posttoday

เคหะฯยกระดับบ้านคนจน เบอร์ 5 ประหยัดพลังงาน

14 มีนาคม 2562

ปัจจุบันโครงการที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยและปานกลางพบปัญหาด้านการจัดการพลังงาน การใช้น้ำและการกำจัดขยะมูลฝอย

ปัจจุบันโครงการที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยและปานกลางพบปัญหาด้านการจัดการพลังงาน การใช้น้ำและการกำจัดขยะมูลฝอย การเคหะแห่งชาติ จึงร่วมกับหน่วยวิจัยเทคโนโลยีสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ทำการศึกษาโครงการวิจัยแนวทางการออกแบบที่อยู่อาศัยโดยใช้เทคโนโลยีด้านพลังงานน้ำและการกำจัดขยะมูลฝอย เพื่อนำไปใช้ในโครงการที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยและปานกลาง

ธัชพล กาญจนกูลผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ เปิดเผยว่า คณะผู้วิจัยได้ศึกษาโครงการตัวอย่างทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งเก็บรวบรวมข้อมูลจากการสำรวจโครงการที่อยู่อาศัยใน 6 ภูมิภาคทั่วประเทศ ประกอบด้วย โครงการที่อยู่อาศัยภาครัฐ 6 โครงการ ได้แก่ บ้านเอื้ออาทรลาดกระบัง 1 บ้านเอื้ออาทรสมุทรสาคร (บางแก้ว) บ้านเอื้ออาทรชลบุรี (วัดรังษีสุทธาวาส) บ้านเอื้ออาทรขอนแก่น (ศิลา) บ้านเอื้ออาทรเชียงใหม่ (สันป่าตอง) และบ้านเอื้ออาทรภูเก็ต (ถลาง) และโครงการภาคเอกชน 6 โครงการ รวมทั้งสิ้น 450 ตัวอย่าง พบว่าโครงการ
ที่อยู่อาศัยภาครัฐมีการใช้พลังงานโดยเฉลี่ย 60.88 กิโลวัตต์ชั่วโมง/ตารางเมตร (ตร.ม.)/ปี และมีการใช้น้ำเฉลี่ย 6.26 หน่วย/ตร.ม./ปี ติดตั้งเครื่องปรับอากาศร้อยละ 52.58 และมีการแยกขยะร้อยละ 73.23

ขณะที่โครงการภาคเอกชนมีการใช้พลังงานโดยเฉลี่ย 49.16 กิโลวัตต์ชั่วโมง/ตร.ม./ปี และมีการใช้น้ำเฉลี่ย 3.77 หน่วย/ตร.ม./ปี ติดตั้งเครื่องปรับอากาศร้อยละ 67.39 และมีการแยกขยะร้อยละ 67.39 การออกแบบปรับปรุงโครงการเดิมได้คัดเลือกโครงการบ้านเอื้ออาทรลาดกระบัง 1 เป็นที่อยู่อาศัยรวม มีพื้นที่โครงการ 20-0-56 ไร่ จำนวน 1,360 หน่วย โดยการทาสีอาคารใหม่เพื่อเพิ่มค่าการสะท้อนความร้อนของผนังอาคาร ช่วยลดพลังงานไฟฟ้าต่ออาคารได้ 18.94 กิโลวัตต์ชั่วโมง/วัน หรือคิดเป็นเงิน 203.44 บาท/วัน และสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 4,023 kgCo2/year การออกแบบอุปกรณ์บังแดดให้ช่องเปิดกระจกใสของห้องปรับอากาศจากค่า SC=1 เป็น SC=0.7 ช่วยลดพลังงานไฟฟ้าต่ออาคารได้ 1.62 กิโลวัตต์ชั่วโมง/วัน หรือคิดเป็นเงิน 6.02 บาท/วัน และสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 345.01 kgCo2/year การเปลี่ยนหน้าต่างบานเกล็ดเป็นบานเลื่อน ช่วยลดพลังงานไฟฟ้าต่ออาคารได้มากถึง 148.37 กิโลวัตต์ชั่วโมง/วัน หรือคิดเป็นเงิน 550.44 บาท/วัน และสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 31,523 kgCo2/year รวมถึงการติดตั้งพลังงานโซลาร์เซลล์ บนหลังคาเพื่อลดการใช้พลังงานไฟฟ้าในเวลากลางวัน และการออกแบบกิจกรรมเพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตให้แก่ผู้อยู่อาศัยในโครงการ

สำหรับการออกแบบโครงการใหม่ที่ อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม พื้นที่โครงการ 37.73 ไร่ เป็นบ้านแฝดจำนวน 390 หน่วย โดยใช้แนวคิดการวางอาคารตามทิศเหนือ-ใต้ ใช้ไฟถนน LED ระบบพลังงานโซลาร์เซลล์ออกแบบบ้านให้มีชายคาโดยรอบ เพื่อลดความร้อนจาก
ดวงอาทิตย์ ใช้ระบบระบายอากาศภายในบ้าน Active Air Flow

สรุปผลการศึกษาออกแบบโครงการด้วยเกณฑ์ ECO-Village พบว่า โครงการที่ออกแบบสามารถผ่านเกณฑ์ระดับ Silver สำหรับการวิเคราะห์บ้านที่ออกแบบด้วยเกณฑ์ประสิทธิภาพอาคารเบอร์ 5 ได้คะแนนเฉลี่ยรวม 92 คะแนน ทำให้บ้านที่ออกแบบได้ค่าประสิทธิภาพ
เบอร์ 5 ด้านผลการวิเคราะห์เกณฑ์มาตรฐานประสิทธิภาพพลังงานของบ้านอยู่อาศัยพบว่า อาคารที่ออกแบบผ่านเกณฑ์ที่กำหนด โดยการติดตั้งฉนวนใยแก้วหนา 3 นิ้ว บนฝ้าเพดานจะทำให้บ้านที่ออกแบบใช้พลังงานลดลงมากถึงร้อยละ 45.03 สามารถคืนทุนภายใน 5 เดือน 14 วัน การเลือกวัสดุมุงหลังคาสีอ่อนจะช่วยให้บ้านที่ออกแบบใช้พลังงานลดลงร้อยละ 18.37 ถ้าเลือกใช้วัสดุมุงหลังคาสีเข้มบ้านที่ออกแบบจะใช้พลังงานมากขึ้นร้อยละ 18.36 หรือการเลือกติดตั้งเครื่องปรับอากาศที่ได้ฉลากเบอร์ 5 ณ ปีล่าสุดจะทำให้บ้านที่ออกแบบใช้พลังงานลดลงร้อยละ 8.69 หรือเลือกติดตั้งเครื่องปรับอากาศแบบ Inverter ที่ได้ฉลากเบอร์ 5 ณ ปีล่าสุดจะช่วยให้ใช้พลังงานลดลงร้อยละ 20.24

เคหะฯยกระดับบ้านคนจน เบอร์ 5 ประหยัดพลังงาน