posttoday

ไฟไหม้อาคารในกรุงลอนดอน

13 มกราคม 2561

ที่อยู่อาศัยในยุคปัจจุบันของคนกรุงเทพฯ หรือจังหวัดใกล้เคียงที่มีความเจริญทางด้านเศรษฐกิจสูง มักนิยมอาศัยกันอยู่บนคอนโดมิเนียมหรู

โดย มีนา ภาพ : kachon / ouest-france

 ที่อยู่อาศัยในยุคปัจจุบันของคนกรุงเทพฯ หรือจังหวัดใกล้เคียงที่มีความเจริญทางด้านเศรษฐกิจสูง มักนิยมอาศัยกันอยู่บนคอนโดมิเนียมหรู  

 เรายังจำเหตุการณ์เพลิงไหม้อาคารเกรนเฟลล์ ทาวเวอร์ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษเมื่อปีที่แล้วได้ไหม เหตุเพลิงไหม้บนอาคารดังกล่าวที่เป็นอาคารพักอาศัยสูง 24 ชั้นอย่างรุนแรง มีผู้เสียชีวิต 50 ราย และสูญหายไปอีกจำนวนมาก

 นับเป็นเหตุเพลิงไหม้ที่ร้ายแรงใจกลางมหานครลอนดอน ที่สำคัญคือเกี่ยวข้องทางด้านความปลอดภัยในมาตรฐานการออกแบบอาคารสูงและการใช้วัสดุในการตกแต่งอาคาร

 ผู้รู้อย่างสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ (ASA) จึงอยากให้บุคลากร หรือผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในวิชาชีพนี้ รวมถึงประชาชนให้ตระหนักถึงความสำคัญของความปลอดภัยของสิ่งปลูกสร้างในประเทศไทยด้วย

 ผู้แทนสมาคมฯ พ.ต.ท.ดร.บัณฑิต ประดับสุข กรรมการกลาง และผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยอาคาร ให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นนี้ว่า นับเป็นจังหวะเหมาะสมที่จะให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องตระหนักถึงความสำคัญกับเรื่องมาตรฐานความปลอดภัยในงานสถาปัตยกรรมอย่างจริงจัง เพราะเหตุการณ์ร้ายแรงแบบนี้ก็เคยเกิดขึ้นในประเทศไทย

 "สำหรับสาเหตุและการลุกลามของไฟภายนอกอาคารในเหตุการณ์ครั้งนี้ ได้ตั้งสมมติฐานโดยยึดหลักการพฤติกรรมของไฟประกอบกับกลไกของการลุกลามของไฟภายนอกอาคาร (External Fire Spread) และข้อมูลข่าวสารจากต่างประเทศ สรุปได้ว่า ต้นเพลิงเริ่มจากอาคารพักอาศัยซึ่งสันนิษฐานว่าจะเป็นห้องครัว

 เมื่อเกิดการระเบิดหรือลุกไหม้ ความร้อนและเปลวไฟก็เล็ดลอดออกเข้าสู่ช่องว่างของระบบเปลือกอาคาร เมื่อควันและเปลวไฟลอยขึ้นไปจนสุด ก็เกิดการสะสม และลุกลามสู่ระบบเปลือกอาคารซึ่งเป็นแผ่น Aluminum Composite (ACP) โดยเข้าสู่ช่องว่างระหว่างแผ่น ACP กับฉนวนกันความร้อน ซึ่งเป็นช่องว่างกว้างประมาณ 5 เซนติเมตร

ไฟไหม้อาคารในกรุงลอนดอน

 ควันและเปลวไฟจะลอยขึ้นเพราะความร้อนไปในแนวตั้งของเปลือกอาคารเกิดปรากฏการณ์ปล่องควัน (Chimny Effect) ซึ่งส่งผลให้เกิดการลุกลามอย่างรวดเร็วในแนวตั้ง และแผ่ไปในแนวนอนของแต่ละชั้นจนลุกลามอย่างรวดเร็วโดยรอบของอาคาร ซึ่งการดับเพลิงก็กระทำได้ยาก เนื่องจากความสูงของอาคารและเกิดขึ้นที่เปลือกอาคารภายนอก"

 จากข้อสมมติฐานดังกล่าว พ.ต.ท.ดร.บัณฑิต บอกว่าพิจารณาได้ว่าบทบาทของสถาปนิก ซึ่งมีส่วนสำคัญอย่างมาก เนื่องจากเป็นต้นน้ำของการออกแบบ สถาปนิกควรมีความรู้และความตระหนักในเรื่องภัยต่างๆ ที่จะสามารถเกิดขึ้นของตัวอาคาร

 "จากบทเรียนนี้เป็นบทเรียนที่มีค่ามากสำหรับการออกแบบเพื่อให้เกิดความปลอดภัยในงานสถาปัตยกรรม เช่น การออกแบบรูปร่างของแปลน รูปทรงอาคาร เปลือกอาคาร การใช้วัสดุ การแบ่งส่วนอาคาร (Compartment) และเส้นทางการหนีไฟ เพื่อไม่ให้เกิดการสูญเสียต่างๆ เกิดขึ้น

 ปัจจุบันในพื้นที่กรุงเทพฯ เป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดเหตุเพลิงไหม้ เนื่องจากมีปัจจัยที่เข้ามากระตุ้นหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นความแออัดของพื้นที่ มีการก่อสร้างอาคารสูงเป็นจำนวนมาก ดังนั้น การออกแบบตัวอาคารจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องตระหนักถึงความปลอดภัย"

 พ.ต.ท.ดร.บัณฑิต ชี้ว่าภาครัฐเองก็ตระหนักถึงการใช้วัสดุป้องกันไฟ โดยเตรียมที่จะออกกฎกระทรวงที่เกี่ยวกับการใช้วัสดุที่เป็น ACP เพื่อให้เป็นมาตรฐานในการประเมินความเสี่ยง การออกแบบและการแก้ไขปรับปรุงทั้งอาคารเก่าและใหม่ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยต่อไป