posttoday

ภาษีลาภลอยภาระซ้ำซ้อนของคนคอนโด

19 ธันวาคม 2561

ตอนโยกย้ายจากต่างจังหวัดเข้ามาปักหลักอยู่ในเมืองหลวงใหม่ๆ ผมอาศัยห้องเช่าขนาดเล็กเท่ารูหนูเป็นที่กินอยู่หลับนอน

เรื่อง นคร มุธุศรี

ตอนโยกย้ายจากต่างจังหวัดเข้ามาปักหลักอยู่ในเมืองหลวงใหม่ๆ ผมอาศัยห้องเช่าขนาดเล็กเท่ารูหนูเป็นที่กินอยู่หลับนอน ซึ่งโยกย้ายไปทั่วแทบทุกมุมของกรุงเทพมหานคร เหตุเพราะความจำเป็นหลายๆ ประการ ความใฝ่ฝันตอนนั้น อยากมีบ้านเล็กๆ เป็นของตัวเองสักหลังซึ่งเชื่อว่าคนต่างจังหวัดเหมือนผมล้วนมีความรู้สึกนึกคิดไม่ต่างกัน ขยันทำมาหากินจนเก็บหอมรอมริบซื้อบ้านขนาดแมวดิ้นตายได้สมใจ ความฝันมันพุ่งปรี๊ด ถ้าได้เป็นเจ้าของห้องชุดลอยฟ้าในคอนโดติดสถานีรถไฟสักยูนิตจะนั่งจิบกาแฟริมระเบียงชมวิวทิวทัศน์และแสงระยิบระยับยามราตรีตั้งแต่เช้าจรดค่ำ สวรรค์วิมานสัมผัสได้ในชาตินี้

ผมคิดแบบนี้จริงๆ แต่หยิบดินสอกระดาษมาบวกลบคูณหารแล้ว ต่อให้โชคดีถูกลอตเตอรี่รางวัลที่หนึ่งสักใบสองใบก็ยากที่จะถึงฝั่งฝัน

โธ่...ห้องชุดในตึกสูงติดสถานีรถไฟฟ้าเนื้อที่เล็กเท่ารูหนู ราคาปาเข้าไปแปดเก้าล้านยังหายากแสนยาก ถ้าอยากได้สักยูนิตต้องควักแบงก์สีเทาๆ นับจ่าย 20-30 ล้านเป็นอย่างน้อย เพราะเบี้ยน้อยหอยน้อย จึงได้แต่นอนหลับฝัน ของจริงไม่มีโอกาสจับต้องได้ แต่นึกๆ อีกทีถือว่าโชคดี มิฉะนั้นก็ต้องนั่งน้ำตาเช็ดหัวเข่าตกอยู่ในอาการชอกช้ำกะหล่ำปลีเป็นแน่แท้

ไม่ต้องสงสัยว่าเป็นเพราะอะไร ก็ภาษีที่กรมที่ดินจะเรียกเก็บจากผู้ซื้อห้องชุดติดสถานีรถไฟฟ้าในอัตราใหม่ที่เพิ่มขึ้นจากเดิมหลายสตางค์น่ะสิ

เอ๊ะ...ไหงเป็นงั้น คอนโดจะตั้งอยู่ใกล้หรือไกลจากสถานีรถไฟฟ้าไม่เห็นจะต้องเรียกเก็บภาษีเพิ่มตรงไหน เชื่อว่าหลายคนคงตั้งข้อกังขา

นั่นน่ะสิ...แต่ผู้ยกร่างภาษีฉบับนี้เขาแจ้งต้นสายปลายเหตุของการจัดเก็บ สูงขึ้นเนื่องจากรัฐบาลต้องจ่ายเงินลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ เพราะฉะนั้นเจ้าของทรัพย์สินที่ตั้งอยู่ในรัศมีใกล้ชิดสถานีรถไฟฟ้า จะมีมูลค่าเพิ่มสูงมากขึ้น จึงจำเป็นต้องกำหนดอัตราภาษีใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกัน เรียกตามภาษาชาวบ้านให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ “ภาษีลาภลอย” นั่นเอง

แต่จะว่าไปอีกทีก็ไม่ต้องตกอกตกใจ โดยเฉพาะผู้ซื้อห้องชุดลอยฟ้าเท่าแมวดิ้นตายราคาขายแค่สี่ห้าล้านบาท เพราะเขาจะเรียกเก็บกับบ้านติดพื้นดินและกลางอากาศในรายที่มีมูลค่าเกิน 50 ล้านบาทเท่านั้น

อรรถาธิบายแจกแจงให้ยาวๆ ภาษีลาภลอยเกี่ยวข้องกับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ที่รัฐเข้าไปพัฒนาร่วมลงทุน ไม่ว่าจะเป็นการตัดผ่านถนนเส้นทางใหม่ สนามบิน ท่าเรือใหม่และรถไฟฟ้าในเมืองและรถไฟความเร็วสูง ส่งผลให้ที่ดินบริเวณนั้นๆ มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นกลายเป็นทำเลทอง

อย่างเช่น ที่ดินแปลงหนึ่งแปลงใดราคาซื้อขายเดิมอยู่ที่ตารางวาละ 1 แสนบาท ครั้นมีรถไฟฟ้าตัดผ่านส่งผลให้ที่ดินแปลงดังกล่าวมีราคาเพิ่มสูงขึ้นเป็นตารางวาละ 2 แสน ส่งผลให้เจ้าของที่ดินได้รับประโยชน์เต็ม ดังนั้นจึงต้องเสียภาษีในส่วนต่าง 1 แสนบาท/ตารางวา เป็นต้น

จัดเก็บภาษีลาภลอยจากผู้บริโภคที่อยู่อาศัยจะเอาเงินไปไหน หลายคนสงสัย “เปล่าจ่ายเป็นค่าเก๋าเจี๊ยะให้ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่และนักการเมือง แต่จะนำไปใช้ในการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งมวลชนให้เจริญรุดหน้าต่อไป” เขาว่ากันว่าอย่างนั้น

ระยะห่างจากสาธารณูปโภคขนาดใหญ่มีการตั้งกฎกติกาเอาไว้อย่างไร รถไฟฟ้าความเร็วสูง รถไฟฟ้าทางคู่ และรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน รัศมี 2.5 กิโลเมตร จากแนวเขตที่ดินและทางด่วนพิเศษและสนามบินระยะรัศมี 5 กม.

พิศเผินๆ ภาษีที่จัดเก็บใหม่น่าจะสมเหตุสมผล เพราะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นจากลาภลอย แต่เมื่อพินิจพิจารณาให้ดีๆ แล้วจะพบว่ามีการซ้ำซ้อนกับ พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่กำลังจะประกาศบังคับใช้ในอีกปี 2 ปีข้างหน้า นอกจากนั้น ผู้บริโภคบ้าน และห้องชุด ลอยฟ้ายังต้องมีภาระค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูงถึงร้อยละ 7-8 อยู่แล้ว ประกอบด้วย ค่าธรรมเนียมโอน ค่าภาษีธุรกิจเฉพาะ และภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในอนาคตอันใกล้ยังต้องควักกระเป๋าจ่าย “ภาษีทรัพย์สิน” และ “ภาษีลาภลอย” อีก 2 รายการ

ใช่แต่เท่านั้น เพราะยังต้องควักกระเป๋าจ่ายค่าโดยสารรถไฟฟ้าและค่ารถมอเตอร์ไซค์รับจ้างทั้งสถานีต้นและปลายทางอีกวันละกว่าร้อย ชาวบ้านชาวช่องจะแย่เอานะน่ะ

โชคดีที่ นคร มุธุศรี ไม่ได้เป็นเจ้าของห้องชุดติดสถานีรถไฟฟ้ากับเขา