posttoday

"ทุนใหญ่" ปลูกกล้วยเลี่ยงภาษีที่ดิน มีหนาว คลังเปิดช่องกทม.เช็คบิล

30 กันยายน 2565

บรรดานายทุนเลี่ยงภาษีที่ดิน นำพื้นที่กลางเมืองทำเกษตรหวังลดค่าใช้จ่าย กำลังถูกตามเช็คบิล คลัง ไฟเขียว กทม.ใช้ดุลยพินิจหาช่องเก็บรายได้ 

กรุงเทพมหานคร(กทม.) มีนโยบาย เร่งจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ให้เป็นไปตามเป้าหมาย แต่กฎระเบียบข้อบังคับกฎหมายของกระทรวงการคลังและกระทรวงมหาดไทย เปิดช่องให้นักลงทุนนำที่ดินรกร้างไม่ทำประโยชน์ไปเป็นสวนกล้วยที่ดินเกษตรกรรม เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายให้ต่ำลงทั้งที่ที่ดินแปลงมีราคาแพงและตั้งอยู่ในทำเลใจกลางเมือง 

ปมปัญหานี้ นายชัชชาติ สิทธิพันธ์  ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ทำหนังสือหารือไปยังคณะกรรมการวิฉิจฉัยภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง  กระทรวงการคลังว่า กรุงเทพมหานครสามารถออกข้อบัญญัติกำหนดอัตราการจัดเก็บภาษีให้สูงขึ้น ตามเกณฑ์โซนสีผังเมืองได้หรือไม่ เสียงส่วนใหญ่ระบุว่า หากกทม.จะดำเนินการสามารถทำได้แต่ต้องไม่เกินเพดานที่อัตราโครงสร้างภาษีกำหนดของอัตราเกษตร หรือไม่เกิน 0.15% และต้องถือปฎิบัติ ให้เท่าเทียมกันทั้ง 50เขต
 

นางเกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์  ที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และกรรมการผู้จัดการบริษัทเสนาดีเวลลอปเม้นท์จำกัด (มหาชน) เปิดเผย”ฐานเศรษฐกิจ”ว่า กทม.ต้องการเรียกเก็บภาษีที่ดินที่ใช้ประโยชน์ที่ดินในลักษณะผิดประเภท ตามผังเมืองโฟกัสเฉพาะ โซนไข่แดง ย่านศูนย์กลางธุรกิจ พื้นที่สีแดง(ประเภทพาณิชยกรรม) อาทิ เขตวัฒนา ปทุมวัน บางรัก ฯลฯ ซึ่งตามข้อเท็จจริงที่ดินดังกล่าวมีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูง ไม่เหมาะที่จะนำมาปลูกพืชทำเกษตรกรรม  แต่ปัจจุบันมีให้เห็นเป็นจำนวนมาก ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่านักลงทุนดังกล่าว อาจจะมีเจตนาหลบเลี่ยงภาษีที่ชัดเจน ซึ่งกทม.สามารถปรับเพิ่มอัตราการเรียกเก็บภาษีได้ ตามดุลยพินิจ  

 
ด้านนายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง ฐานะประธาน คณะกรรมการวินิจฉัยภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างยืนยันว่ากทม.และท้องถิ่นอื่นสามารถดำเนินการจัดเก็บเพิ่มได้โดยใช้ดุลพินิจ  เรียกเก็บภาษี จากที่ดินเกษตรเป็นที่ดินรกร้างว่างเปล่า ได้ตลอดเวลา อย่างไรก็ตาม ต้องรอให้คณะอนุกรรมการฯส่งข้อหารือของกทม. มายังคณะกรรมการฯก่อนกรณีที่มีการปลูกพืชการเกษตรในที่รกร้างว่างเปล่าใจกลางเมืองเพื่อหลีกเลี่ยงภาษี ซึ่งกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง กำหนดจัดเก็บภาษีที่ดินที่รกร้างว่างเปล่าไม่ได้ทำประโยชน์ตามควรในอัตราที่สูงกว่าที่ดินประเภทอื่นๆ ก็เพื่อกระตุ้นให้เกิดการใช้ประโยชน์ในที่ดิน 
 

ทั้งนี้ กฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ได้กำหนดอัตราภาษีสูงสุด ที่จะให้อำนาจท้องถิ่นในการจัดเก็บภาษีตัวนี้ ตามประเภทที่ดินดังนี้ คือ ที่ดินเพื่อเกษตรกรรม อัตราเพดานอยู่ที่ 0.15 % ของมูลค่าที่ดิน ที่ดินเพื่อที่อยู่อาศัย เพดานอยู่ที่ 0.3% ของมูลค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และที่ดินประเภทอื่นนอกเหนือจากเกษตรกรรม และที่อยู่อาศัย เช่น ที่ดินที่ใช้ในเชิงพาณิชย์และอุตสาหกรรม รวมถึงที่ดินรกร้างว่างเปล่า มีเพดานอยู่ที่ 1.2% โดยคณะกรรมการภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง จะกำหนดอัตราภาษีแนะนำ แต่ละประเภทที่ดิน ให้เป็นแนวทางให้ท้องถิ่นจัดเก็บ  ซึ่งท้องถิ่นสามารถจัดเก็บในอัตราที่ต่ำกว่าอัตราแนะนำหรือสูงกว่าก็ได้ แต่ต้องไม่เกินเพดานที่กำหนด ในกรณีที่ดินรกร้างว่างเปล่า ไม่ได้ทำประโยชน์ตามสมควรแก่สภาพนั้น

กฎหมาย ยังกำหนดอีกว่า  หากที่ดินแปลงใดปล่อยไว้เป็นที่รกร้างว่างเปล่า และถูกเสียภาษีในอัตราที่รกร้างว่างเปล่าแล้ว ยังไม่ได้นำที่ดินแปลงนั้นมาใช้ประโยชน์ ยังคงปล่อยไว้ให้เป็นที่รกร้างว่างเปล่านั้น ในทุก 3 ปี จะปรับอัตราภาษีเพิ่มอีก 0.3% หากไม่ได้ทำประโยชน์อะไรอีก ก็จะปรับขึ้นภาษีไปเรื่อยๆ แต่สูงสุดจะต้องไม่เกิน 3%ของราคาประเมิน

เครดิตภาพ ข่าว ฐานเศรษฐกิจ