posttoday

สร้างบ้านรุกปรับตัว แรงงานดันต้นทุนพุ่ง

16 พฤษภาคม 2561

แนะธุรกิจรับสร้างบ้านปรับกลยุทธ์รับมือค่าแรงงานเพิ่ม แรงงานกัมพูชากลับประเทศส่งผลขาดแคลน

โดย...อรวรรณ จารุวัฒนะถาวร

ปฏิเสธไม่ได้ว่าภาคการก่อสร้าง รวมทั้งธุรกิจรับสร้างบ้าน เรื่องของแรงงานเป็นปัจจัยสำคัญที่อาจส่งผลกระทบต่อภาพรวมธุรกิจหากเมื่อแรงงานขาดแคลน ขณะที่อัตราค่าแรงงานมีการปรับขึ้น แน่นอนต้นทุนสร้างบ้านย่อมเพิ่มขึ้นตาม ซึ่งภาระไม่ใช่แค่เฉพาะผู้ประกอบการแต่ท้ายสุดตกที่ผู้บริโภค

สิทธิพร สุวรรณสุต นายกสมาคมไทยรับสร้างบ้าน เปิดเผยว่า นับวันปัญหาแรงงานขาดแคลนและค่าจ้างแรงงานที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการรับสร้างบ้าน และหากรายใดไม่ ปรับตัวให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ดังกล่าว เชื่อว่าการดำเนินธุรกิจหรือผลประกอบการก็จะค่อยๆ ถดถอยลงหรือรับงานได้น้อยลง และอาจถึงขั้นจะต้องออกจากธุรกิจนี้ไป เพราะการดำเนินธุรกิจและแข่งขันจะยากลำบากมากขึ้น

ทั้งนี้ จากการที่นายกรัฐมนตรีกัมพูชาได้ออกมาเรียกร้องให้แรงงานชาวกัมพูชาที่กำลังทำงานอยู่ในประเทศไทย ให้เดินทางกลับไปทำงานในบ้านเกิด เนื่องจากกัมพูชาขาดแคลนแรงงานเป็นอย่างมาก เหตุเพราะมีโครงการลงทุนต่างๆ เกิดขึ้นใหม่จำนวนมาก เชื่อว่าจะเกิดแรงกระเพื่อมกับชาวกัมพูชาที่เข้ามาค้าแรงงานในไทย

อย่างไรก็ดี หากแรงงานกัมพูชาส่วนหนึ่งเดินทางกลับตามคำเรียกร้อง ปัญหาแรงงานก่อสร้างขาดแคลนก็จะทวีความรุนแรงมากขึ้น การปรับค่าจ้างแรงงานเพิ่มสูงขึ้นเพื่อแย่งชิงแรงงานก็จะย้อนกลับมาเกิดขึ้นอีก เนื่องจากปัจจุบันและในอนาคตพฤติกรรมหรือสิ่งที่ผู้บริโภคต้องการ การตอบสนองจากสินค้าและบริการ คือ คุณภาพ สะดวก และรวดเร็ว ซึ่งการก่อสร้างรูปแบบเดิมๆ ไม่ตอบโจทย์และควบคุมได้ยากขึ้นเรื่อยๆ

ขณะที่ระบบพรีแฟบหรือโครงสร้างสำเร็จรูปก็เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคทั่วประเทศแล้ว สังเกตได้จากการที่ ดีเวลลอปเปอร์และบริษัทรับสร้างบ้านชั้นนำหันมาใช้ระบบดังกล่าว ต่างมีมูลค่าส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นและขยายตลาดได้ทั่วประเทศ

ปัจจุบันผู้ประกอบการรับสร้างบ้านทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ส่วนใหญ่ยังคงใช้ระบบก่อสร้างรูปแบบเดิมๆ คือหล่อคอนกรีตในที่ หรือการผูกเหล็ก ประกอบไม้แบบ และเทคอนกรีตโครงสร้าง ณ สถานที่ก่อสร้างนั้นๆ ซึ่งต้องอาศัยแรงงานจำนวนมาก ขณะที่ระบบพรีแฟบหรือโครงสร้างสำเร็จรูป ยังไม่เป็นที่นิยมของผู้ประกอบการรับสร้างบ้านมากนัก เหตุเพราะไม่คุ้นเคยและที่สำคัญ คือ ต้องมีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง

สิทธิพร กล่าวว่า ปัจจุบันมีโรงงานรับจ้างผลิตที่เป็นมืออาชีพและมีความเชี่ยวชาญเฉพาะ สามารถผลิตตาม ออร์เดอร์หรือความต้องการของลูกค้าได้ ผู้ประกอบการรับสร้างบ้านที่ต้องการหันมาใช้ระบบพรีแฟบ จึงไม่จำเป็นจะต้องลงทุนสร้างโรงงานผลิตของตัวเองเหมือนในอดีต อีกทั้งเชื่อว่าในอนาคตอันใกล้นี้ระบบพรีแฟบทั้งแบบโครงสร้างคอนกรีตและโครงสร้างเหล็ก จะเข้ามาแทนที่ระบบก่อสร้างแบบเดิมมากขึ้น

ด้าน วรวุฒิ กาญจนกูล เลขาธิการสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน กล่าวว่า ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในขณะนี้ โดยเฉพาะแรงงานด้านฝีมือ ซึ่งสมาคมได้ร่วมรับฟังพร้อมนำเสนอปัญหาดังกล่าวกับกระทรวงแรงงานเมื่อปลายเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา เห็นว่าอาชีพที่สงวนไว้สำหรับคนไทยตามกฎหมาย เช่น ช่างไม้ ฯลฯ เป็นแรงงานฝีมือที่ หายากในปัจจุบัน

ขณะที่แรงงานหลักของธุรกิจรับสร้างบ้าน คือ แรงงานจากกัมพูชา เริ่มทยอยกลับประเทศมากขึ้น แม้จะมีการปรับอัตราค่าจ้างตามแรงขั้นต่ำของแรงงานไทย และหากเป็นแรงงานฝีมือจะมีการปรับค่าแรงต่างด้าวสูงกว่าเกณฑ์ เพราะไม่เช่นนั้นจะมีการดึงตัวแรงงานไปบริษัทอื่น ทำให้ผู้ประกอบต้องรับภาระต้นทุนค่าแรงที่สูงขึ้นอีกไม่น้อยกว่า 3% ปัจจุบันค่าแรงของช่างไม้เฉลี่ยอยู่ที่ 400 บาท/วัน ส่วนช่างเหล็กเฉลี่ยอยู่ที่ 420-430 บาท/วัน

ปัจจัยเหล่านี้มีผลต่อผู้ประกอบการภาคเอกชนและอุตสาหกรรมโดยรวม ทั้งนี้แนวโน้มภาครัฐก็เข้าใจถึงปัญหาและจะมีการร่วมกันหาทางออกของปัญหา

พร้อมกันนี้ เห็นว่าผู้ประกอบการรายกลางและรายเล็กต้องปรับตัวรับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะต้นทุนค่าแรงที่เพิ่มขึ้น ข้อดีของบริษัทรายเล็ก คือ มีความคล่องตัว มีกลุ่มเป้าหมายชัดเจน การออกแบบดีไซน์ต้องตรงใจลูกค้า และนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาช่วยเสริมระบบก่อสร้าง จะช่วยให้สามารถแข่งขันในตลาดได้ โดยคาดว่าในปีนี้ต้นทุนสร้างบ้านปรับขึ้นประมาณ 5% จะส่งผลให้ราคาบ้านสร้างเองปรับขึ้นตาม