posttoday

บ้านน่าอยู่ของผู้สูงวัย

17 พฤษภาคม 2561

บ้านน่าอยู่ของเรา กับบ้านน่าอยู่ของผู้สูงวัย อาจไม่ใช่บ้านหลังเดียวกัน

เรื่อง บีเซลบับ ภาพ เอพี

บ้านน่าอยู่ของเรา กับบ้านน่าอยู่ของผู้สูงวัย อาจไม่ใช่บ้านหลังเดียวกัน สำรวจผู้สูงวัยในบ้านและความจำเป็นสำหรับการใช้ชีวิตในบ้านของบรรดาผู้สูงอายุแล้ว มองให้ง่ายก็ง่าย มองให้ไม่ง่าย ก็ยากเอาเรื่อง แต่ไม่ว่าจะอย่างไร โจทย์คือคุณภาพชีวิตและความสุขในชีวิตบั้นปลายของท่าน คุณรู้คำตอบดีอยู่แล้วว่า จะต้องทำอย่างไร!

นอกเหนือไปจากทรัพย์สินเงินทอง ความรักความห่วงใยและไลน์สวัสดีกันทุกวันแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่เราจะทำให้ได้ คือ การสร้างบ้านให้เหมาะสมแก่วัยของท่าน เพราะผู้สูงอายุนั้นเอาเข้าจริงๆ แล้วก็ “บ้าน” นี่แหละที่ใช้เป็นที่พำนักแหล่งสุดท้าย ชีวิตส่วนใหญ่ของผู้สูงวัยอยู่ในบ้าน

ภัยสำคัญของคุณปู่คุณย่าคุณตาคุณยาย คือ การหกล้ม เนื่องจากสภาพร่างกายผู้สูงอายุไม่เอื้อต่อการฟื้นฟู โดยเฉพาะในส่วนของกล้ามเนื้อ กระดูกและข้อ รวมถึงภาวะการทรงตัว ข้อมูลจากสำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ระบุถึงข้อมูลที่น่าตกใจว่า บ้านคือสถานที่เกิดเหตุของการหกล้มในผู้สูงอายุที่สำคัญที่สุด

สาเหตุแห่งการหกล้ม มีทั้งสาเหตุที่ป้องกันไม่ได้จากอาการวิงเวียนศีรษะจึงเสียการทรงตัว และสาเหตุที่ป้องกันได้จากการจัดสภาพบ้านเรือน สภาพบ้านที่ไม่เหมาะสม เป็นเหตุให้ผู้สูงวัยในบ้านหกล้มได้ง่ายๆ “บ้านน่าอยู่ของผู้สูงวัย” ในวันนี้ จึงมาพร้อมการชี้จุดอันตรายในบ้านว่าอยู่ที่ไหน

ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า จุดอันตรายในบ้านที่สำคัญที่สุดสำหรับผู้สูงอายุ คือ บันไดและพื้นที่ไต่ระดับลดหลั่น รวมทั้งห้องน้ำ ห้องครัว และทางเดินเข้าบ้าน ซึ่งเป็นจุดเสี่ยงที่ลดหลั่นตามกันมาตามลำดับ ใครที่มีผู้สูงอายุในบ้าน ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป จึงอยู่ในข่ายควรระวัง

ข้อแนะนำในการสร้างและปรับปรุงที่อยู่อาศัยให้เหมาะสมแก่ผู้สูงวัย

1.ผู้ได้ชื่อว่าสูงวัยทุกคน ควรจะอาศัยอยู่ในบ้านชั้นเดียว ไม่ต้องใช้บันไดและมีพื้นบ้านเสมอกัน กรณีที่มีบ้านเป็น 2 ชั้น หรือมากกว่า อาจต้องปรับเปลี่ยนและเคลื่อนย้ายข้าวของต่างๆ เพื่อให้ผู้สูงอายุได้ใช้ชีวิตอยู่ในบ้านชั้นล่าง

2.กรณีที่เป็นบ้านเล่นระดับ ควรปรับพื้นที่ใหม่ให้เป็นพื้นระดับเดียวกัน ดัดแปลงสภาพบ้านให้เหมาะสม เพื่อตอบโจทย์ความปลอดภัยของผู้ใช้ชีวิต(สว.)ในบ้าน

3.ถ้าสภาพบ้านบังคับให้ผู้สูงวัยยังต้องใช้บันไดขึ้นลง ก็ต้องดูแลให้มีราวเกาะบันไดที่จับ (ผู้สูงวัยสามารถจับได้) ถนัดมือ ไฟบันไดต้องสว่างเพียงพอ ไม่วางข้าวของเกะกะบันได หมั่นเช็ดถูให้แห้งและดูให้แข็งแรงปลอดภัย

4.ห้องน้ำ ต้องดูให้ความปลอดภัยมาเป็นอันดับหนึ่ง จำไว้ว่าพื้นห้องน้ำต้องแห้ง ต้องไม่ลื่นเฉอะแฉะ ออกแบบให้มีการลาดเทของพื้นที่อย่างเหมาะสมรวมทั้งหมั่นเช็ดถูพื้นให้แห้งสะอาดดี สุขภัณฑ์การลุกนั่งต้องมีราวจับ

5.ทางเดินเข้าบ้าน ถ้ามีระดับสูงกว่าพื้นถนน ควรทำเป็นทางลาด และมีราวเกาะเพื่อความสะดวกในการเดินหรือใช้รถเข็น

6.จากการสำรวจยังพบความจริงอันตกใจว่า ทุกวันนี้ผู้สูงอายุในประเทศไทยมากกว่าครึ่ง! ใช้ชีวิตในบ้านที่ขาดการจัดสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ส่งผลให้มากกว่าครึ่งที่ยังต้องใช้ชีวิตท้าทายชะตากรรม การเผชิญความเสี่ยงขั้นเลวร้ายนี้ ย่อมไม่ส่งผลลัพธ์ที่ดีไปได้ เพราะนั่นหมายถึงผู้สูงอายุจำนวนมากที่อาจต้องประสบเหตุร้ายแรงถึงขั้นพิการไปตลอดชีวิตที่เหลือ หรือในบางรายก็เสียชีวิตได้ทุกเวลานาที

7.บ้านน่าอยู่ของผู้สูงวัย ไม่ใช่บ้านที่หรูหรา แต่คือบ้านที่ออกแบบโดยคำนึงถึงการใช้ชีวิตประจำวันของผู้ชราวัย ต้องดูแลกันให้ถึงที่สุด

มีสมาชิกในบ้านเป็นผู้สูงวัยมีข้อดี อย่างน้อยที่สุดเขามีประสบการณ์ความรู้ ผ่านร้อนผ่านหนาว ซึ่งผู้มาก่อนก็ย่อมบอกทางแก่ผู้มาหลัง ที่สำคัญที่สุดก็พ่อแม่และญาติผู้ใหญ่ของเรานี้เอง ที่มุ่งหวังจะให้เราได้ประสบพบเจอแต่สิ่งที่ดี

เพียงแค่นี้ก็เต็มใจปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงบ้านให้น่าอยู่สำหรับผู้สูงวัยแล้วใช่มั้ยล่ะ!