posttoday

เทรนด์นวัตกรรมไฮเทค ปี’62 ที่อยู่อาศัยแข่งเดือด

10 ธันวาคม 2561

เทรนด์ที่อยู่อาศัยในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ตลอดปี 2561 ในเรื่องของทำเลแล้ว

เรื่อง อรวรรณ จารุวัฒนะถาวร

เทรนด์ที่อยู่อาศัยในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ตลอดปี 2561 ในเรื่องของทำเลแล้วยังเห็นการเติบโตที่ดีตามแนวรถไฟฟ้าสายหลักโดยเฉพาะคอนโดมิเนียม ซึ่งหากเป็นกลางใจเมืองก็ราคาสูงกว่า 2 แสนบาท/ตารางเมตร (ตร.ม.) ในส่วนโครงการที่ตั้งอยู่ชานเมืองหรือส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าก็จะมีราคาอยู่ที่ต่ำกว่า 1 แสนบาท/ตร.ม. เป็นส่วนใหญ่ นอกจากนี้ยังพบว่า ขนาดห้องของคอนโดมีขนาดเล็กลงโดยคอนโด 1 ห้องนอน ขนาดเริ่มต้น 28 ตร.ม. มีสัดส่วนถึง 80% ทำให้อุปทานคอนโดเพิ่มขึ้นในอัตราที่ค่อนข้างสูงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่ปีนี้เริ่มเห็นความต้องการห้องขนาดใหญ่ขึ้นคือ 1 ห้องนอน เริ่มต้นที่ 30 ตร.ม.ขึ้นไป เพราะสามารถอยู่ได้จริง

ขณะที่บ้านแนวราบมีหลากหลายเซ็กเมนต์หลายระดับราคา โดยปีนี้ตลาดมีการเปิดตัวบ้านหรูหลายโครงการจากบิ๊กเนมรวมทั้งผู้ประกอบการหน้าใหม่ที่รุกเจาะพื้นที่ตามซอยในย่านศูนย์การธุรกิจ (ซีบีดี) ทั้งนี้เทรนด์ที่เห็นคือมีทั้งบ้านระดับลักซ์ชัวรี่แบบเน้นการพัฒนาในแนวราบและบ้านระดับลักซ์ชัวรี่แบบเน้นการพัฒนาในแนวสูง

อย่างไรก็ดี แม้รูปแบบภายนอกจะแตกต่างกัน แต่ขนาดที่ดินและทำเลที่ตั้งโครงการหากเมื่อเปรียบเทียบแล้วขนาดพื้นที่ใช้สอยยังคงมีขนาดใกล้เคียงกันโดยปัจจัยด้านราคาที่ดินยังคงเป็นปัจจัยสำคัญยิ่งต่อการพัฒนารูปแบบบ้าน นอกจากนี้ตลาดทาวน์โฮมระดับราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท ยังคงมีการเติบโตที่ดีในชานเมืองเพราะส่วนใหญ่ซื้อเป็นบ้านหลังแรก

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องสำหรับการพัฒนาที่อยู่อาศัยในยุคดิจิทัลก็คือ โครงการอสังหาริมทรัพย์ได้นำเทคโนโลยีและนวัตกรรม พร้อมพัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อให้การใช้ชีวิตของผู้อยู่อาศัยมีความสะดวกสบายและปลอดภัยตอบสนองกับไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปมาเป็นจุดขายในการพัฒนาโครงการ ไม่ว่าจะเป็นระบบสั่งการหรือการให้บริการผ่านโมบายแอพพลิเคชั่นต่างๆ สมาร์ทโรบอท เป็นต้น ที่ในอนาคตอันใกล้เรื่องนวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) จะถูกนำมาใช้เพื่อเพิ่มมูลค่าและสร้างการแข่งขันมากขึ้น

วรวุฒิ กาญจนกูล เลขาธิการสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน กล่าวว่า เทรนด์ตลาดสร้างบ้านเองในปี 2562 เชื่อว่า แนวโน้มตลาดบ้านสำหรับผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้น ขณะที่การให้ความสำคัญกับเรื่องของการประหยัดพลังงานและการใช้เทคโนโลยีจะมีความต้องการที่เพิ่มขึ้นตามพฤติกรรมผู้บริโภครุ่นใหม่ โดยขนาดบ้านจะกะทัดรัดแต่ฟังก์ชั่นอเนกประสงค์ปรับเปลี่ยนได้ การออกแบบดีไซน์ต้องตรงใจลูกค้า อีกทั้งการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาช่วยเสริมระบบก่อสร้าง ซึ่งจะช่วยให้สามารถแข่งขันในตลาดได้แทนการแข่งขันด้านราคา

ทั้งนี้ จะเห็นว่ามีการนำระบบพรีแฟบหรือโครงสร้างสำเร็จรูปมาใช้ก็เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคทั่วประเทศแล้ว สังเกตได้จากการที่ดีเวลลอปเปอร์และบริษัทรับสร้างบ้านชั้นนำหันมาใช้ระบบดังกล่าว ต่างมีมูลค่าแชร์ส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นและขยายตลาดได้ทั่วประเทศ ทั้งนี้ระดับราคา 3-5 ล้านบาท ยังมีสัดส่วนในตลาดมากสุดเกิน 50%

เทรนด์นวัตกรรมไฮเทค ปี’62 ที่อยู่อาศัยแข่งเดือด

สิทธิพร สุวรรณสุต นายกสมาคมไทยรับสร้างบ้าน กล่าวว่า เทรนด์ในการสร้างบ้านจะแบ่งตามพฤติกรรมของผู้บริโภคและตามระดับราคาสร้างบ้าน เช่น กลุ่ม 2-5 ล้านบาท จะเน้นเรื่องรูปแบบบ้านและดีไซน์สวยงาม คุณภาพวัสดุ ฝีมือและผลงานก่อสร้าง ขณะที่กลุ่มบ้านราคา 5-10 ล้านบาท จะแข่งขันของรูปแบบฟังก์ชั่น ดีไซน์ คุณภาพวัสดุ หรือแม้แต่การสร้างจุดขายเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม เช่น ในเรื่องของบ้านประหยัดพลังงาน การใช้เทคโนโลยีก่อสร้าง รวมทั้งวัสดุอุปกรณ์เสริมภายในบ้าน เช่น ระบบระบายอากาศ ระบบโฮมออโตเมชั่น รวมถึงมีบริการออกแบบตกแต่งภายใน จัดสวน ไว้รองรับหากผู้บริโภคมีความต้องการ ฯลฯ เป็นต้น

ในส่วนของกลุ่มบ้านราคา 10 ล้านบาทขึ้นไป ซึ่งเป็นกลุ่มนิชมาร์เก็ตมีกำลังซื้อและราคาต่อหน่วยสูง ผู้ประกอบการที่แข่งขันในตลาดนี้จะไม่เน้นแข่งขันราคา แต่จะเน้นในเรื่องของดีไซน์และฟังก์ชั่นที่ตอบโจทย์เฉพาะไลฟ์สไตล์ เน้นภาพลักษณ์ความน่าเชื่อถือ การให้บริการแบบวันสต๊อปเซอร์วิสเบ็ดเสร็จทั้งงานออกแบบ และแลนด์สเคป

จิรพัฒน์ จันทร์เจิดศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่เทคโนโลยี บริษัท สิริ เวนเจอร์ส กล่าวว่า ผู้พัฒนาอสังหาฯ ยังคงให้ความสำคัญกับเรื่องเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อการอยู่อาศัยทั้งนี้ก็เพื่อต้องการตอบโจทย์ความต้องการลูกค้าให้เกิดความพึงพอใจสูงสุด

ทั้งนี้ บริษัทได้มีการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมของสตาร์ทอัพรายต่างๆ ที่ได้เข้าลงทุน นำร่องใช้กับโครงการที่อยู่อาศัยของแสนสิริ เช่น กังหันลมพลังงานไฟฟ้าสำหรับที่อยู่อาศัย การแอพพลิเคชั่นสำหรับตรวจสอบงานก่อสร้าง 3 มิติแบบเรียลไทม์มาควบคุมคุณภาพ การพัฒนาเอไอที่สั่งงานด้วยเสียงในแสนสิริ โฮม เซอร์วิสแอพพลิเคชั่น เป็นต้น ซึ่งในปีหน้าจะมีการต่อยอดนวัตกรรม เช่น การยกระดับหุ่นยนต์แสนดี ให้สามารถบริการได้มากกว่าการช่วยส่งพัสดุ เป็นต้น

อย่างไรก็ดี ด้วยพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การคาดเดาความต้องการของลูกค้าจึงไม่สามารถใช้ได้กับการแข่งขันของนักพัฒนาโครงการในปัจจุบัน ดังนั้นบิ๊กดาต้าจึงกลายเป็นเครื่องมือที่สำคัญที่จะทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจสามารถวิเคราะห์และสร้างสรรค์บริการพร้อมนำเสนอดีไซน์และฟังก์ชั่นการใช้งานที่เหมาะสมเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้ารายบุคคลหรือกลุ่มเป้าหมายได้นั่นเอง