posttoday

ซ่อมบ้าน สร้างสุข(1)

25 มกราคม 2560

น้ำท่วมบ้านเป็นปัญหาที่ใครๆ ก็ไม่ต้องการให้เกิดขึ้น แต่เมื่อเผชิญกับปัญหาต้องรู้ถึงแนวทางแก้ไข

โดย...SCG Experience

น้ำท่วมบ้านเป็นปัญหาที่ใครๆ ก็ไม่ต้องการให้เกิดขึ้น แต่เมื่อเผชิญกับปัญหาต้องรู้ถึงแนวทางแก้ไข สถาบันนายช่างดีได้รวบรวมความรู้ที่เป็นประโยชน์จัดทำคู่มือ “ซ่อมบ้านสร้างสุข กับเอสซีจี” โดยนำเสนอในรูปแบบที่เข้าใจง่ายและสามารถนำไปปฏิบัติได้ด้วยตนเอง

ตั้งแต่การตรวจสอบความเสียหาย การประเมิน และดำเนินการปรับปรุงหรือซ่อมแซมที่พักอาศัยได้อย่างถูกต้องเหมาะสม ประกอบด้วยความรู้ที่เกี่ยวข้องกับระบบต่างๆ ภายในที่พักอาศัย ระบบไฟฟ้า และเครื่องใช้ไฟฟ้า ระบบประปาและห้องน้ำ ผนัง ฝ้าเพดาน พื้น ประตู หน้าต่าง และเกร็ดความรู้อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

1.ตรวจสอบสภาพก่อนเข้าบ้าน

ก่อนจะเข้าสำรวจบ้านที่พักอาศัย ต้องสอบถามการไฟฟ้าในพื้นที่ (เบอร์ Call Center การไฟฟ้านครหลวง : 1130 หรือการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค:1129) ว่า ขณะนั้นมีการจ่ายไฟฟ้าในพื้นที่หรือไม่ หากมีการจ่ายไฟฟ้าต้องเพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษ

เตรียมความพร้อมก่อนจะเข้าสำรวจ หากพื้นที่ที่จะเข้าสำรวจยังเจิ่งนองด้วยน้ำต้องสวมใส่รองเท้ายางถุงมือยาง หรือสวมถุงพลาสติกแห้งหลายๆ ชั้น เพื่อป้องกันการถูกไฟฟ้าดูด นอกจากนี้ควรจะเตรียมไฟฉายให้พร้อมเพราะภายในห้องอาจจะมืด และควรมีเพื่อนไปด้วยก็จะเป็นการดี เพื่อช่วยเหลือกันได้ในกรณีฉุกเฉิน ควรระวังและสังเกตว่ามีสัตว์ร้ายที่อาจจะหนีเข้ามาอยู่ในบ้านขณะน้ำท่วม เช่น งู ตะขาบ จระเข้

เมื่อเข้าสำรวจพื้นที่บ้าน หลีกเลี่ยงการเข้าไปในบริเวณที่มีน้ำท่วมขัง โดยเดินอ้อมบริเวณดังกล่าวไป และไปที่แผงไฟฟ้าหลักเพื่อตรวจสอบให้มั่นใจก่อนว่าได้ปิดคัตเอาต์สะพานไฟ หรือเบรกเกอร์หลักที่จ่ายไฟฟ้าเข้าสู่บ้านก่อนอพยพออกจากบ้านแล้วหรือไม่

หากยังไม่ปิดให้ดำเนินการปิดคัตเอาต์ สะพานไฟ หรือเบรกเกอร์หลัก พร้อมทั้งเขียนหรือแขวนป้าย “ห้ามจ่ายไฟ/กำลังสำรวจความเสียหาย” ที่แผงไฟฟ้าหลักของบ้านก่อนทำการสำรวจต่อไป เพื่อป้องกันบุคคลอื่นเข้ามาเปิดคัตเอาต์ สะพานไฟ หรือเบรกเกอร์หลักในขณะที่กำลังดำเนินการตรวจสอบอยู่ และเพื่อเป็นการยืนยันว่าไม่มีกระแสไฟฟ้าภายในบ้านหลังจากปิดคัตเอาต์ สะพานไฟ หรือเบรกเกอร์หลักแล้ว หากมีไขควงวัดไฟฟ้าสามารถทดสอบกระแสไฟฟ้าได้ โดยการแหย่ไขควงวัดไฟฟ้าเข้าไปที่รูเต้าเสียบของปลั๊กไฟฟ้าทีละรูจนครบทั้งสองข้าง