posttoday

การเคหะฯ ยุคเปลี่ยนผ่าน วัดฝีมือคนนอกขึ้นแท่นผู้นำ

19 กันยายน 2559

ต้องจับตามองว่าหลังจากที่ได้ผู้ว่า กคช. ใหม่แล้วแผนการดำเนินของ กคช.จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร

โดย...โชคชัย สีนิลแท้

ใกล้เข้าสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของการเคหะแห่งชาติ (กคช.) หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มีบทบาทในการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับประชาชน โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อยถึงรายได้ปานกลาง ได้พัฒนาที่อยู่อาศัยทั่วประเทศตลอดระยะเวลา 43 ปี รวมทั้งสิ้นกว่า 7.1 แสนยูนิต   

อุบลวรรณ สืบยุบล รองผู้ว่าการ รักษาการแทน ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ เปิดเผยว่า กคช.อยู่ระหว่างการสรรหาผู้ว่าการเคหะแห่งชาติคนใหม่ หลังจากคณะกรรมการสรรหาผู้ว่า กคช. ซึ่งมี พล.อ.สุชาติ หนองบัว เป็นประธานฯ ได้พิจารณาเห็นชอบเสนอ ธัชพล กาญจนกูล รองผู้อำนวยการธนาคารออมสินอาวุโส กลุ่มยุทธศาสตร์ มาดำรงตำแหน่งผู้ว่า กคช. โดยผ่านการเห็นชอบจากบอร์ด กคช. ซึ่งมี พิชิต อัคราทิตย์ เป็นประธานเรียบร้อยแล้ว และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กระทรวงการคลัง โดยได้นำกลับมาให้ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) นำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในเดือน ก.ย.นี้

“ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณา หากพิจารณาได้อย่างเร็วคงจะทราบผลในวันที่ 20 ก.ย. แต่หากไม่ทันจะต้องเลื่อนเป็นออกเป็นวันที่ 27 ก.ย.นี้ จะต้องทราบแล้วว่าจะได้ผู้ว่า กคช.คนใหม่มานั่งบริหารงาน”

สำหรับแผนงานในปีงบประมาณ 2560 เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2559-30 ก.ย. 2560 นั้น กคช.มีแผนจะพัฒนาที่อยู่อาศัยทั่วประเทศจำนวนกว่า 1 หมื่นยูนิต โดยจะให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียมใกล้ส่วนต่อขยายโครงการรถไฟฟ้าของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ซึ่งจะใช้งบประมาณจากการกู้เงินจากสถาบันการเงินในประเทศ และเงินทุนหมุนเวียนมาพัฒนาโครงการ ขณะที่งบประมาณที่ได้รับการอุดหนุนจากภาครัฐในปี 2560 จำนวน 500 ล้านบาท

“กคช.ได้งบสนับสนุนจากภาครัฐบาลค่อนข้างน้อย แต่ก็สามารถเดินหน้าพัฒนาโครงการใหม่ได้จากการกู้เงินและเงินทุนหมุนเวียนที่เกิดขึ้น ซึ่งตั้งแต่ปี 2552 ที่ผ่านมา ผลการดำเนินงานเริ่มมีกำไรมาจนถึงปีปัจจุบันที่สามารถเลี้ยงตัวเองอยู่ได้”       

กคช.ได้พิจารณาที่ดินจำนวน 3 แปลงที่อยู่ใกล้ แนวรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายระยะห่างประมาณ 5 กม.มาพัฒนา ได้แก่ บริเวณลำลูกกา ประชานิเวศน์ และร่มเกล้า รวมไปถึงที่ดินของ รฟม. จำนวน 2 แปลง บริเวณบางปิ้งและบางไผ่มาพัฒนาเป็นที่อยู่อาศัย หลังจากที่เสนอให้มีการแก้ไขที่ดินของภาครัฐมาพัฒนาในเชิงพาณิชย์ รวมไปถึงการพัฒนาที่อยู่อาศัยในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษที่จะต้องสร้างที่อยู่อาศัยรองรับ 10 พื้นที่ ซึ่งจะพัฒนาบนที่ดินของกรมธนารักษ์ หรือที่ดินของการนิคมแห่งประเทศไทย

“ที่ดินของ กคช. จำนวน 3 แปลง พิจารณาแล้วพบว่าเป็นแปลงที่มีศักยภาพ ซึ่งจะนำมาพัฒนาก่อน เพราะใกล้กับแนวรถไฟฟ้า เนื่องจากมีความต้องการที่อยู่อาศัยมีอยู่ค่อนข้างมาก คาดว่าเมื่อผ่านการพิจารณาของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คาดว่าจะเริ่มพัฒนาโครงการได้ช่วงเดือน เม.ย. 2560” 

ขณะเดียวกัน ก็จะพัฒนาบนที่ดินของ รฟม. หรือดีโป้ ซึ่งเป็นจุดจอดรถที่จะนำมาพัฒนาโครงการแนวสูงในรูปแบบเช่าเซ้งสัญญาเช่า 30 ปีต่อ 30 ปี พัฒนาเป็นคอนโดมิเนียมอยู่บนอาคารจอดรถเบื้องต้นจะเป็นอาคารสูง 20 ชั้น ขนาดห้อง 33-40 ตร.ม. ระดับราคาขายเริ่มต้นกว่า 1 ล้านบาท/ยูนิต รวมไปถึงแนวทางการพัฒนาโครงการใหม่ๆ จะให้ความสำคัญกับการออกแบบที่รองรับความต้องการของผู้สูงอายุจำนวน 10% ที่จะต้องมีภายในโครงการปัจจุบัน กคช.มีจำนวนสต๊อกที่อยู่อาศัยเหลือขายทั่วประเทศจำนวน 5,000-6,000 ยูนิต

อย่างไรก็ตาม จากการที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบแผนแม่บทโครงการฟื้นฟูเมืองดินแดง (2559-2567) และเห็นชอบอนุมัติการดำเนินโครงการพักอาศัยแปลงจีของ กคช. เมื่อวันที่ 17 ส.ค. 2559 นั้น กคช.ได้ดำเนินการเปิดประกวดราคาหาผู้รับเหมาก่อสร้างแปลงจีเป็นอาคารสูง 28 ชั้น จำนวน 1 อาคาร รวม 334 ยูนิต ด้วยราคากลางจำนวนกว่า 324 ล้านบาท เมื่อวันที่ 25-5 ส.ค.ที่ผ่านมา แต่เนื่องจากมีผู้ยื่นเสนอราคาเพียงรายเดียว ซึ่งตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ปี 2549 ต้องดำเนินการจัดหาและประกวดราคาใหม่ โดยได้เปิดจำหน่ายเอกสารประกวดราคาตั้งแต่วันที่ 15-23 ก.ย.นี้ และกำหนดยื่นตรวจสอบคุณสมบัติวันที่ 7 ต.ค. และกำหนดเสนอราคาอี-ออกชั่น วันที่ 21 ต.ค. และคาดว่าจะสามารถลงนามสัญญาจ้างได้วันที่ 9 พ.ย.นี้

ขณะที่การดำเนินโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง แบ่งการก่อสร้างออกเป็น 4 ระยะ ใช้เวลา 8 ปี จำนวน 20,292 ยูนิต โดยแบ่งเป็นรองรับผู้อยู่อาศัยเดิม 6,546 ยูนิต และรองรับผู้อยู่อาศัยใหม่ 13,746 ยูนิต ซึ่งการก่อสร้างระยะที่ 1 แปลงจีนั้นจะรองรับผู้อยู่อาศัยเดิมแฟลต 18-22 จำนวน 280 ยูนิต ระยะที่ 2 แปลงดี 1 และแปลงเอ สร้างอาคารสูง 35 ชั้น 2 อาคาร รวม 1,247 ยูนิต รองรับผู้อยู่อาศัยเดิม แฟลต 9-17, 23-32 และ 63-64 จำนวน 1,160 ยูนิต ระยะที่ 3 แปลง ดี 1 แปลงเอ และแปลงซี สร้างที่อาคารสูง 35 ชั้น 5 อาคาร รวม 3,333 ยูนิต รองรับผู้อยู่อาศัยเดิมแฟลต 1-8, 33-56, 57-62 และดินแดง 4 จำนวน 3,056 ยูนิต และที่ดินแปลงดี 2 จัดสร้างอาคารสูง 30 ชั้น 5 อาคาร รวม 2,610 ยูนิต เพื่อรองรับผู้อยู่อาศัยเดิมและบุคคลทั่วไป ระยะที่ 4 แปลงซี จัดสร้างอาคารสูง 35 ชั้น 3 อาคารรวม 1,632 ยูนิต รองรับผู้อยู่อาศัยเดิมแฟลต ซอย 1-6 จำนวน 1,350 ยูนิต ส่วนแปลงบีและแปลงอีจัดสร้างอาคารสูง 8-35 ชั้นอาคาร จำนวน 1,136 ยูนิต รองรับข้าราชการและบุคคลทั่วไป

ทั้งนี้ จากการสำรวจความคิดเห็นของชาวชุมชนพบว่า ส่วนใหญ่เห็นด้วย 97% ต้องการมีคุณภาพชีวิตที่ดีย่านใจกลางเมือง ประกอบกับ การย้ายออกเป็นการย้ายเพียงครั้งเดียว เพื่อการเข้าไปอยู่อาศัยในอาคารใหม่ สำหรับค่าเช่าใหม่ยังคงอัตราเดิมแต่เพิ่มค่าบริหารจัดการสาธารณูปโภคและค่าภาษีโรงเรือน 12.5% ซึ่งจะทำให้ค่าเช่าที่ต้องจ่ายปรับเพิ่มขึ้นจากเดิม 300-3,000 บาทเป็น 1,265-4,303 บาท ส่วนผู้อยู่อาศัยใหม่ หากเป็นข้าราชการคิดค่าเช่า 9,000 บาท/ยูนิต/เดือน ในขณะที่ผู้เช่ารายใหม่ที่เป็นบุคคลทั่วไป ต้องจ่ายค่าเช่าเซ้งขนาด 33 ตร.ม. ราคา 1.7 ล้านบาท/ยูนิต

เหล่านี้คือการเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่ของ กคช. ซึ่งจะต้องจับตามองว่าหลังจากที่ได้ผู้ว่า กคช. ใหม่แล้วแผนการดำเนินของ กคช.จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร