posttoday

กคช.ลุย 'บ้านแลกบ้าน' เร่งปลุกดีมานด์ลูกค้าเก่า

09 ธันวาคม 2560

การเคหะฯเป็นหน่วยงานสำคัญในการพัฒนาที่อยู่อาศัยให้กับ ผู้มีรายได้น้อย ขณะที่ผู้อยู่อาศัยมีจำนวนมากขึ้น และหลายรายมีครอบครัวขยาย รวมไปถึงมีกลุ่มที่ต้องการย้ายที่อยู่อาศัย จึงเป็นที่มาของโครงการบ้านแลกบ้าน

โดย...โชคชัย สีนิลแท้

การเคหะแห่งชาติถือเป็นหน่วยงานสำคัญในการพัฒนาที่อยู่อาศัยให้กับ ผู้มีรายได้น้อยมานานกว่า 44 ปี ขณะที่ผู้อยู่อาศัยมีจำนวนมากขึ้น และหลายรายมีครอบครัวขยาย รวมไปถึงมีกลุ่มที่ต้องการย้ายที่อยู่อาศัย จึงเป็นที่มาของโครงการบ้านแลกบ้าน

ธัชพล กาญจนกูล ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ (กคช.) เปิดเผยว่า โครงการดังกล่าวจะเริ่มดำเนินการได้ในเดือน ม.ค. 2561 จากผู้อยู่อาศัยนำบ้านของ กคช. ซึ่งเป็นบ้านเก่าหรือคอนโดเก่ามาแลกบ้านใหม่ ซึ่งจะต้องเป็นบ้านของ กคช.เหมือนกัน โดยจะคำนวณจากราคาที่เขาผ่อนส่งชำระไปแล้วไม่ว่าจะเป็นเงินจอง เงินดาวน์ ซึ่งจะนำส่วนนี้มาหักจากราคาบ้าน ถือว่าเป็นส่วนที่เขาผ่อนชำระไปแล้วและนำมาหักจากราคาบ้านใหม่ ส่วนต่างจะเป็นการประสานกับทางสถาบันการเงิน ขณะนี้ได้ประสานงานกับทางธนาคารอาคารสงเคราะห์และธนาคารออมสิน ที่สนใจมาปล่อยสินเชื่อโปรโมชั่นอัตราพิเศษที่จูงใจให้คนเข้าไปอยู่บ้านใหม่

ทั้งนี้ กลุ่มเป้าหมาย คือ 1.คนที่มีฐานะดีขึ้น ต้องการย้ายจากบ้านเล็กหรือคอนโดขนาดเล็กไปอยู่บ้านหลังใหญ่ขึ้น 2.กลุ่มที่ครอบครัวขยายมีจำนวนคนในครอบครัวเพิ่มขึ้น 3.กลุ่มที่มีการย้ายถิ่นฐานการทำงาน ประมาณความต้องการนั้นขอใช้เวลา 3 เดือนในการประมาณ เนื่องจากเป็นโครงการใหม่ที่ยังไม่เคยทำ ซึ่งเท่าที่มองจากกลุ่มเป้าหมายนั้นเชื่อว่าจะมีมากพอสมควร และหากมีการปรับกระบวนการต่างๆ ให้มีความรวดเร็วมากขึ้น เมื่อเข้าโครงการแล้วสามารถได้บ้านใหม่ไปเลยจะทำให้มีกลุ่มลูกค้าเข้าสู่โครงการนี้มากขึ้น

"โครงการบ้านแลกบ้าน ในช่วงแรกการเคหะฯ ต้องการกันความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น จึงต้องแมตช์กันให้เรียบร้อยก่อนคือบ้านเก่านั้นจะต้องขายให้ได้เรียบร้อยก่อนในช่วงเฟสแรก ส่วนในระยะที่สองจะใช้เอเยนซีที่มีเงินทุนเข้ามารองรับแล้วจะสามารถสต๊อกบ้านได้ก็ให้บ้านใหม่ไปเลย หรือมีตัวแทนนายหน้าเข้ามารับประกัน ถ้ารับเข้ามาจะสามารถขายได้อย่างแน่นอน" ธัชพล กล่าว

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากกลุ่มนี้จะเป็นคนที่แลกบ้านหลังใหญ่ขึ้น ความเสี่ยงนั้นจะลดลงเยอะ เพราะสถานะทางการเงินดีขึ้นแล้ว และกลุ่มครอบครัวขยายนั้นจะซื้อบ้านใหม่แล้วจะไม่ทิ้งอย่างแน่นอน ซึ่งโครงการบ้านแลกบ้าน ต้องเป็นลูกค้าที่มีสัญญาจองหรือสัญญาจะซื้อจะขายกับการเคหะฯ โดยเบื้องต้นจะมีค่าใช้จ่ายที่ลูกค้าจะต้องชำระในการแลกเปลี่ยนบ้าน ซึ่งค่าธรรมเนียมแลกเปลี่ยนภายในโครงการเดียวกัน 2,000 บาท ขณะที่ค่าธรรมเนียมแลกเปลี่ยนต่างโครงการ 5,000-1 หมื่นบาท

นอกจากนี้ กคช.จะมีการร่วมมือกับบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) โดยจะเริ่มเซ็นเอ็มโอยูความร่วมมือกันภายในปลายเดือน ธ.ค.นี้ ซึ่งจะเป็นการดำเนินงานร่วมกัน 2 กระทรวง คือ กระทรวงการคลัง และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อร่วมค้ำประกัน สินเชื่อในการทำกิจการหรือทำมาค้าขายให้กับคนที่เข้ามาซื้อบ้านของการเคหะฯ หรือมีการประกอบธุรกิจภายในบ้าน บสย.จะให้สินเชื่อไปประกอบธุรกิจมีเงินทำมาค้าขาย ซึ่งกลุ่มลูกค้านี้อาจจะตรงกับกลุ่มเป้าหมาย เนื่องจากจะมีตลาดรองรับภายในชุมชนมีอาชีพที่ชัดเจนอาจจะได้ลูกค้าที่ดีก็เป็นได้

"บสย.เป็นหน่วยงานที่สามารถทำกิจกรรมได้มากกว่าในอดีต เนื่องจากโดน พ.ร.บ.ควบคุมที่ให้ปล่อยสินเชื่อได้เฉพาะแค่เอสเอ็มอี แต่ถ้าสามารถเจรจาเพื่อให้เขาสามารถค้ำประกัน สินเชื่อบ้านได้นั้น จะมีมูลค่าอย่างมหาศาล ซึ่งเป็นเรื่องที่อยู่ระหว่างการเจรจาด้วยเช่นกัน" ธัชพล กล่าว

สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจในปีนี้ตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจอยู่ที่ 3 ปลายถึง 4% ส่งผลให้ความต้องการที่อยู่อาศัยขยายตัวขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เห็นได้ชัดว่าในปีงบประมาณ 2560 ซึ่งกำไรของ กคช.ถือว่าดีที่สุดในรอบ 10 ปี อยู่ที่ 1,257 ล้านบาท และแนวโน้มกำไรในปี 2561 จะดีกว่านี้ เนื่องจากยังมีโครงการที่จะต้องเร่งให้เสร็จอยู่จำนวนมาก โดยปัจจุบันมีโครงการที่อยู่ระหว่างการขายต่อปีประมาณ 2 หมื่นหน่วย จากกว่า 100 โครงการทั่วประเทศ