posttoday

ทบทวนภาษีที่ดินฯ รัฐเปิดรับความเห็น ประเมินฐานภาษีใหม่

29 มิถุนายน 2560

หลักสำคัญคือบูรณาการกฎหมายเพื่อให้การจัดเก็บมีความเสมอภาค ปิดช่องโหว่ของกฎหมายเดิม

โดย...อรวรรณ จารุวัฒนะถาวร

เนื่องด้วยโครงสร้างอัตราภาษีและฐานภาษีตามกฎหมายภาษีโรงเรือนและภาษีบำรุงท้องที่ที่ใช้อยู่ขณะนี้ไม่สอดคล้องกับสภาวการณ์ในปัจจุบัน ดังนั้นจึงได้มีการยกร่างพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. ...เพื่อปฏิรูปโครงสร้างระบบภาษีให้มีความทันสมัยและกำหนดให้ใช้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งร่างดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญ

อภิชาติ ประสิทธิ์ฤทธิ์ นายกสมาคมการค้าอสังหาริมทรัพย์และพันธมิตร และในฐานะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. ...เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ อยู่ในระหว่างการดำเนินการแปรญัตติ แต่ด้วยเรื่องที่เข้ามามีเป็นจำนวนมากและมีมุมมองหลากหลายจึงยังไม่มีข้อสรุปแบบฟันธง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอัตราการยกเว้นบ้านหลังแรก การตีความบ้านหลังแรกและหลังสอง  กรรมสิทธิ์เจ้าของบ้านซึ่งอาจไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดิน การบรรเทาลดหย่อน เป็นต้น

ทั้งนี้ กรมธนารักษ์และสำนักงานเศรษฐกิจการคลังมีแผนที่จะเปิดรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนในช่วงต้นเดือน ก.ค.นี้ ซึ่งเป็นการลงพื้นที่สำรวจนำความคิดเห็นจากภาคประชาชน เพื่อนำข้อมูลกลับมาพิจารณาเพราะมีผลต่อประชาชนและกลุ่มธุรกิจหลากหลายจึงพยายามให้เกิดเวทีนี้

นอกจากนี้ ยังมีการหารือโดยการเชิญกลุ่มผู้แทนภาคส่วนต่างๆ เข้ามารับฟังความคิดเห็นเพื่อให้เกิดความสมดุล หากออกกฎหมายมาแล้วไม่ได้พิจารณาอย่างถี่ถ้วนอาจจะเกิดผลกระทบและเป็นภาระกับประชาชนได้ เช่น กฎหมายใหม่จะอิงกับมูลค่าของอสังหาฯ ซึ่งมีมูลค่าสูงซึ่งการจัดเก็บเดิมจะดูจากโครงสร้างรายได้ ทั้งนี้ต้องพิจารณาให้สอดคล้องกับกฎหมายเดิมในเชิงของอัตราจัดเก็บให้มีผลกับยอดการจัดเก็บที่ไม่ก้าวกระโดด หรือเปลี่ยนไปจากเดิมจากหน้ามือเป็นหลังมือ เช่น เดิมเสียอยู่ 100 บาท กฎหมายใหม่ออกมาจ่ายเพิ่มเป็นเท่าตัว ซึ่งเป็นการสร้างภาระ ดังนั้นต้องมองรอบด้านให้มากที่สุด

สำหรับเรื่องที่แปรญัตติเข้ามาเป็นเรื่องของบริบทตัวฐานเพดาน เช่น อัตราและมูลค่าการเข้าเงื่อนไขอย่างบ้านที่อยู่อาศัยต่ำกว่า 50 ล้านบาทได้รับการยกเว้น ซึ่งการอภิปรายค่อนข้างเยอะ นอกจากนี้ยังมีเรื่องของบ้านหลังที่สองซึ่งยังไม่มีข้อสรุป หรือมติว่าจะเก็บแบบไหน หลักการพิจารณาบ้านหลังที่สองเป็นอย่างไร เพราะว่ามีช่องทางที่ภาคประชาชนจะโอนถ่ายเพื่อหลีกเลี่ยง หรือช่องการประเมินพิจารณาของภาครัฐเองตีความหลังแรกหลังที่สองอย่างไร

อีกทั้งเอกสารสิทธิการเป็นเจ้าของอสังหาฯ ซึ่งอสังหาฯ ถูกแบ่งเป็นที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง แต่การถือกรรมสิทธิ์ไม่ใช่แปลว่าคนที่เป็นเจ้าของที่ดินต้องเป็นเจ้าของสิ่งปลูกสร้างเสมอไป จึงเป็นเรื่องที่ต้องหารือเพื่อความเหมาะสม กฎหมายที่ออกมาควรสมเหตุสมผลถูกต้องตามวัตถุประสงค์

การที่มองว่าการจัดเก็บเพื่อให้ได้ยอดรายได้เพิ่มขึ้นจากภาษีเดิมเป็นเพียงประเด็นสนับสนุน แต่หลักสำคัญคือบูรณาการกฎหมายเพื่อให้การจัดเก็บมีความเสมอภาคมากกว่า ปิดช่องโหว่ของกฎหมายเดิมที่มีเรื่องของดุลยพินิจ แนวทางที่จะยึดปฏิิบัติให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ

ที่ผ่านมากฎหมายอิงจากฐานรายได้แต่ละธุรกิจมีความผันผวนจะหาฐานยาก แต่หากกฎหมายที่ยึดตามมูลค่าอสังหาฯ ซึ่งการกำหนดมูลค่าอสังหาฯ เช่น ที่ดิน ซึ่งมีกรมธนารักษ์เป็นผู้กำหนดมาตรฐานราคาประเมินทั่วประเทศอยู่แล้วจะเกิดความเป็นธรรม ทั้งนี้พื้นที่ไหนจะเพิ่มมากหรือน้อยถือเป็นประเด็นปลีกย่อย  ส่วนสิ่งปลูกสร้างยึดตามหลักมาตรฐานวิศวกรรมประเมินสิ่งปลูกสร้างออกมาใช้ทั่วประเทศ

กฎหมายใหม่ทำให้เกิดการสร้างมาตรฐานเทียบเท่ากันทั้งประเทศและมุ่งเน้นประโยชน์ที่ว่าการจัดเก็บเพื่อสร้างเป็นรายได้ใช้ในการบริหารจัดการในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเอง แม้ว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในบางพื้นที่จะยังไม่มีความพร้อม ซึ่งทางสำนักงานเศรษฐกิจการคลังต้องทำงานหนักร่วมกับท้องถิ่นเพื่อให้ทราบถึงบริบทหลักการและแนวทางปฏิบัติหากเมื่อกฎหมายมีผลบังคับใช้ ทั้งนี้เพื่อให้การปฏิบัตินั้นเป็นไปในทิศทางเดียวกันทั้งประเทศ

ในส่วนของการที่มีเสนอให้มีการปรับลดเพดานบ้านหลังแรกเหลือ 20 ล้านบาท หรือ 10 ล้านบาทนั้น ซึ่งคณะกรรมการฯ รวมทั้งผู้แปรญัตติต่างมีเจตนารมณ์ที่ดีที่จะทำให้กฎหมายฉบับนี้ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน แต่มุมมองที่หลากหลายต้องมาหาเหตุผลประกอบที่เหมาะสมและสามารถลงมติให้ได้ในที่สุด ซึ่งตอนนี้ตอบไม่ได้ว่าทิศทางจะไปอย่างไร เพราะหากมีใครไปฟันธงเท่ากับเป็นการชี้นำ ทั้งนี้คณะกรรมาธิการทุกท่านมีสิทธิออกเสียงเท่ากันอยู่แล้ว เพียงแต่ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนหาข้อมูลประกอบการพิจารณาให้ได้มากที่สุด ทั้งนี้การรับฟังความคิดเห็นก็เพื่อประเมินมูลค่าอสังหาฯ ในการคิดฐานภาษีใหม่ที่เหมาะสม โดยจัดเก็บเสมอภาค ซึ่งจะใช้ดุลยพินิจเจ้าพนักงานเท่าที่จำเป็น

สำหรับเพดานภาษีในร่างฯ เห็นว่าเหมาะสมและถูกกว่าเมื่อเทียบกับมาตรฐานสากลในต่างประเทศและการจัดเก็บจริงต่ำกว่าเพดานอยู่แล้ว เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่มซึ่งกฎหมายกำหนดเก็บ 10% แต่เสียจริง 7% เป็นต้น ทั้งนี้เชื่อว่าจะไม่กระทบกับคนส่วนใหญ่ เพราะที่ดินเกษตรมีเพียง 0.01% ที่เข้าเกณฑ์เสียภาษี ส่วนที่อยู่อาศัยมีเพียง 1.1 หมื่นหน่วยที่เข้าเกณฑ์

ทั้งนี้ หน่วยงานภาครัฐจะต้องเร่งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเกิดความเข้าใจและปรับตัวเมื่อเข้าใจและเชื่อว่าแรงต้านไม่น่าจะมี นอกจากนี้การเปิดรับความคิดเห็นจะช่วยทำให้ทราบถึงปัญหาของแต่ภาคละธุรกิจอุตสาหกรรมและประชาชนในบางประเด็นที่อาจคาดไม่ถึงได้

อย่างไรก็ดี ทางคณะกรรมาธิการฯ จะเร่งพิจารณาร่างฯ ดังกล่าวให้แล้วเสร็จตามกรอบเวลา ซึ่งได้มีการขยายอีก 60 วัน และจะครบกำหนดสิ้นเดือน ก.ค.นี้ แต่หากยังมีประเด็นที่ยังหาข้อสรุปไม่ได้ก็ต้องว่ากันไปตามสถานการณ์ อย่างเช่น กรณีที่มีการคาดว่าจะมีข้อสรุปในบางประเด็นแล้ว แต่เมื่อเปิดรับฟังความคิดเห็นกลับมีข้อท้วงติงมามากทางคณะกรรมาธิการอาจนำมาหารือพิจารณาใหม่

“ที่ประชุมได้มีการหารือถึงการบริหารจัดการในแง่ของการสำรวจเพื่อประเมิน เนื่องจากต้องเกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าไปในเคหสถานเพื่อทำการสำรวจ เพื่อนำมาการประเมินมูลค่าในการคิดฐานภาษีใหม่ว่าจะทำอย่างไรให้เหมาะสม และลดช่องว่างในการสร้างอำนาจที่ไม่ควรจากเจ้าหน้าที่ ซึ่งกฎหมายนี้จะสร้างมาตรฐานและกระบวนการให้เจ้าหน้าที่รัฐตีความใช้ดุลยพินิจเท่าที่จำเป็น” อภิชาติ กล่าว

ภาษีดังกล่าวไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นการปรับเปลี่ยนรูปแบบให้สอดคล้องกับยุคสมัยเหมาะสมกับการดำเนินธุรกิจจริง สิ่งที่ทุกคนกังวลคือการตรากฎหมายออกมาแล้วประชาชนเดือดร้อน เพราะทุกท่านที่เข้ามาทำงานก็เป็นประชาชนเหมือนกัน ดังนั้นจะไม่ออกกฎหมายเพื่อสร้างภาระและอยากให้มองว่าการเสียภาษีไม่ใช่การเสีย แต่ไม่มีการมองไปว่านั่นคือการได้ เพราะถ้าไม่มีคนเสียภาษีก็จะได้มาตรฐานการใช้ชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี อยากให้มองถึงการได้รับประโยชน์มากกว่า ไม่ว่าจะเป็นช่วยพัฒนาท้องถิ่นให้มีความเติบโต การใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างคุ้มค่าและเกิดมูลค่าสูงขึ้นตามการใช้ประโยชน์ เป็นต้น

ทั้งนี้ ด้วยกรอบของเวลาจึงต้องเร่งการทำงาน ซึ่ง พ.ร.บ.ฉบับนี้จะมีผลทันทีที่ประกาศใช้ โดยจะเริ่มการจัดเก็บในวันที่ 1 ม.ค. 2562 ตามที่รัฐบาลตั้งธงเอาไว้