posttoday

เอกชนวอนแบงก์ชาติ ผ่อนกฎคุมสินเชื่อบ้าน

15 ตุลาคม 2561

หลังจากที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดรับฟังความคิดเห็นกับร่างหลักเกณฑ์สินเชื่อที่อยู่อาศัย

โดย...โชคชัย สีนิลแท้

หลังจากที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดรับฟังความคิดเห็นกับร่างหลักเกณฑ์สินเชื่อที่อยู่อาศัย ตั้งแต่วันที่ 11-22 ต.ค.2561 ก่อนที่จะประกาศออกมาเป็นมาตรการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยใหม่ โดยจะบังคับให้ธนาคารพาณิชย์ ต้องกำหนดเงินดาวน์บ้านสัญญาที่ 2 หรือบ้านที่มีราคา 10 ล้านบาทขึ้นไปต้องวางเงินดาวน์ไม่ต่ำกว่า 20% ซึ่งผู้ประกอบการอสังหาฯ ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยและต้องการให้ ธปท.ผ่อนเกณฑ์คุมสินเชื่อ พร้อมกับเลื่อนเวลาบังคับไปเป็นกลางปี 2562 และบังคับใช้กับสัญญากู้หลังที่ 3

อาภา อรรถบูรณ์วงศ์ นายกสมาคมอาคารชุดไทย กล่าวว่า จากนโยบายการกำกับดูแลสินเชื่อที่อยู่อาศัยของ ธปท.ออกมาตรการลดเพดานการปล่อยสินเชื่อตามมูลค่าหลักประกัน (LTV) จาก 90% เหลือ 80% ส่งผลกระทบต่อลูกค้าซื้อที่อยู่อาศัยอย่างมากเพราะต้องเพิ่มเงินดาวน์เป็น 100%

ดังนั้น ทางสมาคมอาคารชุดจึงเสนอ 5 มาตรการ ได้แก่ 1.เข้มงวดกับธนาคารพาณิชย์ ในการปล่อยสินเชื่อภายใต้กฎ LTV เดิมให้มีประสิทธิภาพไปก่อน 3-6 เดือน เพราะการแข่งขันของธนาคารพาณิชย์มีสูงจึงทำให้กฎเกณฑ์เดิมหย่อนยานไป 2.หากต้องปรับลด LTV ควรดำเนินการเป็นขั้นบันได ให้ผู้ซื้อได้รับรู้มาตรการล่วงหน้า โดยเฉพาะผู้มีรายได้ระดับกลาง-ล่าง เพื่อประกอบการตัดสินใจว่าจะซื้อที่อยู่อาศัยหรือไม่หากมีเงื่อนไขใหม่ เพราะการสร้างที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะคอนโดมิเนียมใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี ส่วนผู้ซื้อมีเวลา 2 ปี จึงขอเวลา 1-1 ปีครึ่งเพื่อรู้ตัวว่าควรจะซื้อหรือปรับตัว

3.หากต้องลด LTV หลังที่ 2 ขอให้เว้นมาตรการกับอสังหาฯ ในเขตกรุงเทพฯ เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เนื่องจากจะมีคนย้ายไปอยู่อีกมาก 4.ควรปรับลด LTV สัญญากู้หลังที่ 3 เฉพาะผู้ที่มีหนี้สินเชื่อบ้านที่เหลืออยู่ 5.ผู้ที่ซื้อบ้านหลังที่ 2-3 ยังคงใช้เกณฑ์ LTV เดิมจาก ณ วันทำสัญญาซื้อที่อยู่อาศัย

นอกจากนี้ ต้องการให้ ธปท.และธนาคารพาณิชย์แยกสินเชื่อบุคคล ค่าประกันชีวิต เช่นกู้ 2 ล้านบาทต้องมีค่าประกันชีวิต 3 แสนบาท รวมเข้าไปเป็น 2.3 ล้านบาท ซึ่งไม่เป็นธรรม เนื่องจากส่วนที่เป็นบ้านจะถูกลดทอนในการกู้ต่ำกว่าความเป็นจริง โดยต้องแยกสินเชื่อบุคคล สินเชื่ออเนกประสงค์ หรือสินเชื่อที่ใช้บ้านหรือที่อยู่อาศัย

เอกชนวอนแบงก์ชาติ ผ่อนกฎคุมสินเชื่อบ้าน

อธิป พีชานนท์ นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร กล่าวว่า ธปท.ควรระบุคำจำกัดความของบ้านหลังที่ 2 ให้ชัดเจน กล่าว คือ 1.ควรเป็นกรณีที่ผู้ซื้อมีสัญญาสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยกับสถาบันการเงิน ในขณะปัจจุบันอยู่แล้ว 1 สัญญา และต้องการจะขอกู้เพิ่มอีก 1 สัญญาสินเชื่อเพื่อไม่ให้เกิดความสับสนกับความหมายที่เคยถูกใช้เรียกคำว่าบ้านหลังที่ 2 ที่หมายถึงผู้ซื้อมีกรรมสิทธิ์ในบ้านหลังที่ 1 ไม่ว่าจะปลอดภาระสินเชื่อหรือไม่ก็ตาม

2.ต้องสร้างความเข้าใจที่ชัดเจน กรณีที่สัญญาสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยที่มีอยู่ในปัจจุบันมีผู้กู้ร่วมอยู่มากกว่า 1 คน ผู้กู้ร่วมหรือผู้ค้ำประกันคนที่ 2 หรือคนถัดไปจะถูกนับว่าเป็นผู้กู้ในสัญญาแรก และเสียโอกาสในการทำสัญญาสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย เพื่อซื้อเป็นของตนเองโดยถูกนับเป็นสัญญาสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย เพื่อซื้อเป็นของตนเองโดยถูกนับเป็นสัญญาสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลังที่ 2 หรือไม่

3.เสนอให้ใช้มาตรการกับสัญญาสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยในบ้านหลังที่ 3 เนื่องจากผู้ซื้อเดิมมีบ้านซึ่งยังผ่อนอยู่แต่อยู่ชานเมือง เมื่อมีการสร้างรถไฟฟ้าและมีโครงการคอนโดมิเนียมเกิดขึ้นในพื้นที่ใกล้รถไฟฟ้าหรือใกล้ที่ทำงานหรือสถานศึกษาของลูกหลาน ต้องการซื้อเพื่อความสะดวกในการมาทำงานหรือส่งบุตรหลาน

นอกจากนี้ ต้องการขยายระยะเวลาการใช้มาตรการออกไปอย่างน้อยควรจะเริ่มวันที่ 1 ก.ค. 2562 เพื่อให้มีเวลาตั้งตัว เนื่องจากประชาชนต้องเดือดร้อนจากสัญญากู้หลังที่ 2 ที่จะได้รับผลกระทบกับตลาดคอนโดที่มีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 3 แสนล้านบาท หากจะเริ่มบังคับใช้มาตรการดังกล่าวในวันที่ 1 ม.ค. 2562

โอภาส ศรีพยัคฆ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ กล่าวว่าการที่ทาง ธปท.ประกาศมาตรการดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าจะบังคับใช้อย่างแน่นอนซึ่งที่ผ่านมาธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่ก็คุมเข้มในการปล่อยสินเชื่อ คือ ปล่อยกู้ไม่ให้เต็มวงเงิน โดยเฉพาะผู้กู้ซื้อที่อยู่อาศัยระดับกลาง-ล่าง

ขณะเดียวกันปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนยังปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโดยรวมในช่วงเวลานี้ยังไม่ดีนัก อย่างไรก็ดี ยังมีความหวังว่าหลังจากที่รัฐบาลประกาศแล้วว่าจะมีการเลือกตั้งจริงในปี 2562 เชื่อว่าจะส่งผลดีต่อภาวะเศรษฐกิจไทย