posttoday

คอนโดเปิดใหม่แตะ5หมื่นยูนิต

13 ตุลาคม 2560

คอลลิเออร์ส คาดคอนโดเปิดใหม่แตะ 5 หมื่นยูนิต เผยไตรมาส 4 เร่งขายสต๊อกเก่า จับตานักลงทุนทิ้งเงินจองหากผลตอบแทนต่ำ

คอลลิเออร์ส คาดคอนโดเปิดใหม่แตะ 5 หมื่นยูนิต เผยไตรมาส 4 เร่งขายสต๊อกเก่า จับตานักลงทุนทิ้งเงินจองหากผลตอบแทนต่ำ

นายสุรเชษฐ กองชีพ รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยบริษัท คอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า แม้ภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศไทยจะยังไม่ฟื้นตัว แต่เริ่มมีสัญญาณบวกในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา จากปัจจัยการส่งออกและการท่องเที่ยวที่เติบโตขึ้น

สำหรับในไตรมาส 4 มีทั้งโครงการคอนโดมิเนียมใหม่ที่เลื่อนเปิดตัวขึ้นมาในช่วงปลายไตรมาส 3 เพื่อสร้างการรับรู้ก่อนจะหยุดกิจกรรมทางการตลาดในเดือน ต.ค. และผู้ประกอบการหลายรายมุ่งที่จะระบายยูนิตที่สร้างเสร็จแล้ว และการโอนโครงการที่สร้างเสร็จเพื่อจะได้เพิ่มรายได้ให้เป็นไปตามเป้าหรือต่ำกว่าเป้าไม่มากเกินไป ซึ่งคอนโดเปิดขายใหม่ในกรุงเทพฯ ปีนี้มากกว่า 5 หมื่นยูนิต ซึ่งมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ช่วงกลางปี

ทั้งนี้ ตลาดคอนโดมีการเปลี่ยนแปลงมากที่สุดในช่วงไตรมาส 3 ที่ผ่านมา เพราะมีโครงการเปิดขายใหม่กว่า 1.8 หมื่นยูนิต มากที่สุดในรอบหลายปีที่ผ่านมา และจำนวนที่เปิดขายทั้งหมดประมาณ 73% เป็นของผู้ประกอบการในตลาดหลักทรัพย์ โดยมีโครงการในหลายทำเลได้รับการตอบรับที่ดี สามารถปิดการขายหรือมีอัตราการขายมากกว่า 80% ในวันที่เปิดขายแบบเป็นทางการวันแรก แต่ก็มีหลายโครงการที่อาจจะไม่ได้รับความสนใจเช่นกัน

ขณะที่อัตราการขายคอนโดเปิดขายใหม่ในไตรมาส 3 เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 60% ซึ่งถือว่าสูงกว่าไตรมาสอื่นๆ ที่ผ่านมา ระดับราคาที่ผู้ประกอบการให้ความสนใจมากที่สุดคือคอนโดที่มีราคาขายอยู่ในช่วง 6 หมื่น-1.2 แสนบาท/ตารางเมตร มีสัดส่วนถึง 64% เนื่องจากผู้ประกอบการเน้นเปิดขายโครงการในพื้นที่ที่ราคาที่ดินไม่สูงเกินไป เช่น พื้นที่ที่เส้นทางรถไฟฟ้าต่างๆ กำลังก่อสร้าง เช่น สายสีเขียว สายสีน้ำเงิน และสายสีส้ม เป็นต้น

อย่างไรก็ดี สิ่งที่หลายฝ่ายกังวลคือ เรื่องของกำลังซื้อหรืออุปสงค์ว่าสอดคล้องกับอุปทานที่เปิดขายใหม่ในแต่ละไตรมาสหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้ถ้าพิจารณาจากคอนโดที่โอนกรรมสิทธิ์ในแต่ละปี จะพบว่าในช่วงตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นมา ในกรุงเทพฯ มีคอนโดโอนกรรมสิทธิ์กันปีละกว่า 5.3 หมื่นยูนิต ซึ่งมากกว่าจำนวนคอนโดเปิดขายใหม่ต่อปี แต่คอนโดที่โอนกรรมสิทธิ์ส่วนหนึ่งเป็นการซื้อจากผู้ซื้อทั่วไปไม่ใช่จากผู้ประกอบการโดยตรง ทำให้ในปัจจุบันยังคงมีคอนโดเหลือขายอยู่ในตลาดอีกกว่า 3.69 หมื่นยูนิต ซึ่งเป็นภาระที่ผู้ประกอบการต้องเร่งระบายออก

ขณะเดียวกันผู้ประกอบการก็ต้องเปิดขายโครงการใหม่เพื่อรักษาการขยายตัวของบริษัทให้เป็นไปแบบต่อเนื่อง ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ดีเวลอปเปอร์หลายรายมีการพัฒนาออกแบบโครงการใหม่ให้มีความน่าสนใจ แปลกตา และโดดเด่นกว่าโครงการอื่นๆ เพื่อกระตุ้นความน่าสนใจ อีกทั้งยังเลือกเปิดโครงการในทำเลที่มีแนวโน้มการขยายตัว เพื่อที่ผู้ซื้อที่เป็นนักลงทุนจะได้คาดหวังผลตอบแทนที่จะได้รับในอนาคต

“สิ่งที่น่ากังวลคือการโอนกรรมสิทธิ์ของกลุ่มนักลงทุนที่ต้องขายก่อนที่จะโอน แต่อาจจะขายไม่ได้และเป็นเหตุให้มีการทิ้งเงินจองหรือทำเรื่องยกเลิกสัญญา และห้องเหล่านี้จะกลับมาเป็นปัญหาของผู้ประกอบการในอนาคต รวมไปถึงกำลังซื้อต่างชาติเพราะส่วนใหญ่ซื้อเพื่อการลงทุนเกือบทั้งหมด และหากผลตอบแทนต่ำกว่าที่คาดหวังไว้ก็อาจจะมีปัญหาเรื่องของการโอนเช่นกัน รวมไปถึงการโอนเงินระหว่างประเทศที่มีข้อจำกัดมากขึ้น”นายสุรเชษฐ กล่าว