posttoday

‘ค่าส่วนกลาง’ (เจอ) ทวงเบาๆ ก็เจ็บ

10 กุมภาพันธ์ 2561

หนึ่งในเหตุผลที่หลายคนยอมตัดสินใจยอมเก็บกระเป๋ามาใช้ชีวิตแนวดิ่ง เพราะถูกใจสิ่งอำนวยความสะดวกที่คอนโดมิเนียมมอบให้

เรื่อง : พุสดี

หนึ่งในเหตุผลที่หลายคนยอมตัดสินใจยอมเก็บกระเป๋ามาใช้ชีวิตแนวดิ่ง เพราะถูกใจสิ่งอำนวยความสะดวกที่คอนโดมิเนียมมอบให้

ทั้งสระว่ายน้ำ ฟิตเนส หรือบางแห่งมีพื้นที่สังสรรค์ โคเวิร์กกิ้ง สเปซ เตรียมไว้ให้พร้อมสรรพตอบรับไลฟ์สไตล์คนเมือง แต่หลังจากอยู่ไปได้สัก 2-3 ปี หรือบางรายซื้อไว้เก็งกำไรไม่ได้มาอยู่เอง จึงไม่ได้ใช้ประโยชน์พื้นที่ส่วนกลางที่เคยหลงใหลได้ปลื้ม พอถึงเทศกาลจ่ายค่าส่วนกลาง เริ่มเกิดอาการเสียดายเงิน เห็นตัวเลขแล้วแทบไม่อยากจ่าย

ก่อนจะหันหน้าหนีให้ค่าส่วนกลาง ราวกับเป็นบุคคลน่ารังเกียจ มาลองทำความเข้าใจกันอีกสักครั้งว่า ค่าส่วนกลางคืออะไร? และทำไมต้องจ่าย

ค่าส่วนกลางคอนโด คือเงินที่ทางฝ่ายนิติบุคคลของคอนโดจะเรียกเก็บจากลูกบ้านทุกห้องในทุกๆ ปี เพื่อนำเงินจำนวนนี้ไปบำรุงรักษาพื้นที่ส่วนกลางต่างๆ ที่ลูกบ้านใช้ร่วมกัน

ไม่ว่าจะเป็นสระว่ายน้ำ ฟิตเนส ที่จอดรถ ค่าไฟ ค่าน้ำ รวมทั้งค่าทำความสะอาดบริเวณส่วนกลาง ฯลฯ ซึ่งสมัยนี้ไม่ใช่แค่ชาวคอนโดที่ต้องจ่าย แต่ต่อให้อยู่หมู่บ้านจัดสรรก็ต้องจ่ายเช่นกัน เพียงแต่จ่ายในอัตราบาทต่อตารางวา ขณะที่คอนโดจ่ายในอัตราบาทต่อตารางเมตร

ทั้งนี้ อัตราค่าส่วนกลางในแต่ละโครงการไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ยิ่งมีของใช้หรือสถานที่ส่วนกลางให้ต้องดูแลเยอะ ก็ต้องจ่ายมากหน่อย โดยแต่ละโครงการจะมีค่าส่วนกลางเป็นตารางเมตร

ถ้าอยากเตรียมเก็บเงินสำหรับส่วนกลางไว้ล่วงหน้า สามารถคำนวณเองง่ายๆ แค่นำอัตราที่โครงการเรียกเก็บมาคูณกับขนาดของห้อง เช่น หากค่าส่วนกลางของโครงการที่ถือครอง คิดค่าส่วนกลางตารางเมตรละ 50 บาท/เดือน หากเป็นเจ้าของห้องขนาด 30 ตารางเมตร หมายความว่าค่าส่วนกลางอยู่ที่เดือนละ 30x50 = 1,500 บาท ซึ่งส่วนใหญ่ค่าส่วนกลางจะเก็บเป็นรายปี ดังนั้น จะต้องจ่าย = 1,500x12 = 18,000 บาท/ปี

อย่างไรก็ตาม ค่าส่วนกลางที่ว่าอาจไม่ตายตัว ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละโครงการ และอาจจะมีการเพิ่มขึ้นตามภาวะเงินเฟ้อ ซึ่งทางนิติบุคคลของคอนโดจะแจ้งล่วงหน้า

ถามว่า แล้วไม่จ่ายได้หรือไม่? คำตอบคือ ไม่ได้

ลองคิดภาพตามง่ายๆ ถ้าทุกคนคิดเบี้ยวไม่จ่ายค่าส่วนกลาง แล้วนิติบุคคลจะนำเงินส่วนไหนมาใช้ในการดูแลรักษาพื้นที่ส่วนกลาง ถ้าปล่อยปะไว้สุดท้ายพื้นที่ส่วนกลางก็ทรุดโทรม ผลกระทบก็กลับมาอยู่ที่ลูกบ้านอยู่ดี

ด้วยเหตุนี้หลายโครงการจึงต้องมีมาตรการเพื่อรับมือกับลูกบ้านที่ไม่ยอมจ่ายค่าส่วนกลาง ซึ่งโครงการส่วนใหญ่จะยึดตามหลักกฎหมายอาคารชุด ซึ่งมีข้อกำหนดว่า ภายใน 6 เดือนหลังจากครบกำหนด หากไม่จ่ายบริษัทนิติสามารถเรียกเก็บค่าปรับจากลูกบ้านได้ไม่เกิน 12% แต่ถ้าค้างค่าส่วนกลางคอนโดเกิน 6 เดือน บริษัทนิติสามารถเรียกเก็บค่าปรับได้ไม่เกิน 20% และระงับการให้บริการส่วนรวม เช่น ยกเลิกบัตรเข้า-ออกคอนโด งดการให้บริการส่วนกลาง เป็นต้น

ในกรณีนี้ยังรวมถึงเหล่านักลงทุนที่ซื้อคอนโดไว้เก็งกำไร จะอ้างว่าไม่ได้มาใช้ประโยชน์จากพื้นที่ส่วนกลางแล้วขอไม่จ่ายไม่ได้เช่นกัน เพราะตามกฎหมายระบุว่า การที่เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในห้องชุดคอนโด กฎหมายถือว่าเป็นเจ้าของร่วมแห่งทรัพย์สินส่วนกลางของอาคารด้วย ไม่ว่าห้องชุดนั้นจะปล่อยร้าง มีคนเช่าหรือไม่มี ในฐานะเป็นเจ้าของร่วมก็ต้องรับผิดจ่ายค่าใช้จ่ายส่วนกลางนี้ด้วย