posttoday

ลูกบ้านแอชตันอโศก ยังต้องรอลุ้น คำตัดสินศาลปกครองสูงสุด

30 กันยายน 2565

ตุลาการผู้แถลงคดี เห็นควรยกฟ้อง แอชตัน อโศก ดำเนินโครงการโดยชอบ แต่ไม่ถือเป็นคำตัดสินลุ้นรอศาลปกครองสูงสุดพิพากษา คาดใช้เวลา1-2 เดือน

คดีแอชตัน อโศก ศาลปกครองสูงสุดพิจารณานัดแรก เมื่อวันที่ 20 ก.ย. 2565 ระหว่างสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน กับพวกรวม 16 คน ฟ้อง กทม. และการรถไฟขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) โดยมีตัวแทนจาก บมจ.อนันดา เป็นผู้ร้องสอด กรณีพิพาทหน่วยงานทางปกครองอนุมัติโครงการไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ตุลาการผู้แถลงคดี ให้ความเห็นหลังจากฟังแถลงข้อเท็จจริงว่า กรณี รฟม. อนุญาตให้โครงการแอชตัน อโศก ใช้ที่ดินที่เวนคืน เพื่อเป็นทางเข้าออก ขยายถนนจากความกว้าง 6.4 เมตร เป็น 13 เมตร สอดรับกับกฎหมายควบคุมอาคาร ซึ่ง รฟม. ได้รับประโยชน์เป็นอาคารจอดรถและอาคารสำนักงานมูลค่า 97 ล้านบาท เป็นการดำเนินการโดยชอบ คำอุทธรณ์ฟังขึ้น ดังนั้น ตุลาการผู้แถลงคดีจึงมีความเห็นโครงการดำเนินการไปโดยชอบ ควรกลับคำพิพากษาศาลปกครองกลาง (ศาลชั้นต้น) ให้ยกฟ้องจำเลยทุกคดี 

อย่างไรก็ตาม ความเห็นของตุลาการผู้แถลงคดี เป็นเพียงความเห็นอิสระ  "ไม่ได้ " นำมาพิจารณาร่วมกับการตัดสินของตุลาการเจ้าของสำนวน จึงยังต้องรอคำพิพากษาถึงที่สุดของศาลปกครองสูงสุดอีกครั้ง  คาดว่า ต้องใช้ระยะเวลา 1-2  เดือนจากนี้หรือเร็วสุด 1-2สัปดาห์ 

 

นายพิสิษฐ เดชไชยยาศักดิ์ ผู้รับมอบอำนาจ ผู้ร้องสอด บริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด / ที่ปรึกษากฎหมายจาก สำนักงาน WCPได้ให้สัมภาษณ์หลังการพิจารณาว่า คำแถลงการของตุลาการผู้แถลงคดี ว่า  เป็นสัญญาณบวกต่อภาคอสังหาริมทรัพย์ ประชาชน และสถาบันการเงิน เพราะคดีดังกล่าวมีผลกระทบต่อวงการอสังหาฯ สถาบันการเงิน ยกฟ้อง รวมทั้งลูกบ้านที่เก็บเงินมาซื้อที่อยู่อาศัย ที่ได้รับผลกระทบ เราก็ต้องมองย้อนกลับไปว่า โครงการดำเนินการมาตั้ง4-5ปีแล้วสามารถพิสูจน์แล้วว่า ไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายอะไร  กับใครเลย ในทางตรงข้ามสร้างคุณูปการ ธุรกิจต่างๆ แม้กระทั้งของรฟม.เองก็เห็นชัดว่าได้ประโยชน์ รวมทั้งประชาชน

โดยเฉพาะการรถไฟขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ที่ได้อาคารสำนักงานและอาคารที่จอดรถ สามารถนำไปใช้สอยได้การใช้ประโยชน์ที่ดินเป็นไปตามกฎหมาย กล่าวคือ ทางเข้า-ออกยังเป็นกรรมสิทธิ์ของ รฟม. แอชตัน อโศก จ่ายผลประโยชน์ให้ รฟม.เป็นอาคารสำนักงานและอาคารจอดรถ มูลค่า 97 ล้านบาท

ดังนั้นการสั่งรื้อถอนโครงการแอชตัน อโศก จึงไม่ก่อให้เกิดประโยชน์กับใคร แต่จะสร้างผลกระทบ"เชิงลบตั้งแต่ภาคอสังหาริมทรัพย์ ภาคสถาบันการเงิน ไปจนถึงการลงทุนจากต่างชาติ ทั้งนี้เนื่องจากโครงการแอชตัน อโศก เป็นการร่วมทุนกับมิตซุย ฟูโดซัง จากประเทศญี่ปุ่น คดีดังกล่าวอาจกระทบความเชื่อมั่นด้านการลงทุน ธนาคารไม่กล้าปล่อยให้ภาคอสังหาฯ ลงทุน

ทั้งนี้ เนื่องจากการพิจารณาคดีแอชตัน อโศก ครั้งนี้จะกลายเป็น"บรรทัดฐาน" โครงการอสังหาริมทรัพย์ รวมไปถึงคดีระหว่างแอชตัน อโศก กับสยามสมาคม ที่ยังมีการฟ้องร้องในศาลปกครองกลางอยู่ และมีลูกบ้านแอชตันกว่า 668 ครอบครัวเป็นผู้ร้องสอด  หากพิพากษายกฟ้อง จะมีผลในทุกคดีให้ยกฟ้องไปด้วย

 เครดิตข่าว กรุงเทพธุรกิจ