posttoday

"เอพี" ปรับโมเดลคอนโด ชูเทคโนโลยีเสริมแกร่ง

11 มิถุนายน 2561

"เอพี"ปรับโมเดลคอนโด นำนวัตกรรมเทคโนโลยี AI BIM เสริมระบบออกแบบก่อสร้างอาคารสูงสร้างความคุ้มค่าและลดใช้แรงงาน

"เอพี"ปรับโมเดลคอนโด นำนวัตกรรมเทคโนโลยี AI BIM เสริมระบบออกแบบก่อสร้างอาคารสูงสร้างความคุ้มค่าและลดใช้แรงงาน

*************************

โดย...อรวรรณ จารุวัฒนะถาวร

ปัจจุบันบิ๊กเนมอสังหาริมทรัพย์ได้ให้ความสำคัญกับพัฒนาเทคโนโลยีด้านการก่อสร้างมากขึ้น นอกเหนือจากการรังสรรค์โปรดักต์ที่แตกต่างไปจากคู่แข่ง ทั้งนี้การพัฒนาแนวทางการออกแบบ การก่อสร้างที่มีประสิทธิภาพ ประหยัดพลังงาน ถือว่าเป็นการปรับตัวและเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยสร้างความยั่งยืนให้กับองค์กรในอนาคต

วิทการ จันทวิมล รองกรรมการ ผู้อำนวยการ สายงานธุรกิจคอนโดมิเนียม บริษัท เอพี (ไทยแลนด์) เปิดเผยว่า บริษัทได้ให้ความสำคัญเรื่องของนวัตกรรมกับการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์มาอย่างต่อเนื่อง โดยหนึ่งในนวัตกรรมที่บริษัทประสบความสำเร็จกับโครงการแนวราบ ก็คือนำเทคโนโลยี AI BIM (Artificial Intelligence Building Information Modeling) มาใช้สำหรับออกแบบงานก่อสร้าง

ทั้งนี้ นวัตกรรมดังกล่าวอาจไม่ใช่สิ่งประดิษฐ์ใหม่ล่าสุดที่เกิดขึ้นครั้งแรกในอุตสาหกรรม แต่ความสำเร็จของนวัตกรรม คือ การสร้าง “กระบวนการ” คิดเพื่อเข้าถึงการเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคที่ซับซ้อนมากขึ้นเพื่อนำไปสู่วิถีชีวิตใหม่อย่างยั่งยืน โดยที่ผ่านมาการพัฒนาสินค้าทั้งแนวราบและแนวสูง บริษัทได้นำแนวคิด Stanford Design Thinking มาใช้เพื่อค้นหาความต้องการแฝงของผู้บริโภคในอนาคต

สำหรับปีนี้บริษัทจะนำเทคโนโลยี AI BIM มาใช้กับโครงการแนวสูงอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งทีมคอนโดได้นำมาประยุกต์ใช้ให้เห็นผลและเกิดขึ้นจริงอย่างเร่งด่วนนั้น คือ การปรับกระบวนการก่อสร้างคอนโดโดยใช้เทคโนโลยีการออกแบบงานก่อสร้างอัจฉริยะ 7 มิติ ซึ่งคิดค้นขึ้นโดยศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัย Stanford มาใช้อย่างครบวงจรเป็นรายแรกในประเทศไทย โดยจุดต่างของ AI BIM คือ มิติที่ 7 ที่ครอบคลุมไปถึงกระบวนการบริหารจัดการอาคาร (AI BIM for Facility Management) ที่จะเป็นฐานข้อมูลสำคัญในการสืบค้นงานระบบและงานโครงสร้างทั้งหมด เพื่อการซ่อมบำรุงและรักษาสภาพของอาคารให้สมบูรณ์อย่างรวดเร็วและแม่นยำ

วิทการ กล่าวเพิ่มเติมว่า การที่บริษัทนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้ในกระบวนการพัฒนาคอนโดตั้งแต่วันแรก หรือ Day 1 นั้น สิ่งที่ได้รับเมื่อนำระบบนี้มาใช้ต่างจากการพัฒนาแบบเดิมๆ คือ จะเป็นการยกระดับทั้งกระบวนการพัฒนาคอนโด เพิ่มความถูกต้อง ความแม่นยำ และเพิ่มคุณภาพงานก่อสร้าง นับตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบ การวางแผนงาน การคำนวณงบประมาณ การวิเคราะห์การใช้พลังงานเพื่อการส่งมอบอาคารสูงที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และที่สำคัญที่สุด คือ การดูแลบริหารจัดการอาคารหลังการมอบ ซึ่งกระบวนการ AI BIM จะเป็นการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่ง AI BIM จะเป็นอีกก้าวสำคัญในการยกระดับวงการอสังหาฯ ไทย สู่การส่งมอบสินค้า บริการ ตลอดจนการดูแลหลังการขายที่เสริมสร้างความสะดวก สบาย และปลอดภัย

นอกจากนี้ เทคโนโลยีดังกล่าวยังจะช่วยลดความซ้ำซ้อนของการทำงานได้อย่างเต็มที่ ส่งผลให้ได้คอนโดมีคุณภาพและสามารถตรวจสอบย้อนหลังได้อย่างถูกต้องแม่นยำ เนื่องด้วยข้อมูลทุกอย่างจะถูกอัพขึ้นระบบคลาวด์ โดยที่หน่วยงานทุกฝ่ายสามารถตรวจสอบย้อนหลังได้ตลอดเวลา

ขณะเดียวกันกระบวนการออกแบบงานก่อสร้างผ่านแบบจำลอง 7 มิติ ทำให้ทีมงานสามารถตรวจสอบและแก้ไขไปพร้อมกันได้ ทั้งงานสถาปัตยกรรม วิศวกรรม งานระบบสาธารณูปโภค สาธารณูปการ และครอบคลุมไปถึงกระบวนการบริหารจัดการอาคาร ทำให้สามารถทำการซ่อมบำรุงและรักษาสภาพของอาคารให้สมบูรณ์อย่างรวดเร็ว โดยสามารถประชุมเพื่อแก้ไขปัญหาผ่านทางเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์แบบไม่ต้องใช้พิมพ์เขียว ซึ่งโครงการเก่าจะประสบปัญหาเมื่อต้องการแก้ไขซ่อมบำรุงรักษาอาคารทำได้ยากเพราะหาพิมพ์เขียวไม่เจอ

อย่างไรดี จากการวิเคราะห์ของ อีไอซี ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า เทคโนโลยี BIM จะเป็นปัจจัยหนึ่งนอกเหนือจาก Prefabs และ Construction Robotics ที่มีโอกาสเข้ามาพลิกโฉมอุตสาหกรรมก่อสร้าง เนื่องจาก BIM เทคโนโลยีต้นทุนต่ำ คุ้มค่า แต่ยังมีอุปสรรคด้านทักษะของพนักงานและการปรับระบบทั้งหมดให้สอดคล้องกันทั้ง Value Chain ทำให้เกิดความลังเลในการนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้ อย่างไรก็ตาม จากงานวิจัยของ Autodesk พบว่าการนำ BIM มาประยุกต์ใช้ยังช่วยลดระยะเวลาที่ใช้ในขั้นตอนการออกแบบได้ถึง 30% และลดปริมาณแรงงานในไซต์ก่อสร้างลงได้ราว 25%

ทั้งนี้ หากผู้ประกอบการต้องการลงทุนในเทคโนโลยีนี้ต้องลงทุนใน 2 ด้าน คือ ซอฟต์แวร์ BIM และการฝึกอบรมบุคลากร ซึ่งมีต้นทุนราว 2.5 แสนบาท/ซอฟต์แวร์ และ 3 หมื่นบาท/หลักสูตร อาทิ ผู้ประกอบการพัฒนาโครงการมูลค่า 100-1,000 ล้านบาท BIM จะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายได้ถึง 1-8.5 เท่าของมูลค่าการลงทุนใน BIM

ขณะเดียวกันถึงแม้ BIM จะมีประโยชน์คุ้มค่าต่อการลงทุน แต่การใช้ BIM ในไทยยังจำกัดอยู่เพียงผู้ประกอบการรายใหญ่เท่านั้น เนื่องจากต้องอาศัยการฝึกอบรมพนักงานและต้องเปลี่ยนจากระบบการจัดเก็บเอกสารในรูปแบบกระดาษมาเป็นแบบดิจิทัลซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายนัก รวมทั้งความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องใน Value Chain ให้ปรับเปลี่ยนมาใช้ระบบดังกล่าวอีกด้วย

ในยุคดิจิทัลเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในอุตสาหกรรมก่อสร้างมากขึ้น ดังนั้นดีเวลลอปเปอร์ควรศึกษาข้อดีข้อเสียของแต่ละเทคโนโลยี เพื่อปรับตัวนำเทคโนโลยีเหล่านี้มาใช้ให้เกิดประสิทธิภาพสูงที่สุด