posttoday

“สิริวัฒนภักดี” ปักหมุดทำเลทอง ”ถนนพระราม 4” ปั้น Smart Building

17 มีนาคม 2566

สำรวจ 9 โครงการมิกซ์-ยูส ชูจุดเด่น Smart Building ที่มูลค่ารวมเฉียด 3 แสนล้านบาท บนทำเลทองถนนพระราม 4 ที่ตระกูล “สิริวัฒนภักดี” กวาดปักหมุดเกือบทั้งเส้น

ทำเล “โซนพระราม 4” เรียกได้ว่าเป็น “ทำเลทอง” ของกรุงเทพฯ เพราะเชื่อมต่อกับโซนสำคัญๆ สามารถเดินทางได้สะดวก ส่งผลให้เกิดการลงทุนในโครงกาอสังหาริมทรัพย์ต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย โดยเฉพาะโครงการมิกซ์ยูส ซึ่งปัจจุบันมีโครงการที่เป็น Smart Building และเป็นที่น่าจับตามองจำนวน 9 อาคาร โดยมีมูลค่าโครงการรวมกันมากกว่า 232,700 ล้านบาท ซึ่งมีจำนวน 6 อาคารเป็นการพัฒนาโครงการโดยกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ภายใต้ “ทีซีซี กรุ๊ป” อาณาจักรธุรกิจของ “เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี” ซึ่งต้องการปลุกปั้นให้เป็น “New CBD” หรือ “ย่านการค้าแห่งใหม่” ของกรุงเทพฯ

สำหรับ “โครงการมิกซ์-ยูส” ที่อยู่บนถนนพระราม 4 เป็นโครงการที่พัฒนาบนที่ดินเช่าระยะยาวทั้งหมด อาจจะมีบางโครงการที่พัฒนาโดยเจ้าของที่ดินเอง เช่น จามจุรี สแควร์ของสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่โครงการที่เป็นโครงการของเอกชนรายอื่น ๆ พัฒนาบนที่ดินเช่าระยะยาวจากเจ้าของที่ดินรายใหญ่ในพื้นที่ตามแนวถนนพระราม 4 คือ สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ อาจจะมีอาคารสำนักงานบางโครงการที่พัฒนาบนที่ดินของเอกชน 

ที่ดินในพื้นที่ตามแนวถนนพระราม 4 โดยเฉพาะพื้นที่ทางตอนเหนือของถนนพระราม 4 และบางส่วนของพื้นที่ทางตอนใต้ของถนนด้วยที่เป็นกรรมสิทธิ์ของสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ รวมไปถึงหน่วยงานราชการอื่นๆ ซึ่งเป็นข้อจำกัดในการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ ยกเว้นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินมีการเปิดให้เอกชนเข้ามาพัฒนาบนที่ดิน 

และจากข้อมูลของ บริษัท พร็อพเพอร์ตี้ ดีเอ็นเอ จำกัด โดย สุรเชษฐ กองชีพ กรรมการผู้จัดการ ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดินในทำเลพระราม 4 ว่า ด้วยข้อจำกัดในเรื่องของกรรมสิทธิ์ที่ดินที่เป็นสัญญาเช่าระยะยาว และขนาดของที่ดินที่มีขนาดใหญ่มาก ผู้ประกอบการที่ได้สิทธิ์ในการพัฒนาบนที่ดินนั้นๆ จึงจำเป็นต้องพัฒนาโครงการที่มีการใช้ประโยชน์บนที่ดินที่หลากหลาย

เพื่อให้สอดคล้องกับการลงทุนบนที่ดินนั้นๆ โครงการมิกซ์-ยูสที่มีส่วนของพื้นที่สำนักงาน โรงแรม พื้นที่ค้าปลีก ที่อยู่อาศัยทั้งแบบเช่ารายเดือน รายปี และแบบเช่าระยะยาว 30 ปี จึงตอบโจทย์ทั้งในเรื่องของข้อจำกัดในการพัฒนา และข้อจำกัดในเรื่องอื่นๆ

สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่าง คือ โครงการมิกซ์-ยูสส่วนใหญ่ที่เปิดให้บริการแล้วและที่อยู่ในระหว่างการก่อสร้างในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาบนถนนพระราม 4 เป็นโครงการที่ดำเนินการพัฒนาโดยบริษัทที่อยู่ในเครือหรือกลุ่มทีซีซีมากถึง 76% ของมูลค่าการลงทุนโครงการทั้งหมดที่อยู่บนถนนพระราม  4 หรือต่อเนื่องกับถนนพระราม 4 ซึ่งมีมูลค่ารวมทั้งหมดประมาณ 2.3 แสนล้านบาท แม้ว่าบางโครงการอาจจะเริ่มการพัฒนาโดยบริษัทอื่นๆ แล้วบริษัทในกลุ่มทีซีซีไปเทกโอเวอร์หรือซื้อหุ้นส่วนใหญ่ของบริษัทนั้นๆ มาภายหลังก็ตาม 

แต่ก็ยังมีโครงการที่พัฒนาโดยกลุ่มเซ็นทรัลที่เป็นผู้เล่นรายใหญ่ในตลาดอสังหาริมทรัพย์ของประเทศไทยซึ่งร่วมทุนกับทางกลุ่มดุสิตธานี แม้ว่ามูลค่าของโครงการจะมากถึง 46,000 ล้านบาท แต่ก็ยังน้อยกว่ามูลค่ารวมของกลุ่มทีซีซี ดังนั้น พื้นที่ตามแนวถนนพระราม 4 เป็นพื้นที่สำคัญของกลุ่มทีซีซีที่มีกลุ่มเซ็นทรัลเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาพื้นที่นี้ด้วย 

นอกจากนี้ พื้นที่ใกล้เคียงกับถนนพระราม 4 เช่น พื้นที่ตามแนวถนนบรรทัดทอง ที่เป็นที่ดินกรรมสิทธิ์ของสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็มีการพัฒนาต่อเนื่องทั้งให้เอกชนเข้าไปพัฒนาหรือทางสำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาฯ ดำเนินการเอง ทั้งโครงการเชิงพาณิชยกรรม  และโครงการที่อยู่อาศัยรวมไปถึงโครงการที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ 

แต่พื้นที่ของสำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาฯ มีสวนสาธารณะขนาดใหญ่ซึ่งเป็นที่ต้องการและเป็นจุดขายเพิ่มเติมให้กับพื้นที่ตามแนวถนนพระราม 4 แต่พื้นที่ขนาดใหญ่ที่เป็นที่สนใจและจับตามองมาหลายปีแล้วคือ ที่ดินของการท่าเรือแห่งประเทศไทยที่มีข่าวมาโดยตลอดว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์เป็นโครงการมิกซ์-ยูสขนาดใหญ่ เพียงแต่การดำเนินการหรือขั้นตอนต่างๆ อาจจะยังไม่มีความคืบหน้ามากนัก 

ทั้งนี้จากการเปลี่ยนสีผังเมืองในร่างผังเมืองกรุงเทพมหานครล่าสุดจากสีน้ำเงินเป็นสีแดงก็ค่อนข้างชัดเจนว่ามีความเป็นไปได้ที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นในพื้นที่ของท่าเรือคลองเตย ตลาดคลองเตย และชุมชนคลองเตยทั้งหมดบนที่ดินที่เป็นกรรมสิทธิ์ของการท่าเรือแห่งประเทศไทย แต่แม้ว่าโครงการบนที่ดินของการท่าเรือฯ อาจจะยังไม่เกิดขึ้นในเร็ววันนี้ โครงการต่างๆ ที่มีอยู่บนถนนพระราม 4 ทุกวันนี้ก็เพียงพอที่จะผลักดันในทำเลนี้กลายเป็นทำเลที่มีศักยภาพสูงสุดแห่งหนึ่งของประเทศไทยแล้ว 

สำหรับราคาที่ดินตลอดแนวถนนพระราม 4 อาจจะแตกต่างกันออกไป ถ้าเป็นที่ดินที่อยู่ในช่วงหัวลำโพงถึงคลองเตยก็มีความเป็นไปได้ที่จะอยู่ในช่วง 1.5 – 2.5 ล้านบาทต่อตารางวา แต่พื้นที่ในบริเวณนี้หาที่ดินของเอกชนเพื่อซื้อ-ขายกันได้ยาก ดังนั้น ราคาจึงค่อนข้างผันแปรตามความต้องการของผู้ซื้อและผู้ขาย  โครงการอสังหาริมทรัพย์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่มีเพียงโครงการมิกซ์-ยูสที่พัฒนาบนที่ดินที่เป็นสิทธิการเช่าระยะยาว และโครงการคอนโดมิเนียมที่สามารถพัฒนาได้บนที่ดินที่มีราคาแพง

สำรวจ 9 โครงการมิกซ์-ยูส น่าจับตาบนถนนพระราม 4

 

“สิริวัฒนภักดี” ปักหมุดทำเลทอง ”ถนนพระราม 4” ปั้น Smart Building

 
1.โครงการ สามย่าน มิตรทาวน์ พัฒนาโดย บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เป็นอาคารสำนักงาน, โรงแรม, ค้าปลีก, ที่อยู่อาศัย มูลค่า ประมาณ 9,000 ล้านบาท ก่อสร้างแล้วเสร็จ ปี 2562 ซึ่งมีจุดเด่นและความได้เปรียบของโครงการ “6 MITR Factors “ ประกอบไปด้วย MITR DIRECT LINK บนทำเลที่ตั้งอยู่ติดกับสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินสามย่าน ซึ่งสามย่าน มิตรทาวน์ได้ใช้งบประมาณกว่า 300 ล้านบาท MITR MIXED USE COMPLEX ด้วยขนาดพื้นที่รวม 222,000 ตารางเมตร 

MITR MODERN GRADE A OFFICE โซนอาคารสำนักงาน “มิตรทาวน์ ออฟฟิศ ทาวเวอร์” อาคารสำนักงานเกรด A สูง 31 ชั้นพื้นที่เช่ารวม 48,000 ตารางเมตรหรือคิดเป็น 30% ของโครงการ 4. MITR NEO-EXPLORER CONDOMINIUM มีความสูง 33 ชั้น คิดเป็น 15% ของโครงการ 5. MITR UPSCALE DESIGN HOTEL โซนโรงแรมสไตล์ ดีไซน์ โฮเทล “ทริปเปิ้ล วาย โฮเทล” จำนวน 102 ห้อง และ6. MITR MEANINGFUL RETAIL SPACE โซนรีเทล ศูนย์การค้าสามย่านมิตรทาวน์ สูง 6 ชั้น มีพื้นที่ให้เช่ากว่า 36,000 ตารางเมตรหรือคิดเป็น 30% ของโครงการ 

 

“สิริวัฒนภักดี” ปักหมุดทำเลทอง ”ถนนพระราม 4” ปั้น Smart Building

 

2.โครงการ วัน แบงค็อก พัฒนาโดยบริษัท เกษมทรัพย์วัฒน จำกัด ในเครือทีซีซี และ บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ โฮลดิ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นอาคารสำนักงาน, โรงแรม, ค้าปลีก, ศูนย์แสดงสินค้า, ที่อยู่อาศัย    มูลค่า 125,000 ล้านบาท โดยโครงการคาว่าจะแล้วเสร็จบางส่วนในปี 2566

โครงการ วัน แบงค็อก มี  Command Centre หรือศูนย์ควบคุมการสั่งการ ที่มีการใช้แพลทฟอร์มอัจฉริยะต่างๆ ที่ล้ำหน้าที่สุดด้านการบริหารจัดการอาคาร ด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าเกี่ยวกับระบบการเก็บรวบรวมข้อมูล การวิเคราะห์ และความรู้เชิงปฏิบัติการสำหรับการติดตามผลการตรวจสอบอาคารและสิ่งอำนวยความสะดวกในโครงการแบบเรียลไทม์ โดยเทคโนโลยีที่ใช้สำหรับ วัน แบงค็อก  จะสามารถตรวจจับบันทึกข้อมูลด้านการปฏิบัติการของอุปกรณ์และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ผ่านระบบเซ็นเซอร์และระบบต่างๆ มากมาย 

อาทิ ระบบบริหารจัดการและควบคุมอาคารอัตโนมัติ และระบบรักษาความปลอดภัยในจุดต่างๆ ที่มีความเปราะบาง ครอบคลุมการตรวจวัดอุณหภูมิ ความชื้นสัมพัทธ์ แสงสว่าง แรงสั่นสะเทือน และการตรวจจับกรณีเกิดน้ำท่วม เป็นต้น การมีศูนย์รวมการจัดเก็บข้อมูล ช่วยให้ทีมงานบริหารจัดการอาคารสามารถระบุแนวโน้มและความผิดปกติต่างๆ ติดตามตรวจสอบและปรับปรุงบริการต่างๆ ด้านอาคาร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ความมั่นคงปลอดภัย และความโปร่งใสในการปฏิบัติการและการบำรุงรักษา รวมถึงช่วยลดต้นทุนและประหยัดพลังงานอีกด้วย

 

“สิริวัฒนภักดี” ปักหมุดทำเลทอง ”ถนนพระราม 4” ปั้น Smart Building

 

3.โครงการ เดอะปาร์ค พัฒนาโดย บริษัท ทีซีซี แอสเซ็ทส์ (ประเทศไทย) จำกัด เป็น อาคารสำนักงาน, โรงแรม, ค้าปลีก (มีเพิ่มเติมในอนาคต) มูลค่า 20,000 ล้านลาท แล้วเสร็จในปี 2563 เป็นโครงการมิกซ์ยูสแห่งแรกในประเทศไทยที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน Pre-WELL Certification และมุ่งสู่การเป็นโครงการแห่งแรกของไทยที่จะได้รับมาตรฐานทั้ง WELL และ LEED Gold v4 ควบคู่กัน 

โครงการ เดอะ ปาร์ค แบ่งเป็น ‘The PARQ Workplace’ พื้นที่สำนักงานเกรดเอ ที่มีพื้นที่ให้เช่าที่ใหญ่ที่สุดในกรุงเทพฯ ด้วยขนาดถึง 60,000 ตารางเมตรและปราศจากเสาภายใน และ ‘The PARQ Life’ พื้นที่ร้านค้าปลีกระดับพรีเมียม พร้อมด้วยอาหารสุขภาพหลากหลาย ร้านค้าที่ดำเนินธุรกิจอย่างรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนบริการด้านสุขภาพและความงามที่ครบครัน โครงการนี้ยังผสมผสานสถาปัตยกรรมล้ำสมัย 

การออกแบบที่ยั่งยืน และบริการสมาร์ทเซอร์วิสแบบครบวงจรเข้าไว้ด้วยกัน ภายใต้วิสัยทัศน์ "Life Well Balanced" มุ่งสรรสร้างพื้นที่มิกซ์ยูสที่ยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนและปฏิวัติรูปแบบของการทำงานและการใช้ชีวิตในเมือง เดอะ ปาร์ค เป็นโครงการที่พัฒนาโดยบริษัท ทีซีซี แอสเซ็ทส์ (ประเทศไทย) จำกัด และบริหารโดย บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ โฮลดิ้งส์ (ประเทศไทย) ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเดอะ ปาร์ค สามารถเยี่ยมชมได้ที่ www.theparq.com

* LEED: Leadership in Energy and Environmental Design หรือ LEED เป็นระบบการจัดเรตติ้งที่คิดขึ้นโดยสภาการก่อสร้างอาคารสีเขียวแห่งสหรัฐอเมริกา (United States Green Building Council – USGBC) เพื่อประเมินผลงานด้านสิ่งแวดล้อมของอาคาร และส่งเสริมวงการให้เปลี่ยนผ่านไปสู่การออกแบบที่ยั่งยืน

* WELL: มาตรฐานอาคาร WELL เป็นมาตรฐานระดับสูงสุดที่ใช้กับอาคาร การออกแบบพื้นที่ภายในและชุมชน มุ่งเน้นให้เกิดการออกแบบส่วนประกอบเพื่อการใช้งาน สร้างให้เกิดความสมบูรณ์ และการวัดผลที่สนับสนุนและพัฒนาสุขภาพและสวัสดิภาพของมนุษย์ กำหนดมาตรฐานโดยสถาบัน International WELL Building Institute ซึ่งตั้งอยู่ที่วอชิงตัน ดีซี

 

“สิริวัฒนภักดี” ปักหมุดทำเลทอง ”ถนนพระราม 4” ปั้น Smart Building

 

4.ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ พัฒนาโดย บริษัท ทีซีซี แอสเซ็ทส์ (ประเทศไทย) จำกัด พัฒนาเป็นศูนย์ประชุม, ศูนย์แสดงสินค้า, โรงแรม (อนาคต) มูลค่า 15,000 ล้านบาท แล้วเสร็จในปี 2565 ด้วย 5 ไฮไลต์ 5 ในการสร้างความแตกต่างและความเป็นสุดยอดศูนย์ประชุมที่ดีที่สุดในประเทศไทย กับเป้าหมายของศูนย์ฯสิริกิติ์สู่การเป็น “The Ultimate Inspiring World Class Event Platform for All”

ไฮไลต์แรกคือ 1.Accessibility การเข้าถึงอย่างสะดวกสบาย เนื่องจากตั้งอยู่ในทำเลใจกลางเมืองบนถนนรัชดาภิเษก เชื่อมต่อแยกพระราม 4-รัชดา สามารถเข้าออกได้จาก 4 ถนนสำคัญของกรุงเทพฯ ได้แก่ ถ.พระราม 4 ถ.สุขุมวิท ถ.รัชดาภิเษก และ ถ.ดวงพิทักษ์ นอกจากนี้ยังเชื่อมรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT สถานีศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ตรงถึงภายในศูนย์ฯสิริกิติ์ 2.Safety ระบบรักษาความปลอดภัยขั้นสูงสุดตามมาตรฐานการดำเนินงานระดับสากล พร้อมคำนึงถึงความปลอดภัยด้าน Life Safety เพื่อรองรับการจัดงานระดับโลกทุกรูปแบบ

3.Technology วางระบบโครงสร้างพื้นฐานรองรับการใช้งานอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงที่สุดในประเทศไทยรองรับได้ถึงอนาคต (6G) นอกจากนี้ยังได้ติดตั้งระบบเข้าใช้งานพื้นที่แบบไร้สัมผัส และใช้ระบบบริหารอาคารอัจฉริยะในการควบคุมการให้บริการพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีความปลอดภัยขั้นสูงสุด 4.Flexibility มีพื้นที่รองรับการจัดงานมากถึง 78,500 ตารางเมตร มีฮอลล์ขนาดใหญ่ 2 ฮอลล์ ห้องสำหรับจัดประชุมสัมมนาขนาดใหญ่ 2 ห้อง และห้องประชุมกว่า 50 ห้องที่สามารถรองรับการจัดงานบนพื้นที่ตั้งแต่ขนาด 30-1,000 ตาราง และ 5.Sustainability การสร้างความยั่งยืน 

โดยเป็นศูนย์ประชุมแห่งแรกและแห่งเดียวของไทยที่ผ่านมาตรฐานอาคารเขียว LEED ระดับ Silver ที่มีการวางแผนการพัฒนาตั้งแต่ต้นจนแล้วเสร็จ เน้นการใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่า 25% และวัสดุที่สามารถนำไปรีไซเคิลได้มากกว่า 75% การติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์โดยรอบโครงการ และใช้อุปกรณ์อัตโนมัติเพื่อลดการใช้พลังงานไฟฟ้าและน้ำ นอกจากนี้ยังเป็นศูนย์ประชุมแห่งเดียวที่ห้อมล้อมด้วยสวนป่าเบญจกิติ พื้นที่สีเขียวผืนใหม่ล่าสุดของกรุงเทพฯ

 

“สิริวัฒนภักดี” ปักหมุดทำเลทอง ”ถนนพระราม 4” ปั้น Smart Building

 

5.โครงการ สีลม เอจ พัฒนาโดยบริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เป็น อาคารสำนักงาน, ค้าปลีกสนับสนุน    มูลค่า 1,800 ล้านบาท แล้วเสร็จปี 2565 เป็นโครงการ Re-development ภายใต้คอนเซ็ปต์การพัฒนาแหวกแนว “The new sandbox community in CBD” โครงการที่ปรับโฉมอาคารเก่าทั้งพื้นที่สำนักงานเช่าและรีเทลในรูปแบบของโครงการมิกซ์ยูสอาคารสำนักงานและพื้นที่ร้านค้าเช่า สูง 24 ชั้น พร้อมให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง พื้นที่โครงการรวม 50,000 ตร.ม.

 

“สิริวัฒนภักดี” ปักหมุดทำเลทอง ”ถนนพระราม 4” ปั้น Smart Building

 

6.โครงการ ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค พัฒนาโดย บริษัท วิมานสุริยา จำกัด เป็นบริษัทร่วมลงทุนระหว่างบริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) และบริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) อาคารสำนักงาน, โรงแรม, ค้าปลีก, ศูนย์แสดงสินค้า, ที่อยู่อาศัย     มูลค่า 46,000 ล้านบาท คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2567 - 2568

7.โครงการ ปัญญ์ ทาวเวอร์ พัฒนาโดย บริษัท ดลศิริ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด เป็นบริษัทร่วมลงทุนระหว่างบริษัท แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท นายณ์ เอสเตท จำกัด เป็น อาคารสำนักงาน, ค้าปลีกสนับสนุน มูลค่า 3,900 ล้านบาท แล้วเสร็จในปี 2566

 

“สิริวัฒนภักดี” ปักหมุดทำเลทอง ”ถนนพระราม 4” ปั้น Smart Building

 

8.โครงการ เอฟวายไอ เซ็นเตอร์ พัฒนาโดย บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เป็นอาคารสำนักงาน, โรงแรม มูลค่า 5,000 ล้านบาท แล้วเสร็จในปี 2559 เป็นอาคารสำนักงานสุดครีเอทีฟในคอนเซ็ปต์ “Business+Creativity” ที่จะเปลี่ยนความจำเจของสถานที่ทำงานให้กลายเป็นที่ที่สามารถจุดประกายความสร้างสรรค์ โดยผสมผสานฟังก์ชั่นของสำนักงานกับพื้นที่สำหรับเติมไอเดียให้เหล่านักธุรกิจรุ่นใหม่ได้อย่างลงตัว ที่สำคัญโครงการยังอยู่ในทำเลที่ดีมีศักยภาพในการพัฒนาสูง บนถนนรัชดาฯ-พระราม 4 บนพื้นที่ 9 ไร่ ประกอบด้วย อาคารสำนักงานและโรงแรม พื้นที่กว่า 100,000 ตร.ม. 

แบ่งเป็น อาคารสำนักงานให้เช่าสูง 12 ชั้น 2 อาคาร พื้นที่รวม 90,000 ตร.ม. และโรงแรมโมเดน่า บาย เฟรเซอร์ กรุงเทพฯ สูง 14 ชั้น พื้นที่รวม 10,000 ตร.ม. ขนาด 239 ห้อง โดดเด่นด้วยศักยภาพของทำเลที่ตั้งอยู่ย่านกลางเมือง ช่วงจุดตัดระหว่างถนนรัชดาภิเษกและ ถนนพระราม 4 ติดรถไฟใต้ดินสถานีศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ตอบโจทย์นิวไลฟ์สไตล์ที่ชื่นชอบการเดินทางที่สะดวกสบาย และรวดเร็ว  

9.โครงการ จามจุรี แสควร์    พัฒนาโดย สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นอาคารสำนักงาน, ค้าปลีก, ที่อยู่อาศัย มูลค่า 7,000 ล้านบาท แล้วเสร็จในปี 2551

และนี้เป็นเพียง 9 อาคารที่มีความน่าสนใจซึ่งหลายอาคารกำลังอยู่ในการพัฒนาและอีกหลายอาคารเปิดทำการแล้ว ทั้งนี้เชื่อมั่นว่าด้วยความเป็นทำเลทองของ “ถนนพระราม 4” ที่เรียกได้ว่าเป็น New CBD แห่งหนึ่งของ กทม. ซึ่งในอนาคตข้างหน้าจะต้องมีการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ ทั้งที่อยู่อาศัย คอนโดมิเนียม อาคารสำนักงาน เกิดขึ้นมาใหม่อย่างแน่นอน