posttoday

ส่องเทรนด์ที่อยู่อาศัยใหม่ ทำเล-นวัตกรรมรับ4.0

06 มกราคม 2561

เทคโนโลยีดิจิทัลได้เข้ามาเปลี่ยนแปลงพร้อมทั้งสร้างโมเดลใหม่ๆ ให้กับคนไทย ธุรกิจอุตสาหกรรมและประเทศไทยในทุกด้าน รวมทั้งภาคอสังหาริมทรัพย์ก็ต้องปรับตัว

โดย...อรวรรณ จารุวัฒนะถาวร

เทคโนโลยีดิจิทัลได้เข้ามาเปลี่ยนแปลงพร้อมทั้งสร้างโมเดลใหม่ๆ ให้กับคนไทย ธุรกิจอุตสาหกรรมและประเทศไทยในทุกด้าน รวมทั้งภาคอสังหาริมทรัพย์ก็ต้องปรับตัว โดยในปีที่ผ่านมาจะเห็นถึงการนำอินเทอร์เน็ตออฟธิงส์ (Internet of Things หรือ IoT) มาช่วยเสริมการอยู่อาศัยภายในโครงการให้สมาร์ทขึ้น สามารถตอบโจทย์ความสะดวกแก่ผู้อยู่อาศัย แล้วยังเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่ม รวมไปถึงความแตกต่างให้กับโครงการอีกด้วย

ขณะที่ผู้ประกอบการรายใหญ่ในตลาดมีการลงทุนและพัฒนานวัตกรรมด้านอสังหาฯ เพื่อรองรับการใช้ชีวิตการอยู่อาศัยในอนาคตหรือพร็อพเพอร์ตี้เทคโนโลยี (พร็อพเทค) มากขึ้น และแนวโน้มที่จะนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence หรือ AI) การนำหุ่นยนต์เข้ามามีบทบาทชัดเจนขึ้นจากนี้

อิสระ บุญยัง นายกกิตติมศักดิ์และที่ปรึกษาสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร ให้ความเห็นว่า เทคโนโลยีจะช่วยพัฒนาที่อยู่อาศัยให้สะดวกทันสมัย ประหยัดพลังงาน ซึ่งที่ผ่านมาภาคอสังหาฯ ได้มีการนำเทคโนโลยีมาพัฒนากระบวนการออกแบบก่อสร้างบ้าน เช่น ระบบ BIM (Building Information Modeling) การใช้ระบบพรีคาสต์ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ สามารถควบคุมเวลาต้นทุนจากการเพิ่มประสิทธิภาพรอบการทำธุรกิจและประหยัดแรงงานที่ขาดแคลน

"บ้านยุค 4.0 และในอนาคต จะเป็นบ้านที่ใช้พลังงานทางเลือกมากขึ้น เช่น ติดโซลาร์เซลล์ เป็นต้น มีความสะดวกสบาย ปลอดภัย และควบคุมระบบอุปกรณ์ไฟฟ้าได้แม้ไม่ได้อยู่บ้าน วัสดุก่อสร้างจะมีการคิดค้นเพื่อความมั่นคงแข็งแรง ก่อสร้างรวดเร็วและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมยิ่งขึ้น" อิสระ กล่าว

สำหรับธุรกิจรับสร้างบ้าน สิทธิพร สุวรรณสุต นายกสมาคมไทยรับสร้างบ้าน มองว่า ในแง่ของวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้างเชื่อจะมีการพัฒนาให้มีความ ทันสมัย เพื่อให้สอดรับกับความต้องการของคนรุ่นใหม่ ขณะเดียวกันการออกแบบบ้านจากนี้จะมีดีไซน์เพื่อรองรับกับนวัตกรรมใหม่ๆ มากขึ้น

ในส่วนของตลาดรับสร้างบ้าน ผู้ประกอบการก็ต้องมีการปรับตัว ทั้งนี้ มองว่าเทรนด์บ้านในปีนี้จะเริ่มหันมานิยมรูปแบบย้อนยุคมากขึ้น เนื่องจากแบบบ้านที่ส่วนใหญ่นิยมในปัจจุบันคือโมเดิร์นมีความหลากหลายเริ่มอิ่มตัว ขณะเดียวกันมองว่าราคาบ้านจะไม่มีการขึ้นในช่วงครึ่งปีแรกในปีนี้ เพราะตลาดเพิ่งเริ่มดียกเว้นรายที่ทำราคาต่ำไว้มากๆ อาจขยับ 2-3% จากต้นทุนวัสดุบางประเภทที่ปรับขึ้น โดยส่วนใหญ่เป็นวัสดุตกแต่ง

ด้าน เลิศมงคล วราเวณุชย์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์นนทบุรี กล่าวว่า คาดปี 2568 ประเทศไทยจะก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบ โดยจะมีคนอายุ 60 ปีขึ้นไป สัดส่วน 20% ของจำนวนประชากรไทย ซึ่งก็ไม่ใช่ทุกคนจะเป็นคนรวยทั้งหมด ดังนั้นภาครัฐต้องเป็นผู้นำขับเคลื่อนด้านที่อยู่อาศัยเพื่อรองรับคนกลุ่มนี้ ขณะที่ภาคเอกชนเริ่มหันมาให้ความสนใจมีการพัฒนาในหลายๆ โครงการให้เห็นและจะเป็นสินค้าที่จะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ดี สิ่งที่เกิดขึ้นกับตลาดที่อยู่อาศัยใหม่ไม่ใช่แค่เรื่องของเทคโนโลยีและวัฒนกรรมเท่านั้น ปัจจัยที่มีผลต่อการเลือกซื้อบ้านเรื่องหลักคือทำเลและราคา โดยในส่วนของทำเลเป็นปัจจัยสำคัญที่จะชี้นำแนวโน้มการอยู่อาศัย ซึ่งแหล่งที่อยู่อาศัยใหม่โดยเฉพาะคอนโดมิเนียมยังคงติดแนวรถไฟฟ้าทั้งสายหลักและสายเกิดใหม่ สำหรับสายหลักสินค้ายังเป็นเซ็กเมนต์ระดับบนเนื่องจากที่ดินหายากและราคาแพง เช่น พร้อมพงษ์ ทองหล่อ แยกรัชดา พระราม 9 หลังสวน เพลินจิต ฯลฯ

ทั้งนี้ ทำเลที่น่าจับตามองคือ บางซื่อ เพราะรัฐผลักดันเป็นศูนย์คมนาคมพหลโยธิน ขณะที่สายเกิดใหม่และสายส่วนต่อขยายไม่ว่าจะเป็นโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ สายสีน้ำเงิน ส่วนต่อขยายช่วงบางซื่อ-ท่าพระ และช่วงหัวลำโพง-บางแค สายสีชมพู ช่วง แคราย-มีนบุรี สายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง และสายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ ที่คงมีความน่าสนใจ

นอกจากนี้ ยังมีทำเลริมแม่น้ำ ไม่ว่าจะเป็นบริเวณเจริญนคร เจริญกรุง ที่กำลังพัฒนาเป็นศูนย์กลางช็อปปิ้งและไลฟ์สไตล์ใหม่ ในส่วนแนวราบทำเลชานเมืองที่น่าจับตามองคือ รามอินทรา บางนา พระราม 2 บางขุนเทียน เป็นต้น

ขณะที่ นลินรัตน์ เจริญสุพงษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เน็กซัส พรอพเพอร์ตี้ มาร์เก็ตติ้ง กล่าวถึงแนวโน้มของตลาดคอนโดในปี 2561 ว่า ในแง่ของอุปทานคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีกราว 10% หรือไม่ต่ำกว่า 5.5 หมื่นหน่วย โดยกรุงเทพฯ ชั้นในจะเป็นทำเลที่มีอุปทานใหม่เกิดขึ้นมาก ในขณะที่กรุงเทพฯ ชั้นนอกจะมีจำนวนโครงการที่เปิดใหม่ไม่มากนัก แต่จะมีจำนวนหน่วยต่อโครงการค่อนข้างมาก สำหรับความต้องการห้องชุดจะยังคงเติบโตขึ้นในอัตราที่ใกล้เคียงกันกับอุปทาน ซึ่งจะส่งผลทำให้ห้องชุดในตลาดคงเหลือประมาณ 5.8-6 หมื่นหน่วยในปีนี้

สำหรับระดับราคาคอนโดในตลาดกรุงเทพฯ ชั้นในนั้น คาดว่าจะปรับตัวขึ้นอย่างน้อย 11% ในขณะที่ตลาดกรุงเทพฯชั้นในและตลาดรอบนอก ราคาจะปรับตัวขึ้นอีกประมาณ 5-6% ส่งผลให้ราคาเฉลี่ยของตลาดปรับขึ้นราว 8% เนื่องจากที่ดินริมถนนใหญ่หายากและราคาจะยังคงขยับตัวสูงขึ้นอีกอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ดี ระดับราคาที่มีความต้องการในตลาดมากสุด คือบ้านแนวราบที่ราคาต่อยูนิตประมาณ 3-5  ล้านบาท และคอนโดประมาณ 8 หมื่นบาท/ตารางเมตร นั่นเอง