posttoday

โอกาสสุดท้ายยกเว้นภาษีฯ-ตั้งบริษัทใหม่

27 กรกฎาคม 2560

มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่9 ส.ค. 2559 ให้มีการยกเว้นภาษีและค่าธรรมเนียมต่างๆ ในการโอนทรัพย์สินสำหรับบุคคลธรรมดา

โดย...อิสระ บุญยัง

มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่9 ส.ค. 2559 ให้มีการยกเว้นภาษีและค่าธรรมเนียมต่างๆ ในการโอนทรัพย์สินสำหรับบุคคลธรรมดา ที่เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นใหม่ ซึ่งมาตรการดังกล่าวถือเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง สำหรับผู้ซึ่งประกอบธุรกิจในนามของบุคคลธรรมดาหันมาประกอบธุรกิจในลักษณะที่เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ทั้งนี้การลดหย่อนภาษีและค่าธรรมเนียมต่างๆ นั้น จะต้องเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตั้งแต่วันที่ 10 ส.ค. 2559-31 ธ.ค. 2560 ซึ่งยังมีเวลาอีกราว 5 เดือนเท่านั้น

มาตรการส่งเสริมดังกล่าวก็เพื่อให้บุคคลธรรมดาที่ประกอบธุรกิจอยู่และมีทรัพย์สินทั้งของส่วนตัวและจะจัดตั้งบริษัทขึ้นใหม่ สามารถโอนทรัพย์สินเข้ามาเป็นหุ้นแทนเงินสด ซึ่งจะได้รับการยกเว้นทั้งภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่มภาษีธุรกิจเฉพาะ อากรแสตมป์ สำหรับค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม (ค่าธรรมเนียมโอน) กรณีที่เป็นอสังหาริมทรัพย์ หรือห้องชุดก็ได้รับการลดหย่อนจาก 2% เหลือเพียง 0.1% (ของราคาประเมิน)

สำหรับการโอนกรณีที่เป็นอสังหา ริมทรัพย์ หรือห้องชุด ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรฉบับที่ 4 สามารถโอนเข้าเป็นทุนจดทะเบียนของนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นใหม่ในราคาตลาด แต่ต่อมาเมื่อวันที่ 5 มิ.ย. 2560 ได้มีประกาศอธิบดีกรมสรรพากรฉบับที่ 5 ออกมาใหม่ ให้การโอนทรัพย์สินประเภทที่ดินหรือที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างต้องโอนด้วยราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม ซึ่งเป็นราคาที่ใช้อยู่ในวันที่มีการโอนหรือราคาต้นทุนการซื้อที่ดินหรือที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่บุคคลผู้โอนได้ซื้อมาตามหลักฐานสัญญาซื้อขาย ที่ได้ทำเป็นหนังสือต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แล้วแต่ราคาใดจะสูงกว่า

ทั้งนี้ สำหรับบริษัทหรือนิติบุคคลผู้รับโอนทรัพย์สินที่มีทุนจดทะเบียนไม่เกิน 5 ล้านบาท และมีรายได้ไม่เกิน 30 ล้านบาทในหนึ่งรอบระยะเวลาบัญชีสามารถหักรายจ่ายเพิ่มขึ้นได้อีก 1 เท่าเป็นเวลา 5 รอบระยะเวลาบัญชีติดต่อกัน นับแต่จดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคล สำหรับรายจ่ายอันเกิดจากการจัดตั้งนิติบุคคลและรายจ่ายค่าทำบัญชีและค่าสอบบัญชีตามกฎหมายว่าด้วยการบัญชี ซึ่งถือว่าเป็นการอำนวยประโยชน์สำหรับธุรกิจขนาดเล็กเป็นอย่างมาก

สำหรับสิทธิประโยชน์และเงื่อนไขต่างๆ ผู้เขียนขอแนะนำให้ท่านตรวจสอบรายละเอียดเพิ่มเติมจาก

1.พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 630) พ.ศ. 2560

2.ประกาศอธิบดีกรมสรรพากรฉบับที่ 4 และฉบับที่ 5 เรื่องกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขการยกเว้นภาษีเงินได้ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะและอากรแสตมป์ ตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 630) พ.ศ. 2560

3.ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามประมวลกฎหมายที่ดินประกาศ ณ วันที่ 23 ธ.ค. 2559

แม้ว่ามาตรการดังกล่าว รัฐบาลจะมีวัตถุประสงค์ที่จะให้ธุรกิจขนาดกลางหรือขนาดเล็กเข้าสู่ระบบภาษีอย่างถูกต้อง แต่ผู้เขียนเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อผู้ที่ประกอบธุรกิจในนามของบุคคล เพราะจุดอ่อนสำคัญของการประกอบธุรกิจในนามบุคคลก็คือ ไม่มีระบบบัญชี ไม่ทราบกำไรขาดทุน ไม่ทราบว่าอะไรคือทรัพย์สิน อะไรคือรายได้ อะไรคือค่าใช้จ่ายและมักจะไม่ได้แยกแยะว่าอะไรคือรายได้-ค่าใช้จ่ายของตนเองหรือของกิจการ ที่เรียกกันว่าเงินเข้ากระเป๋าซ้ายออกกระเป๋าขวา การจัดตั้งบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลขึ้นใหม่ แม้จะมีภาระการจัดทำบัญชี ต้องส่งงบดุล งบกำไรขาดทุนทุกปี แต่ก็จะเป็นการปิดจุดอ่อนดังกล่าวข้างต้นและจะเป็นประโยชน์ต่อการเติบโตของกิจการในอนาคต