โครงสร้างราคาน้ำมันของไทยและปัจจัยสำคัญที่ราคาสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน
อะไรคือปัจจัยสำคัญที่ทำให้ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงของประเทศไทยสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้านอย่าง สิงคโปร์และมาเลเซีย ต้นทุน ภาษี กองทุนน้ำมัน ค่าการตลาด ทั้งหมดนี้สัมพันธ์กันอย่างไร?
เนื่องจากรัฐบาลไทยมีนโยบายยกเลิกการกำหนดราคาน้ำมันเชื้อเพลิงมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2534 ทำให้ราคา ณ โรงกลั่นและราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงของประเทศไทยขึ้นอยู่กับการตกลงซื้อขายของผู้ค้าน้ำมันเชื้อเพลิงที่อ้างอิงตามกลไกการแข่งขันตลาดเสรี ตัวเลขราคา ณ โรงกลั่นตามโครงสร้างราคาน้ำมันเชื้อเพลิงจึงเป็นเพียงการคำนวณตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) กำหนด และเผยแพร่ให้สาธารณะชนได้อ้างอิงเท่านั้น มิใช่ราคาซื้อขายที่ผู้ประกอบการน้ำมันเชื้อเพลิงใช้ซื้อขายจริงตามท้องตลาด ส่วนองค์ประกอบน้ำมันเชื้อเพลิงที่ภาครัฐสามารถกำหนดได้ คือ ภาษีต่างๆภายใต้กระทรวงการคลัง และกองทุนน้ำมันต่างๆภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงพลังงาน หากอ้างอิงจากโครงสร้างราคาน้ำมัน ราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงมีองค์ประกอบทั้งหมด 4 ส่วน คือ 1.) ราคา ณ โรงกลั่น (ต้นทุนเนื้อน้ำมันสำเร็จรูป) 2.) ภาษี 3.) กองทุน และ 4.) ค่าการตลาด (ต้นทุนธุรกิจค้าปลีกน้ำมัน) ส่วนปัจจัยสำคัญที่ราคาน้ำมันไทยสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน มีดังนี้
1.) ต้นทุนเนื้อน้ำมัน (ราคา ณ โรงกลั่น)
ราคาน้ำมันของประเทศไทยมาเลเซีย หรือประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะอ้างอิงจากตลาดน้ำมันสิงคโปร์ทั้งหมด แต่ต้นทุนค่าขนส่งน้ำมันของประเทศไทยหรือของมาเลเซียนั้นแตกต่างกัน โดยคิดจากระยะทางจากตลาดสิงคโปร์ ซึ่งทำให้ต้นทุนเนื้อน้ำมันของประเทศไทยมีค่าขนส่งที่สูงกว่ามาเลเซียเพราะอยู่ใกล้กับตลาดสิงคโปร์มากกว่า ส่วนสาเหตุที่เราอ้างอิงราคาน้ำมันจากตลาดสิงคโปร์นั้น เนื่องจากไทยไม่มีแหล่งทรัพยากรในประเทศที่เพียงพอต่อความต้องการในประเทศ เพราะไทยเป็นประเทศที่นำเข้าน้ำมันดิบเป็นหลักและมีกำลังผลิตเพื่อบริโภคภายในประเทศน้อยมาก ทำให้ต้นทุนน้ำมันสำเร็จรูปของไทยขึ้นอยู่กับราคาตลาดโลก ส่วนสาเหตุที่ไทยเลือกอ้างอิงราคาน้ำมันตลาดสิงคโปร์ เพราะสิงคโปร์เป็นตลาดกลางซื้อขายน้ำมันของทวีปเอเชีย ประเทศสิงคโปร์มีกำลังการกลั่นเพื่อการส่งออกน้ำมันมากที่สุดในภูมิภาคเอเชีย ราคาตลาดกลางสิงคโปร์จึงเป็นไปตามกลไกตลาดการค้าเสรีและจะเปลี่ยนแปลงตามอุปสงค์-อุปทานตลาดน้ำมันโลก เนื่องจากสิงคโปร์เป็นตลาดที่อยู่ใกล้ประเทศไทยมากที่สุด ค่าขนส่งน้ำมันจึงเป็นค่าใช้จ่ายหลักที่เกิดขึ้นจริง และเป็นค่าขนส่งน้ำมันดิบส่วนเพิ่มจากสถานที่ตั้งของประเทศไทย ทำให้โรงกลั่นไทยมีค่าใช้จ่ายขนส่งน้ำมันดิบที่สูงกว่าโรงกลั่นของประเทศสิงคโปร์
อีกปัจจัยที่มีผลให้ราคาน้ำมันไทยสูงกว่าเพื่อนบ้าน คือ ต้นทุนคุณภาพน้ำมันของไทย (ยูโร 4) สูงกว่าหลายประเทศในภูมิภาคเดียวกัน ด้วยคุณภาพน้ำมันของไทยที่สูงกว่าบางประเทศเพื่อนบ้านทำให้มีราคาที่สูงกว่า ส่วนทางด้านเชื้อเพลิงชีวภาพ (ไบโอดีเซล และเอทานอล) ที่เป็นส่วนผสมของน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95, E20, E85, Gasohol91 และน้ำมันดีเซล B7, B10, B20 ตามนโยบายสนับสนุนพลังงานทดแทนในประเทศไทยที่มีราคาต้นทุนสูงกว่า ทำให้ต้นทุนเนื้อน้ำมันสูงกว่าน้ำมันของประเทศมาเลเซีย เป็นต้น
2.) ด้านภาษี และ 3.) ด้านกองทุนน้ำมัน
โครงสร้างราคาน้ำมันของไทยมีการเก็บภาษี (เช่น ภาษีสรรพสามิต, ภาษีมูลค่าเพิ่ม, ภาษีเทศบาลหรือภาษีบำรุงท้องถิ่น) และเงินกองทุน (อาทิ กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง, กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน) ทำให้ราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศไทยสูงขึ้นจากต้นทุนเนื้อน้ำมัน บางประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศผู้ผลิตและส่งออกน้ำมัน เช่น มาเลเซียไม่มีการจัดเก็บภาษีและกองทุน เนื่องจากมาเลเซียมีรายได้จากการผลิตและส่งออกน้ำมันซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในรายได้หลักของประเทศมาเลเซีย มาเลเซียจึงไม่ต้องพึ่งพางบประมาณการจัดเก็บภาษีน้ำมัน หากเปรียบเทียบกับไทย ประเทศไทยเป็นประเทศผู้นำเข้าน้ำมันสุทธิซึ่งจำเป็นต้องจัดเก็บภาษีน้ำมันเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของงบประมาณในการบริหารประเทศ เพราะน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นค่าใช้จ่ายหลักของประเทศไทย อย่างไรก็ตาม หากเปรียบเทียบราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงของประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนก็พบว่า ประเทศไทยไม่ได้มีราคาปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงสูงหรือต่ำมากเกินไป
4.) ค่าการตลาด (Marketing Margin)
ค่าการตลาด คือ กำไรขั้นต้นของผู้ประกอบการสถานีบริการน้ำมันที่ยังไม่ได้หักค่าใช้จ่ายต่างๆอาทิ เช่น ค่าดำเนินการ ค่าขนส่งน้ำมันจากคลังมาหน้าสถานีบริการ ค่าพนักงานให้บริการ ค่าน้ำค่าไฟ ค่าใช้จ่ายอื่นๆทั่วไป เช่น ค่าสาธารณูปโภคต่างๆ ค่าเช่าที่ดิน รวมไปถึงค่าการตลาดของผู้ให้บริการแต่ละราย ค่าการตลาดจึงมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ตามต้นทุนเนื้อน้ำมันและราคาน้ำมันในตลาดโลก หากมองในมุมมองการประกอบธุรกิจแล้วนั้น ค่าการตลาดที่เหมาะสมของผู้ประกอบการสถานีบริการน้ำมัน ควรมีผลตอบแทนหรือกำไรขั้นต้นเพื่อให้ครอบคลุมการลงทุน และเพื่อเพิ่มแรงจูงใจในการลงทุนของผู้ประกอบการสถานีบริการน้ำมัน สำหรับแนวทางการพิจารณาค่าการตลาดอ้างอิงของสำนักนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) จะพิจารณาในภาพรวมของน้ำมันทุกชนิดเพราะสถานีบริการน้ำมันไม่ได้จำหน่ายน้ำมันเพียงชนิดเดียว ทั้งน้ำมันดีเซลและเบนซินก็มีหลายสูตรหลายส่วนผสมให้ทางลูกค้าเลือกบริโภค และไม่ควรเปรียบเทียบค่าการตลาดเป็นรายวันเนื่องจากราคาเนื้อน้ำมันมีการเปลี่ยนแปลงขึ้นลงทุกวันตามราคาตลาดโลก แต่อย่างไรก็ตาม ค่าเฉลี่ยการตลาดก็ต้องอยู่ในกรอบที่ภาครัฐติดตามดูแล
ดร.ณัทกฤช อภิภูชยะกุล
ที่ปรึกษาประจำคณะกรรมาธิการการพลังงาน