posttoday

ผังเมืองตีกรอบใช้ที่ดิน ลดพื้นที่สีเขียวไม่เกิน 5%

21 ธันวาคม 2560

จากแนวโน้มการใช้ประโยชน์ที่ดินในกรุงเทพมหานครมีการเปลี่ยนแปลงการขยายตัวของเมืองในทุกด้าน

โดย...อรวรรณ จารุวัฒนะถาวร

จากแนวโน้มการใช้ประโยชน์ที่ดินในกรุงเทพมหานครมีการเปลี่ยนแปลงการขยายตัวของเมืองในทุกด้าน ซึ่งการใช้ประโยชน์ที่ดินประเภทเกษตรกรรม (สีเขียว) มีจำนวนลดลงเนื่องจากถูกรุกล้ำจากภาคพาณิชยกรรมและที่อยู่อาศัย แม้พื้นที่เกษตรจะมีสัดส่วน 1 ใน 3 ของพื้นที่กรุงเทพมหานครก็ตาม

การใช้ที่ดินเพื่อเกษตรกรรมลด

นพนันท์ ตาปนานนท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการวางผังเมือง เปิดเผยว่า จากการสำรวจในช่วงปี 2552-2558 พบว่า การใช้ประโยชน์ที่ดินประเภทเกษตรกรรมลดลงกว่า -4.05% หรือมีราวกว่า 2.6 แสนไร่ หรือสัดส่วน 27% จากพื้นที่กรุงเทพฯ ทั้งหมดกว่า 1,500 ตารางกิโลเมตร ขณะที่การใช้ประโยชน์ที่ดินสำหรับที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้น 7.3% และพาณิชยกรรมเพิ่มขึ้น 25.43%

ทั้งนี้ ยังพบว่าที่ดินประเภท ก.1 การใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการสงวนรักษาสภาพทางธรรมชาติของพื้นที่ชนบทและเกษตรกรรมในบริเวณที่มีข้อจำกัดด้านการระบายน้ำและมีความเสี่ยงต่อการเกิดอุทกภัย ซึ่งยังมีที่ว่างอยู่ราว 3.3 หมื่นไร่ จากทั้งหมดกว่า 9.2 หมื่นไร่

ส่วนที่ดินประเภท ก.2 การใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการสงวนรักษาสภาพทางธรรมชาติของพื้นที่ชนบทและเกษตรกรรม ยังมีที่ว่างอยู่ราว 1.3 หมื่นไร่ จากทั้งหมดกว่า 4.4 หมื่นไร่

ในส่วนที่ดินประเภท ก.3 การใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการสงวนรักษาสภาพทางธรรมชาติของพื้นที่ชนบทและเกษตรกรรม และการส่งเสริมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเค็มและน้ำกร่อยบริเวณชายฝั่งทะเล ยังมีที่ว่างอยู่ราว 3,887 ไร่ จากทั้งหมดกว่า 1.9 หมื่นไร่

ขณะที่ที่ดินประเภท ก.4 การใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อเกษตรกรรม การสงวนรักษาสภาพทางธรรมชาติและการส่งเสริมเศรษฐกิจการเกษตร ยังมีที่ว่างอยู่ราว 4.1 หมื่นไร่ จากทั้งหมดกว่า 2.2 แสนไร่

สำหรับที่ดินประเภท ก.5 การใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อเป็นชุมชนและศูนย์กลางการให้บริการทางสังคมและส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชนในพื้นที่ชนบทและเกษตรกรรม ยังมีที่ว่างอยู่ราว 1,131 ไร่ จากทั้งหมดกว่า 8,642 ไร่

ผังเมืองตีกรอบใช้ที่ดิน ลดพื้นที่สีเขียวไม่เกิน 5%

ผังใหม่พื้นที่สีเขียวลดไม่เกิน 5%

สำหรับแนวโน้มการใช้ประโยชน์ที่ดินในผังฉบับใหม่นั้น คาดว่าพื้นที่สีเขียวจะลดไม่เกิน 5% จากที่มีอยู่ในปัจจุบัน เนื่องจากผังเมืองฉบับใหม่จะไม่ส่งเสริมให้เมืองขยายตัว แต่จะให้ขยายตัวเท่าที่จำเป็นและไม่เกินรัศมีวงแหวนกาญจนาภิเษก โดยจะเพิ่มความหนาแน่นและทำให้เมืองกระชับแทน

นอกจากนี้ สิ่งที่จะเห็นในพื้นที่สีเขียวจากนี้ก็คือ การกำหนดโซนและการใช้ประโยชน์ที่ดินให้เกิดความคุ้มค่า โดยผังโครงสร้างการพัฒนาด้านเกษตรกรรมจะมีการกำหนดศูนย์ชุมชน ศูนย์กลางการเกษตร และตลาดเกษตรปลอดภัยเพื่อส่งเสริมพื้นที่ให้แข็งแกร่งและสร้างความสมดุลระหว่างพื้นที่เมืองและชานเมือง เช่น บริเวณสุวินทวงศ์ บางขุนเทียน สนามหลวง 2 เป็นต้น

ส่วนการพัฒนาศูนย์ชุมชนชานเมือง อย่างเช่น มีนบุรี ซึ่งในอนาคตมีรถไฟฟ้าพาดผ่าน 2 สาย คือ สายสีชมพูและสายสีส้ม ทั้งนี้จะเป็นโอกาสให้พื้นที่โซนตะวันออกมีการพัฒนา โดยเห็นว่าควรเป็นการพัฒนาในเชิงพาณิชย์ที่มีความหนาแน่นสูง

แนะใช้มาตรการโอนสิทธิ

ขณะเดียวกัน เสนอให้นำมาตรการโอนสิทธิการพัฒนามาใช้ในบางพื้นที่ที่ถูกลิดรอนสิทธิเพื่อแบกรับภาระของเมืองไว้ เช่น ที่ดินประเภทอนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรมบริเวณ ก.1 ซึ่งอยู่ฝั่งตะวันออกของกรุงเทพฯ ที่รัฐกำหนดเป็นพื้นที่ผันน้ำ เช่น บริเวณคลอง
สามวา มีนบุรี ลาดพร้าว หนองจอก เป็นต้น รวมทั้ง ก.3 บางส่วนของฝั่งตะวันตก เช่น คลองสนามไชย ที่กำหนดเป็นแก้มลิง เป็นต้น

รวมไปถึงในพื้นที่อนุรักษ์เพื่อส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมไทย (สีน้ำตาลอ่อน) และพื้นที่อนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรม (สีขาวมีกรอบและเส้นทแยงสีเขียว)

อย่างไรก็ดี มาตรการโอนสิทธิต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ หากโอนไปที่ที่มีความหนาแน่นอยู่แล้วจะกลายเป็นปัญหาเมืองตามมา นอกจากนี้มองว่าในพื้นที่สีเขียวยังมีพื้นที่ว่างอยู่อีกมากราว 9.3 หมื่นไร่ สามารถนำมาพัฒนาเพื่อให้มีการใช้ประโยชน์ที่ดินเกิดความคุ้มค่าได้ ซึ่งกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะผลักดันให้พื้นที่ว่างเหล่านี้มีการพัฒนา

ผังเมืองตีกรอบใช้ที่ดิน ลดพื้นที่สีเขียวไม่เกิน 5%

ชง กทม.ปรับเกณฑ์บังคับ

ทั้งนี้ จากการประเมินผลผังเมืองรวม กทม.ที่บังคับใช้ในปัจจุบันนั้น ได้มีข้อเสนอในประเด็นต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาเมืองต้องดำเนินการควบคู่กับการอนุรักษ์พื้นที่ที่มีคุณค่าทางเกษตรกรรม ทั้งนี้ภาครัฐควรเข้มงวดเรื่องการพัฒนาโครงการบ้านจัดสรรที่รุกล้ำพื้นที่เกษตรและการขยายตัวของเมือง ซึ่งมีการปล่อยน้ำเสียลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะ ส่งผลต่อพื้นที่และผลผลิตทางการเกษตร

ขณะเดียวกัน ควรลดการขยายตัวของเมืองในแนวราบในเขตชานเมืองเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดการลงทุนการแข่งขันด้านโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งขยายตัวไม่ทันต่อการขยายตัวของเมือง

นอกจากนี้ พื้นที่ชนบทและเกษตรกรรมที่ถูกเปลี่ยนเป็นพื้นที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย มีข้อกำหนดตามผังเมืองที่ขัดแย้งกับผู้ทำเกษตรกรรมดั้งเดิม เช่น กิจกรรมปศุสัตว์ เป็นต้น

คุมเข้มการก่อสร้างและถมดิน

จากปัญหาการรุกล้ำพื้นที่เกษตรกรรม มีความเห็นว่า หน่วยงานภาครัฐควรเพิ่มความเข้มงวดในการควบคุมการก่อสร้างและถมดินในบริเวณที่เป็นทางน้ำไหลผ่านหรือพื้นที่เสี่ยงต่อน้ำท่วม

ขณะเดียวกัน ควรมีผังกิจการสาธารณูปโภคทุกจังหวัด โดยเฉพาะเรื่องการป้องกันและแก้ไขน้ำท่วมและระบายน้ำ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้กรมโยธาธิการและผังเมืองอยู่ระหว่างจัดทำผังระบายน้ำใน 25 ลุ่มน้ำ ครอบคลุมพื้นที่ 76 จังหวัด

สำหรับผังดังกล่าวจะนำไปปรับปรุงในผังเมืองจังหวัด ซึ่งรวมถึงกรุงเทพมหานครด้วย ผังชุมชนและผังพื้นที่เฉพาะ เพื่อเพิ่มพื้นที่โล่งและเพื่อการระบายน้ำ รวมทั้งการจัดทำแผนที่เสี่ยงภัยน้ำท่วม การระบายน้ำ อีกทั้งการแก้ปัญหาสิ่งก่อสร้างและโครงสร้าง
พื้นฐานที่กีดขวางทางระบายน้ำ การจัดทำโครงการป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชน เนื่องจากเป็นพื้นที่เศรษฐกิจมีสถานที่สำคัญต่างๆ

ขณะที่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานควรพัฒนาที่จำเป็นสำหรับพื้นที่เกษตรกรรมให้สามารถอยู่ได้อย่างยั่งยืน เช่น การพัฒนาโครงข่ายส่งน้ำในการทำเกษตร การควบคุมคุณภาพน้ำ การระบายน้ำและการป้องกันน้ำท่วม การรักษาคุณภาพน้ำชายฝั่งทะเลเพื่อการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เป็นต้น

รวมไปถึงการควบคุมการพัฒนาพื้นที่ตามแนวช่องผันน้ำ (ฟลัดเวย์) ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน นอกจากนี้ภาครัฐควรมีการส่งเสริมการท่องเที่ยวจากการเกษตรและการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ จะช่วยสร้างรายได้เพิ่มให้กับเกษตรกรอีกทาง

อย่างไรก็ดี โครงการวางและจัดทำผังเมืองรวม กทม.ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4 คาดว่าร่างผังเมืองฯ จะแล้วเสร็จในเดือน มี.ค. 2561 จากนั้นจะดำเนินการตามขั้นตอน และคาดว่าจะสามารถประกาศบังคับใช้ในปลายปี 2561 หรือต้นปี 2562