posttoday

สินเชื่อ : สัญญาโอนสิทธิเรียกร้อง (1)

27 กุมภาพันธ์ 2561

โครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ที่ต้องกู้เงินธนาคารมาทำล้วนแต่ต้องมีสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องในสัญญาก่อสร้าง

โดย...วิโรจน์ พูนสุวรรณ

โครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ที่ต้องกู้เงินธนาคารมาทำล้วนแต่ต้องมีสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องในสัญญาก่อสร้าง และสัญญาซื้อขายวัสดุก่อสร้างและอุปกรณ์ เป็นหลักประกันให้กลุ่มธนาคารผู้ให้กู้ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นโครงการรถไฟฟ้าเหนือพื้นดินหรือใต้ดิน โครงการทางด่วนของเอกชน โรงผลิตไฟฟ้า ไม่ว่าจะใช้เชื้อเพลิงประเภทใด โรงงานอุตสาหกรรมในเขตระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก โครงการอาคารขนาดใหญ่ใจกลางเมืองหลวงไม่ว่าจะเป็นห้างสรรพสินค้า หรือคอนโดมิเนียมที่พักอาศัย หรือกลุ่มอาคารที่รวมทั้งห้างสรรพสินค้าและที่พักอาศัยเข้าด้วยกัน

การโอนสิทธิเรียกร้องนี้เป็นเรื่องปกติธรรมดาของสินเชื่อโครงการระหว่างประเทศ ที่ดัดแปลงให้เข้ากับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ของไทย ที่กำหนดให้เจ้าหนี้โอนสิทธิเรียกร้องของตนเองที่มีต่อลูกหนี้ไปให้บุคคลที่สาม สำหรับสัญญาก่อสร้างแล้ว เจ้าหนี้ก็คือเจ้าของโครงการโอนสิทธิเรียกร้องของตนในฐานะผู้ว่าจ้างในสัญญาก่อสร้างที่มีต่อลูกหนี้คือผู้รับจ้าง ไปให้บุคคลที่สามซึ่งก็คือธนาคารผู้ให้กู้

ถ้าเจ้าของโครงการผู้กู้ผิดนัดไม่ชำระเงินกู้คืนให้แก่ธนาคาร ธนาคารผู้ให้กู้ก็มีสิทธิที่จะก้าวล่วงเข้ามาในสัญญาก่อสร้างเพื่อบังคับเอากับหลักประกันคือสัญญาโอนสิทธิเรียกร้อง การบังคับกับหลักประกันชนิดนี้ จะทำให้ธนาคารผู้ให้กู้เข้ามาแทนที่เจ้าของโครงการ ผู้กู้ในสัญญาก่อสร้าง ในฐานะผู้ว่าจ้าง ธนาคารจะได้สานสัมพันธ์กับผู้รับจ้างต่อไป เพื่อให้งานก่อสร้างดำเนินไปอย่างเป็นปกติ โดยไม่สะดุดหยุดลง จนกระทั่งโครงการเสร็จสมบูรณ์ เปิดดำเนินการทางการค้าได้ ก่อให้เกิดรายได้จากโครงการที่จะนำมาชำระคืนเงินกู้ ที่เจ้าของโครงการกู้ไปจากธนาคาร

ฟังดูก็เหมือนจะง่ายตรงไปตรงมาในทางทฤษฎี แต่ในทางปฏิบัติแล้วยากมากๆ ความเป็นจริงก็คือ สัญญาก่อสร้างไม่ได้มีแต่สิทธิของเจ้าของโครงการที่จะโอนให้แก่กันได้ สัญญาก่อสร้างมีทั้งสิทธิและหน้าที่ของเจ้าของโครงการ สิทธิที่จะเรียกให้ผู้รับจ้างทำงานก่อสร้างให้จนแล้วเสร็จ หน้าที่ ที่จะต้องจ่ายค่าจ้างและค่าวัสดุอุปกรณ์ให้กับผู้รับจ้าง ถ้าหากเจ้าของโครงการไม่จ่ายค่าจ้างให้กับผู้รับจ้าง เช่น เพราะผิดนัดชำระหนี้กับธนาคาร ทำให้ธนาคารไม่ปล่อยเงินกู้ค่าก่อสร้างให้ ผู้รับจ้างก็ย่อมมีสิทธิตามกฎหมายไทยที่จะไม่ทำงานก่อสร้างต่อเช่นกัน ทำให้โครงการต้องชะงักกลางคัน

แม้ธนาคารจะรับโอนสิทธิของเจ้าของโครงการไปแล้ว แต่การจะเข้ามาแทนที่เจ้าของโครงการในสัญญาก่อสร้างในทันทีแบบไม่ให้มีรอยต่อเป็นเรื่องยาก ย่อมจะได้รับการต่อต้านทั้งจากเจ้าของโครงการและผู้รับจ้าง ต้องเจรจาประเด็นยากๆ กันทั้งสามฝ่าย ประเด็นสำคัญที่สุด คือใครจะเป็นผู้จ่ายค่าจ้างให้กับผู้รับจ้าง ทั้งค่าจ้างค้างชำระ และค่าจ้างใหม่ สัญญาก่อสร้างที่โอนแล้วจึงเหมือนกับว่ายังไม่ได้โอนสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องคล้ายกับจะเป็นหมัน หนี้เงินกู้ทำท่าจะเป็นหนี้เสีย งานก่อสร้างในโครงการไม่มีความคืบหน้า

ภาครัฐก็พยายามยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ โดยออกพระราชบัญญัติหลักประกันทางธุรกิจ เมื่อปี 2558 กฎหมายนี้ปรารถนาดี โดยอนุญาตให้ธนาคาร ผู้ให้กู้จดทะเบียนสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องกับทางการได้ เพื่อก่อให้เกิดบุริมสิทธิในสัญญานี้ ในทำนองเดียวกับการจด จำนองที่ดิน ทำให้ธนาคารผู้ให้กู้กลายมาเป็นเจ้าหนี้มีหลักประกันตามกฎหมายได้รับการชำระหนี้จากสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องจดทะเบียนก่อนเจ้าหนี้รายอื่นๆ ของเจ้าของโครงการ

แต่ในแวดวงของธนาคารและลูกค้าโครงการ ไม่มีใครใคร่ใส่ใจกับการจดทะเบียนหลักประกันตามกฎหมายใหม่ฉบับนี้นัก เพราะต่างมองว่ากฎหมายใหม่ไม่ค่อยมีประโยชน์เท่าไร ไม่ค่อยเกี่ยวกับสินเชื่อโครงการ ทั้งนี้กฎหมายหลักประกันมุ่งให้เจ้าหนี้มีประกันนำทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ได้ก่อนเจ้าหนี้อื่น ถ้านึกภาพไม่ออกขอให้นึกถึงการขายทอดตลาดที่ดินและอาคารที่จำนอง แล้วได้เงินมาชำระหนี้ให้ธนาคาร แต่จะขายทอดตลาดสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องจดทะเบียน แล้วเอาเงินที่ขายได้มาชำระหนี้ให้กับเจ้าหนี้มีประกัน เหมือนที่ดิน ก็จะดูแปลกๆ ไม่เคยมีใครทำ และไม่คิดว่าจะทำได้