posttoday

'ออริจิ้น'แก้เกมดีมานด์เทียม

25 สิงหาคม 2560

ออริจิ้นระบุปัญหาดีมานด์เทียมคอนโดกลางเมืองไม่น่าห่วง เชื่อตลาดดูดซับได้ แต่ต้องกันเสี่ยงเน้นผุดโครงการยูนิตน้อย-ขายเร็ว

ออริจิ้นระบุปัญหาดีมานด์เทียมคอนโดกลางเมืองไม่น่าห่วง เชื่อตลาดดูดซับได้ แต่ต้องกันเสี่ยงเน้นผุดโครงการยูนิตน้อย-ขายเร็ว

นายพีระพงศ์ จรูญเอก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ออริจิ้น พร็อพ เพอร์ตี้ เปิดเผยถึงปัญหาดีมานด์เทียมในตลาดคอนโดมิเนียม หรือกลุ่มที่ซื้อโดยนักลงทุนแต่ไม่ได้อยู่อาศัยจริงที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ผ่านมาว่ายังไม่น่าเป็นห่วง เนื่องจากเชื่อว่าในอนาคตตลาดจะถูกดูดซับได้ ขณะเดียวกันก็จะต้องพิจารณาเป็นรายทำเลไปว่าบริเวณใด อย่าเหมารวมทั้งหมดว่าตลาดไม่ดี

อย่างไรก็ตาม บริษัทได้มีการปรับตัวโดยการเปิดโครงการใหม่จะเน้นจำนวนยูนิตน้อยไม่เกิน 1,000 ยูนิต/โครงการ เพื่อให้สามารถปิดการขายได้รวดเร็ว และกระจายความเสี่ยงไปในหลายทำเลที่ใกล้กับแนวรถไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง หรือแนวสายปัจจุบัน

สำหรับการลงทุนในครึ่งปีหลังจะเปิดโครงการใหม่ 8 โครงการ มูลค่า 8,600 ล้านบาท แบ่งเป็นไตรมาส 3 จำนวน 4 โครงการ มูลค่า 7,400 ล้านบาท และไตรมาส 4 จำนวน 4 โครงการ ซึ่งจะเปิดตัวโครงการบ้านเดี่ยวโครงการแรก บริทาเนีย ศรีนครินทร์ เริ่มที่ 4.65-8 ล้านบาท  และโครงการคอนโดมิเนียมบีลอฟต์ อีก 3 โครงการ รวม 1,200 ล้านบาท โดยยังเดินหน้าเปิดโครงการใหม่ตามแผน

ขณะที่การร่วมทุนกับ บริษัท โนมูระ เรียลเอสเตท ดีเวลล็อปเมนท์ ที่เข้ามาถือหุ้นสัดส่วน 49% ในบริษัทย่อยจำนวน 4 บริษัท จะเริ่มเปิดขายโครงการได้ในไตรมาส 3 ปีนี้ 3 โครงการ มูลค่ารวม 6,100 ล้านบาท ได้แก่ 1.โครงการไนท์บริดจ์ ไพร์ม รัชโยธิน จำนวน 334 ยูนิต มูลค่าโครงการ 1,600 ล้านบาท 2.โครงการไนท์บริดจ์ ไพร์ม อ่อนนุช จำนวน 601 ยูนิต มูลค่า 2,500 ล้านบาท 3.โครงการไนท์บริดจ์ คอลลาจ รามคำแหง จำนวน 685 ยูนิต มูลค่าโครงการกว่า 2,000 ล้านบาท  และอีก 1 โครงการจะเปิดตัวกลางปี 2561 มูลค่าประมาณ 2,500 ล้านบาท

ทั้งนี้ โครงการที่เกิดจากการร่วมทุนกับโนมูระฯ นั้น จะมีการนำโนว์ฮาวและนวัตกรรมที่ชื่อว่า Luxmore ที่คำนึงถึงการใช้ชีวิต 5 ด้านมาใช้ ได้แก่ 1.การสร้างสรรค์ไลฟ์สไตล์ที่สมบูรณ์ 2.ความสะดวกสบายในพื้นที่ใช้สอย 3.การใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย 4.การออกแบบ 5.การบำรุงรักษา

ด้าน นายเอย์จิ คุสึคาเขะ ประธานกรรมการ บริษัท โนมูระ เรียลเอสเตท ดีเวลล็อปเมนท์ กล่าวว่า ปัจจุบันตลาดอสังหาริมทรัพย์ในญี่ปุ่นอยู่ในภาวะชะลอตัว ทำให้บริษัทพัฒนาอสังหาฯ ในญี่ปุ่นต้องขยายการลงทุนในต่างประเทศ โดยบริษัทวางแผนการลงทุนถึงปี 2567 จะใช้งบลงทุน 3 แสนล้านเยน หรือ 9.06 หมื่นล้านบาท ปัจจุบันมีการลงทุนไปแล้ว 4 ประเทศ ได้แก่ เวียดนาม จีน ฟิลิปปินส์ และไทย ซึ่งจะมีการลงทุนในไทยมากที่สุด โดยยังมองหาการลงทุนในรูปแบบอื่น เช่น อาคารสำนักงานขนาดกลาง-ขนาดเล็ก ธุรกิจบริการอสังหาฯหลังการขาย เป็นต้น