posttoday

'ลลิลฯ'ปรับกลยุทธ์ ชิงส่วนแบ่งแนวราบ

09 มกราคม 2561

ลลิล พร็อพเพอร์ตี้ ปรับรับสัญญาณฟื้น เปิดโครงการใหม่เพิ่ม 8-10 โครงการ มูลค่ารวม 4,500-5,000 ล้านบาท ชิงแนวราบ

โดย...อรวรรณ จารุวัฒนะถาวร       

การดำเนินธุรกิจในยุคไทยแลนด์ 4.0 ไม่ใช่ปลาใหญ่กินปลาเล็กอีกต่อไปสำหรับวงการอสังหาริมทรัพย์ แต่เป็นปลาเร็วกินปลาช้า หากใครปรับตัวไม่ทันกับกระแสโลกก็อาจไปไม่รอด เนื่องจากตลาดจากนี้จะเป็นของผู้เล่นรายใหญ่ ซึ่งนอกจากจะมีเงินทุนที่หนาแล้ว ข้อมูล เทคโนโลยี รวมทั้งโปรดักต์ที่ตอบโจทย์ควบคู่ไปกับกลยุทธ์ขององค์กรจะเป็นอาวุธที่สำคัญในการบุกตลาด

ไชยยันต์ ชาครกุล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ลลิล พร็อพเพอร์ตี้ เปิดเผยว่า จากปัจจัยบวกไม่ว่าจะเป็น เรื่องของการส่งออก การท่องเที่ยว ที่มีแนวโน้มการเติบโตต่อเนื่องจากปีที่แล้ว อันเป็นผลมาจากทิศทางเศรษฐกิจและการค้าโลกมีการขยายตัวดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา ยุโรป จีน รวมทั้งประเทศในกลุ่มซีแอลเอ็มวีเริ่มฟื้นตัวมีเสถียรภาพมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อการส่งออกของไทย

นอกจากนี้ การลงทุนภาครัฐกว่า 2.7 ล้านล้านบาท ซึ่งจะทยอยเปิดประมูลคาดว่าจะมีเม็ดเงินกว่า 6 แสนล้านบาท เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจตั้งแต่เดือน ก.พ.นี้ เป็นต้นไป ด้านราคาพืชผลการเกษตรที่เริ่มดีขึ้น ทั้งนี้จะเป็นตัวกระตุ้นสนับสนุนให้เกิดการบริโภคในประเทศให้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันการจัดให้มีการเลือกตั้งในช่วงปลายปี 2561 หรือต้นปี 2562 ซึ่งจะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะเมื่อรัฐมีการผลักดันโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่จะทำให้เกิดอุตสาหกรรมใหม่ๆ และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ปัจจัยทั้งหมดนี้จะช่วยผลักดันให้เศษฐกิจไทยขยายตัวได้ราว 3.8-3.9%

สำหรับภาคธุรกิจอสังหาฯ ในปีนี้คาดว่าจะขยายตัวได้ดีขึ้นจากปีที่แล้ว จากปัจจัยบวกทั้งในและต่างประเทศนอกจากนี้ยังมีปัจจัยเอื้อไม่ว่าจะเป็นภาพรวมหนี้สินภาคครัวเรือนต่อจีดีพีที่เริ่มค่อยๆ ปรับลดลงอยู่ที่ระดับ 78% ต่อจีดีพี ซึ่งจะช่วยให้กำลังซื้อดีขึ้น

ขณะที่อัตราดอกเบี้ยในประเทศยังคงทรงตัวในระดับต่ำแม้ทิศทางอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐมีความเป็นไปได้ที่จะปรับเพิ่มอีกราว 3 ครั้ง ครั้งละ 0.25% ในปีนี้ แต่เชื่อว่าคนซื้อบ้านยังรับได้

อย่างไรก็ดี ด้วยราคาที่ดินที่มีการปรับขึ้นต่อเนื่องทำให้ราคาอาคารชุดปรับขึ้นเฉลี่ย 10-15% ต่อเนื่องมา 3 ปี ขณะที่บ้านแนวราบปรับเฉลี่ย 5% ทั้งนี้มองว่าตลาดที่อยู่อาศัยแนวราบ โดยเฉพาะตลาดเรียลดีมานด์ยังคงขยายตัวได้ราว 5-7% เนื่องจากเป็นทางเลือกของผู้จะซื้อบ้านเพราะราคาคอนโดต่ำกว่า 1 แสนบาท/ตารางเมตร หาไม่ได้แล้วบางทำเล เช่น ลาดพร้าว รัชดาฯ เป็นต้น

ส่วนตลาดอาคารชุดอาจต้องระมัด ระวังในบางกลุ่มและในบางทำเล ซึ่งอาจเริ่มเห็นสัญญาณโอเวอร์ซัพพลายบ้าง เช่น แนวรถไฟฟ้าสายสีม่วง สายสีเขียวส่วนต่อขยาย เป็นต้น

ด้าน ชูรัชฏ์ ชาครกุล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ บริษัท ลลิล พร็อพเพอร์ตี้ กล่าวว่า ในปี 2561 ปรับกลยุทธ์การดำเนินงานในเชิงรุกเพื่อตอกย้ำความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่มีต่อบริษัทมากว่า 3 ทศวรรษ โดยปีนี้บริษัทมีแผนเปิดตัวโครงการแนวราบ 8-10 โครงการ มูลค่ารวมประมาณ 4,500-5,000 ล้านบาท ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑล และต่างจังหวัดในหัวเมืองหลักและหัวเมือง ชั้นรอง แบ่งสัดส่วนทำเลออกเป็น โซนกรุงเทพฯ และปริมณฑล 75-80% และทำเลต่างจังหวัด 20-25%

สำหรับโครงการเปิดใหม่จะพัฒนาเป็นทาวน์เฮาส์ถึง 60% โดยจะมีแบรนด์ ลลิลทาวน์ โครงการมิกซ์ยูสมิกซ์เซ็กเมนต์เป็นเรือธงรุกตลาดในปีนี้ รวมทั้งแบรนด์แลนซีโอระดับราคา 3-6 ล้านบาท และแบรนด์ไลโอ ระดับราคา 2 ล้านบาท บวก/ลบ สำหรับรุกตลาดในภูมิภาค

ทั้งนี้ ในไตรมาสแรกของปีนี้จะเปิด 2 โครงการทำเลโซนเหนือของกรุงเทพฯ และทำเลสุวรรณภูมิ โดยบริษัทตั้ง เป้าหมายจะเปิดให้ได้เฉลี่ยไตรมาสละ 2 โครงการ ซึ่งเปิดตัวโครงการแรกในปลายเดือน ม.ค.นี้ โดยเน้นกลุ่มเรียลดีมานด์ หรือซื้อเพื่ออยู่อาศัยเป็นหลัก สำหรับโครงการที่จะเปิดใหม่บริษัทมีพื้นที่พร้อมพัฒนาแล้ว 50% และบริษัทได้วางงบซื้อที่ดินเพิ่มในปีนี้ไว้ที่ 1,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ บริษัทได้มีการปรับกลยุทธ์เพื่อชิงส่วนแบ่งตลาดโดยมีการปรับ โปรดักต์สินค้า  การเลือกทำเลศักยภาพที่ตอบโจทย์ด้านไลฟ์สไตล์และราคา รวมทั้งการเน้นการทำดิจิทัลมาร์เก็ตติ้งและกลยุทธ์ซีอาร์เอ็ม เพื่อพัฒนาระบบการจัดการลูกค้าสัมพันธ์ อีกทั้งได้มีการลงทุนพัฒนาระบบไอทีอย่างต่อเนื่องในช่วง 2 ปี (2560-2561) ประมาณกว่า 10 ล้านบาท เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้มากยิ่งขึ้น

ขณะเดียวกันจะเร่งลดยอดปฏิเสธสินเชื่อให้อยู่ในระดับกว่า 10% จากขณะนี้อยู่ที่ประมาณ 20% ทั้งนี้จะมีการคัดกรองลูกค้าและบริษัทได้มีการประสานกับสถาบันการเงินที่จะปล่อยสินเชื่อในการให้คำแนะนำลูกค้าพร้อมติดตามลูกค้าอย่างใกล้ชิด

อีกทั้งบริษัทมีแผนจะออกหุ้นกู้ราว 1,100-1,200 ล้านบาท อายุหุ้นกู้ 3 ปี เพื่อรองรับกับการขยายธุรกิจโดยจะเริ่มทยอยออกเดือน เม.ย.นี้ ส่วนแบ็กล็อกขณะนี้มีราว 800-900 ล้านบาท ส่วนแผนการร่วมทุนนั้น บริษัทไม่ได้ปิดกั้นพร้อมร่วมลงทุนอสังหาฯ ทุกประเภท ซึ่งมีการพูดคุยบ้างแต่ยังไม่มีข้อสรุปซึ่งไม่ใช่เรื่องเงินเท่านั้นแต่ต้องมาพร้อมเรื่องของโนว์ฮาวด้วย

สำหรับปีนี้บริษัทตั้งเป้ายอดขาย 4,400 ล้านบาท และยอดรับรู้รายได้ที่ 4,000 ล้านบาท ซึ่งเติบโตขึ้นราว  15% จากปีก่อน