแอปเดียว 

กระทรวงดีอีให้ความสำคัญการเตรียมความพร้อมให้ประเทศไทยให้สามารถรับมือความเปลี่ยนแปลงจากเทคโนโลยีหลากหลายที่ปฏิวัติทุกมิติของสังคมและเศรษฐกิจซึ่งมีความซับซ้อนมากขึ้น ด้วยการเดินหน้าวางรากฐานรัฐบาลดิจิทัลที่มั่นคงและต่อเนื่อง ซึ่งเมื่อผมได้ทำหน้าที่รัฐมนตรีเพียงอย่างเดียว ก็ขอให้คำมั่นว่าจะพยายามทำให้ดีที่สุด และพี่น้องประชาชนจะเห็นการเปลี่ยนแปลงภายใต้การบริหารงานจากดีอี

สำหรับนโยบาย คลาวด์เฟิร์ส จะช่วยยกระดับความสามารถของบริการคลาวด์กลางภาครัฐก้าวไปอีกขั้นเพื่อตอบสนองแนวโน้มการใช้งานด้านข้อมูลและการพัฒนานวัตกรรมของภาครัฐที่มีความต้องการเพิ่มมากขึ้น  ขณะนี้นายกฯมีนโยบายให้ทุกหน่วยงานหยุดการจัดซื้อจัดจ้างคลาวด์ และให้หันมาใช้บริการของดีอีแทน ซึ่งคลาวด์ที่ดีอีให้บริการจะไม่ได้เป็นเพียงเซิร์ฟเวอร์ในการเก็บข้อมูลเท่านั้น แต่จะมีบริการด้านซอฟต์แวร์และแพลตฟอร์มที่หลากหลาย รองรับภาครัฐที่จะสร้างสรรค์นวัตกรรมบริการต่าง ๆ ให้เข้าถึงประชาชนอย่างสะดวกรวดเร็ว  รวมถึงการพัฒนานวัตกรรมด้านปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) และส่งเสริมการใช้เอไออย่างปลอดภัย  ซึ่งเชื่อว่าจะเพิ่มประสิทธิภาพให้กับบริการของภาครัฐและเพิ่มโอกาสให้คนไทยเข้าถึงทักษะด้านดิจิทัลมากขึ้น 

ด้านนายภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) เปิดเผยว่า  จากที่รัฐบาลมีนโยบาย คลาว์ด เฟิร์ส  หรือนโยบายการใช้คลาวด์เป็นหลัก โดยมีเป้าหมายให้ทางหน่วยงานรัฐ มาใช้ระบบคลาวด์กลางภาครัฐ (จีดีซีซี) เพื่อให้ข้อมูลภาครัฐมีความปลอดภัย และ ช่วยลดงบประมาณที่ซ้ำซ้อนลง ซึ่ง สดช.ได้สำรวจพบว่า หน่วยงานรัฐ มีปริมาณความต้องการมากกว่า 100,000 วีเอ็ม หรือ ระบบเสมือนเซิร์ฟเวอร์ แต่ปัจจุบันระบบสามารถรองรับการให้บริการได้แค่ 30,000 วีเอ็ม และมีหน่วยงานรัฐแจ้งความต้องการใช้งานเข้ามาอย่างเป็นทางการแล้วประมาณ 60,000 วีเอ็ม

ตามมติครม.ได้อนุมัติงบประมาณ จำนวน 2,200  ล้านบาท แต่สำนักงบประมาณอนุมัติงบให้เพียง 1,100 ล้านบาท จึงได้ทำเรื่องของบเพิ่มเติมและได้อนุมัติเพิ่มมาอีกประมาณ 300 ล้านบาท ซึ่งก็ยังไม่ถึง 2,200 ล้านบาท ตามแผนที่วางไว้  จึงต้องจัดหางบประมาณเพิ่มเติมสำหรับปี 2567 ซึ่งอาจจะขอสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนดีอี เพิ่มเติมอีกประมาณ 700-800 ล้านบาท เพื่อให้สามารถบริการหน่วยงานรัฐได้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ และคาดว่าในปี 2568 จะได้รับการจัดสรร งบประมาณเพิ่มขึ้น

นโยบายดังกล่าว จะช่วยให้หน่วยงานต่างๆ มีระบบซีเคียวริตี้ที่ดีขึ้น และลดโอกาสเสี่ยงในการจะถูกแฮกข้อมูลสำคัญๆ ลดลง ซึ่งจากการประชุมคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (บอร์ดดีอี) ได้เห็นชอบแนวทางการ ขับเคลื่อนตามนโยบายการใช้คลาวด์เป็นหลัก ทั้งในส่วนของข้อกำหนด หน่วยงานรัฐผู้รับบริการ และแนวทางปฏิบัติข้อมูล (ดาต้า) มาตรฐานประเภทของบริการคลาวด์ ผู้ให้บริการคลาวด์ และการบริหารจัดการบริการ ซึ่งได้กำหนดแนวทางการดำเนินงานด้านบริการคลาวด์ (คลาว์ด เซอร์วิส) ในระยะ 5 ปี

นอกจากนี้ยังเห็นชอบให้จัดตั้ง คณะกรรมการเฉพาะด้านการขับเคลื่อนตามนโยบายการใช้คลาวด์เป็นหลัก เพื่อกำกับ ติดตาม และให้ข้อแนะนำในการขับเคลื่อนการดำเนินงาน โดยได้มอบหมายให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจ และสังคม(ดีอี) ประสานงาน ในการส่งเสริมและขับเคลื่อนการดำเนินงานตามนโยบายดังกล่าวต่อไป