posttoday

ทำเลยุทธศาสตร์ เมียนมา ประตูสู่ตะวันตกอาเซียน

13 เมษายน 2560

“เมียนมา” หลังการเปลี่ยนแปลงยุคใหม่นี้ซึ่งยังคงความ “เนื้อหอม” อยู่ เพราะมีความโดดเด่นทั้งในเรื่องทำเลที่ตั้ง

โดย...ชลธิชา ภัทรสิริวรกุล

“เมียนมา” หลังการเปลี่ยนแปลงยุคใหม่นี้ซึ่งยังคงความ “เนื้อหอม” อยู่ เพราะมีความโดดเด่นทั้งในเรื่องทำเลที่ตั้งและทรัพยากรธรรมชาติที่ยังสดใหม่ จึงถูกมองว่าเป็นเวสเทิร์น เกตเวย์ หรือเป็นประตูตะวันตกของอาเซียน และจีน ในการออกสู่ทะเลเพื่อส่งสินค้าออกสู่ตลาดยุโรปที่ดีที่สุด

จากงาน Uplift CLMV Experience เปิดประตูซีแอลเอ็มวี สู่โลกการค้าเสรีอาเซียน จัดโดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ร่วมกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย โดยมี “กูรู” ผู้เชี่ยวชาญมาร่วมแบ่งปันประสบการณ์ ข้อมูล การค้า การลงทุนในตลาดเมียนมา   

ทศทิศ รอดประเสริฐ ผู้แทนธนาคารกรุงเทพประจำกรุงย่างกุ้ง ประเทศเมียนมา และกรรมการสมาคมนักธุรกิจไทยในเมียนมา (TBAM) กล่าวว่า จากทำเล โลเกชั่นของเมียนมาที่เอื้ออำนวย ทำให้ในอนาคตจะกลายเป็นประตูการค้าตะวันตกออกสู่ทะเลที่สำคัญของซีแอลเอ็มวีที (กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา เวียดนามและไทย) ผ่านระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor:EWEC) รวมทั้งจีนที่กำลังให้ความสำคัญและต้องการมาก

สำหรับโอกาสของนักลงทุนไทยในเมียนมานั้นก็มีมากมาย เพราะเมียนมาไม่มีการก่อสร้างมาตั้งแต่ปี 2545 พอเปิดประเทศและได้เงินกู้ เงินลงทุนจากต่างประเทศก็ทำให้เริ่มมีการลงทุนก่อสร้างใหม่ๆ ขึ้นมาทันที ที่สำคัญเมียนมายังเป็นประเทศเปิดใหม่ที่ยังต้องนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศเป็นหลัก เพราะยังผลิตได้เองในประเทศไม่เพียงพอ

ธุรกิจที่เป็นโอกาสของผู้ประกอบการคนไทยที่จะเข้าไปลงทุนนั้น ยังมีหลากหลาย ทั้งธุรกิจก่อสร้าง ธุรกิจนำเข้าส่งออกสินค้าอุปโภคบริโภค และอุตสาหกรรมบางประเภทที่ยังต้องการใช้แรงงานเข้มข้นอยู่ โดยสามารถทำได้ทั้งการรีแพ็กเกจจิ้งและการผลิตเพื่อส่งออกต่างประเทศ เพราะเมียนมายังได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (จีเอสพี) อยู่

“ล่าสุดไทยอยากเข้าไปลงทุนทำธุรกิจมินิมาร์ทรวมทั้งซูเปอร์มาร์เก็ตในเมียนมา แต่ก็ยังไม่ได้รับไลเซนส์ ตอนนี้มีเพียงซูเปอร์มาร์เก็ตจากยุโรปที่กำลังได้รับไลเซนส์เข้าไปลงทุนตั้งที่เขตเศรษฐกิจติละวา ตอนนี้ทุกธุรกิจยังเต็มไปด้วยโอกาส ถ้าอยากเข้าไปต้องรีบศึกษาและเข้าไป เพราะไม่เช่นนั้นจะโดนแซงหมด” ทศทิศ กล่าว

อีกสิ่งที่เริ่มเห็นเทรนด์การลงทุนในเมียนมา คือ เริ่มเห็นบริษัทจากประเทศญี่ปุ่น โดยเฉพาะที่เคยลงทุนมีฐานการผลิตในประเทศไทย เช่น คูโบต้าและมารูเบนนี่ เริ่มย้ายฐานการผลิตเข้าไปอยู่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษติละวา ซึ่งเป็นการลงทุนเพื่อรองรับนักลงทุนจากญี่ปุ่นโดยเฉพาะ

ด้าน ปณิธาน ปวโรฬารวิทยา ประธานสภาธุรกิจไทย-เมียนมา และประธานบริษัท บูติคนิวซิตี้ ให้มุมมองว่า การเข้าไปเมียนมาวันนี้เหมือนนั่งไทม์แมชีนย้อนกลับไปดูประเทศไทยเมื่อ 10 ปีก่อน ถ้าเปิดใจมากพอก็จะเจอโอกาสอยู่เต็มไปหมด เพราะเมียนมามีทำเลที่ตั้งที่ดี การลงทุนผลิตในสินค้าอุปโภคบริโภคยังไปได้ดี เพียงแต่ยังต้องรอการลงทุนด้านสาธาณูปโภค เช่น น้ำและไฟฟ้าให้พร้อมกว่านี้ ทว่าหากมัวแต่รอก็ไม่ได้ เพราะถ้าไปตอนทุกอย่างพร้อม ต้นทุนก็สูงแล้ว โดยเฉพาะราคาที่ดิน

“การเข้าไปลงทุนเมียนมาจะบอกว่าง่ายก็ง่าย จะบอกว่ายากก็ยาก เพราะเป็นประเทศที่มี 2 ลุ่มน้ำ 7 ชนเผ่าใหญ่ หากใครเข้าไปแล้วมองว่าเป็นตลาดเดียวกันอาจจะทำตลาดผิดได้ อีกเรื่อง คือ กฎหมายการลงทุนฉบับใหม่ที่ยังไม่ชัด” ปณิธาน กล่าว

ขณะที่ พิมพ์พรรณ โพธิ์ประดิษฐ์ ตัวแทนจากบริษัท เอสซีจี โลจิสติกส์ ให้ข้อมูลในด้านของความเสี่ยงที่มีในเมียนมาว่า มีอยู่ 2 เรื่องคือ 1.ความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจ เช่น ผลิตไม่ได้ ขายไม่ได้ หรือส่งออกไม่ได้ วิธีแก้ คือ ต้องรู้จักทุกคน ทุกส่วนที่อยู่ในซัพพลายเซน 2.กฎระเบียบที่ย่อยออกในอีก 3 ส่วนคือ ไลเซนส์ที่เกี่ยวข้องกับบริษัททั้งหมดว่ามีอะไรบ้าง ระบบโลจิสติกส์ในภาคบริการเพราะยังเป็นเรื่องใหม่ของเมียนมา และขั้นตอนศุลกากร

“วิธีการปิดความเสี่ยงทั้งหมดนี้ คือ การมีพาร์ตเนอร์ หรือมีพันธมิตรท้องถิ่นที่ดีในการร่วมทำธุรกิจด้วย และง่ายที่สุดคือ การเข้าไปลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษติละวา ซึ่งมีความพร้อมในสาธารณูปโภคและได้การสนับสนุนจากรัฐบาลแล้ว” พิมพ์พรรณ กล่าว