posttoday

เอพีปั้นโมเดล รับมือดิจิทัลดิสรัปชั่น

13 กุมภาพันธ์ 2562

ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา จะเห็นความเปลี่ยนแปลงในหลายๆ อุตสาหกรรมถูกดิสรัปชั่น

เรื่อง อรวรรณ จารุวัฒนะถาวร

ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา จะเห็นความเปลี่ยนแปลงในหลายๆ อุตสาหกรรมถูกดิสรัปชั่น บริษัทขนาดใหญ่ผู้เล่นรายเก่าต้องปิดตัวลง ขณะที่ผู้เล่นรายใหม่เกิดขึ้นและเติบโตในระยะเวลาอันรวดเร็ว แม้ขณะนี้ภาวะดิจิทัลดิสรัปชั่นจะยังไม่เกิดกับธุรกิจภาคอสังหาริมทรัพย์ก็ตาม แต่หากปล่อยปละละเลยไม่ปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง ธุรกิจย่อมมีความเสี่ยงต่อการถูกดิสรัปชั่น

อนุพงษ์ อัศวโภคิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอพี (ไทยแลนด์) เปิดเผยว่า บริษัทได้เตรียมตัวพร้อมปรับวิสัยทัศน์ นำองค์กรก้าวสู่ศักราชใหม่ที่มากกว่าธุรกิจพัฒนาอสังหาฯ ด้วยการเป็นรายแรกที่ริเริ่มสร้างสรรค์โลกแห่งคุณภาพชีวิตที่ดี ภายใต้แนวคิด AP World, A New Vision of Quality of Life

หลังจากในปีที่ผ่านมา บริษัทประสบความสำเร็จกับการตอบโจทย์ทุกความต้องการในทุกช่วงชีวิตของผู้บริโภคได้อย่างสมบูรณ์และครบวงจร (Space Expert for Living Satisfaction) จนทำให้คาดการณ์ว่า ในปี 2561 บริษัทจะสามารถสร้างรายได้รวมเติบโตขึ้นราว 30% จากปีก่อนหน้า ส่งผลให้เอพีขยับขึ้นเป็นอันดับ 2 บริษัทพัฒนาอสังหาฯ ที่มีรายได้สูงสุดของตลาด

สำหรับแผนงานในปีนี้ จะเดินหน้าพัฒนาอสังหาฯ เพื่อขาย โดยมีแผนเปิดตัว 39 โครงการใหม่ มูลค่ารวมราว 5.68 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็น คอนโด 5 โครงการ มูลค่ารวม 2.24 หมื่นล้านบาทในนี้เป็นการร่วมทุนกับมิตซูบิชิ เอสเตท กรุ๊ป 3 โครงการ ส่วนโครงการแนวราบมี 34 โครงการ มูลค่ารวม 3.44 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 26% จากปี 2561 มีการเปิดตัว 32 โครงการ มูลค่ารวมราว 4.51 หมื่นล้านบาท

พร้อมกันนี้ ยังได้เปิดตัว 3 ธุรกิจใหม่ (Disruptive Business) ที่นอกเหนือจากธุรกิจอสังหาฯ ซึ่งประกอบด้วย บริษัท วาริ ด้วยทุนจดทะเบียน 30 ล้านบาท ดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการสร้างระบบนิเวศที่สนับสนุนการบริหารจัดการคุณภาพชีวิต โดยจะมีการสร้างแพลตฟอร์ม แอพพลิเคชั่น รวมทั้งหาพาร์ตเนอร์นำเทคโนโลยีต่อยอดแมนเนจเมนต์เซอร์วิส

อีกบริษัทคือ เคลย์มอร์ จัดตั้งขึ้นด้วยทุนจดทะเบียน 5 ล้านบาท เพื่อดำเนินธุรกิจสร้างและผลักดันนวัตกรรมดีไซน์ที่ตอบโจทย์ความต้องการที่ยังไม่ถูกค้นพบ โดยจะมีการสร้างทีมงานคนรุ่นใหม่พัฒนานวัตกรรม หาคอนเทนต์ สร้างสินค้าและบริการให้กับลูกค้า เช่น เพอร์ซันแนลการ์ด เพื่อดูแลความปลอดภัยลูกบ้าน เป็นต้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการทดสอบ อีกทั้งมุ่งเน้นการเป็นอินโนเวชั่นแล็บต่อยอดธุรกิจอสังหาฯ เดิมไปสู่ธุรกิจใหม่ โดยมีเป้าหมายให้นวัตกรรมที่คิดค้นจับต้องได้และใช้งานได้จริง

นอกจากนี้ ยังมีบริษัท เอสอีเอซี (SEAC) ทุนจดทะเบียน 300 ล้านบาท ดำเนินธุรกิจในการดิสรัปวิธีการเรียนรู้ของคนในองค์กรและคนในสังคมด้วยกระบวนการใหม่ๆ ผ่านความร่วมมือจากสถาบันระดับโลก เช่น มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด โดยมุ่งพัฒนาความพร้อม ยกระดับขีดความสามารถของคนให้ก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกวันนี้และในอนาคต ซึ่งจะมีการเปิดตัวในช่วงไตรมาส 2 ปีนี้

ทั้งนี้ งบลงทุนทั้ง 3 บริษัทวางไว้ 3 ปี (2561-2563) รวม 1,000 ล้านบาท โดยใช้ไปแล้วราว 400-500 ล้านบาท สำหรับเทคโนโลยีใหม่จะได้เห็นในไตรมาส 2 หรือไตรมาส 3 ปีนี้ ซึ่งนอกจากจะใช้กับโครงการในบริษัทแล้วยังเปิดให้นำเทคโนโลยีใหม่ไปใช้กับโครงการลูกค้าอื่นๆ ได้อีกด้วย

“3 ธุรกิจใหม่จะเป็นจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญ ที่ช่วยเสริมวิสัยทัศน์ในการส่งมอบคุณภาพชีวิตที่ดีให้ประสบความสำเร็จ เคียงคู่ไปกับบิซิเนสหลัก ทั้งธุรกิจอสังหาฯ และบริษัทในเครือที่จะแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้นและเติบโตแบบก้าวกระโดด โดยตั้งเป้าปี 2565 สามธุรกิจใหม่จะสร้างรายได้ที่ 10% หรือ 6,000 ล้านบาท จากเป้าหมายรายได้รวมที่ 6 หมื่นล้านบาท” อนุพงษ์ กล่าว

อนุพงษ์ กล่าวว่า แม้การแตกไลน์ธุรกิจไม่ใช่ตลาดอสังหาฯ แต่มองว่าตลาดอสังหาฯ ยังเติบโตได้ดีและไปได้อีกไกลจากโครงสร้างพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็นรถไฟฟ้าสายต่างๆ ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลยังไม่อิ่มตัว ความต้องการที่อยู่อาศัยยังมีอีกมาก จากการที่ประเทศไทยก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ แต่เชื่อว่าในอีก 4-5 ปีข้างหน้า อำนาจการซื้อจะเกิดจากกลุ่มวัยทำงานที่เพิ่มขึ้น และเชื่อว่าอสังหาฯ จะขึ้นสู่จุดสูงสุด ทำให้การปรับวิชั่นของบริษัท จึงมุ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพชีวิตไม่ใช่ของผู้อยู่อาศัยเท่านั้น แต่ยังตอบโจทย์สังคมด้วย

ในส่วนของภาพรวมอสังหาฯ ปีนี้ ยังมีปัจจัยเสี่ยงอยู่มากทั้งภายในและนอกประเทศ ทำให้การดำเนินธุรกิจค่อนข้างยาก แต่มองว่าอสังหาฯ จะโตได้นั้นจึงขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจของประเทศ ถ้าเศรษฐกิจดีอารมณ์ผู้บริโภคก็จะดี การทำตลาดไม่เหนื่อยมาก โดยปัจจัยน่าห่วงที่จะกระทบต่อภาคอสังหาฯ คือ เศรษฐกิจไทย การเมือง และเศรษฐกิจระดับโลก

อย่างไรก็ดี แผนเปิดตัวโครงการใหม่ในไตรมาสแรกของปีนี้นั้น เตรียมเปิด 3 โครงการ ได้แก่ โครงการแอสปาย สุขุมวิท-อ่อนนุช มูลค่า 1,600 ล้านบาท โครงการแอสปาย อโศก-รัชดา มูลค่า 2,500 ล้านบาท และโครงการริทึ่ม เอกมัย เอสเตท มูลค่า 3,200 ล้านบาท ซึ่งจะมีการเปิดตัว ริทึ่ม เอกมัย พร้อมเปิดขายในเดือน มี.ค.นี้

ด้านเป้าหมายในปีนี้ บริษัทตั้งเป้ายอดพรีเซลเติบโต 5-10% และคาดการณ์รายได้เติบโต 15% เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว ขณะที่ปัจจุบันมีแบ็กล็อกอยู่ราว 4.12 หมื่นล้านบาท และธุรกิจจะประสบความสำเร็จได้ต้องมีแพลตฟอร์ม คอนเทนต์ โอเปอเรชั่นหลังบ้านที่ดีและผู้นำต้องมีแพสชั่นในเรื่องนั้น

เอพีปั้นโมเดล รับมือดิจิทัลดิสรัปชั่น