posttoday

ถนนเชื่อมราชพฤกษ์-วงแหวน เพิ่มศักยภาพการพัฒนาแนวเหนือ-ใต้

26 กุมภาพันธ์ 2560

หากถนนเชื่อมราชพฤกษ์-ถนนกาญจนาภิเษก เป็นรูปธรรมมากขึ้น จะยิ่งเพิ่มศักยภาพในทำเลตามแนวถนน

โดย...ทศพล หงษ์ทอง

พื้นที่ฝั่งตะวันตกของกรุงเทพฯ และจังหวัดปริมณฑลตามแนวถนนกาญจนาภิเษก แม้จะยังไม่มีโครงข่ายคมนาคมระบบรางมาเชื่อมต่อมากนัก แต่ก็ยังมีโครงข่ายถนนในพื้นที่ที่สามารถเชื่อมการเดินทางจากในเมืองไปยังฝั่งตะวันตกอยู่หลายโครงการ และอีกหนึ่งโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง คือ โครงการก่อสร้างถนนต่อเชื่อมถนนราชพฤกษ์-ถนนกาญจนาภิเษก (แนวเหนือ-ใต้)

พิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน อธิบดีกรมทางหลวงชนบท เปิดเผยว่า ที่ผ่านมากรมได้ดำเนินการก่อสร้างถนนต่อเชื่อม ถนนราชพฤกษ์-ถนนกาญจนาภิเษก (แนวตะวันออก-ตะวันตก) พร้อมสะพานกลับรถแล้วเสร็จ ซึ่งจะเป็นโครงการที่ช่วยเสริมโครงข่ายคมนาคมด้านฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น สามารถเดินทางจากถนนราชพฤกษ์และถนนชัยพฤกษ์ไปถนนกาญจนาภิเษกได้อย่างสะดวก ร่นระยะทางและเวลาในการเดินทางได้มากยิ่งขึ้น และเพื่อเชื่อมโยงโครงข่ายให้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น กรมจึงได้ดำเนินโครงการก่อสร้างถนนต่อเชื่อมถนนราชพฤกษ์-ถนนกาญจนาภิเษก (แนวเหนือ-ใต้) ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินงานทรายถมคันทาง งานก่อสร้างเสาเข็มเจาะ งานตอกเสาเข็มโครงสร้างสะพาน และงานก่อสร้างฐานราก ใช้ระยะเวลาในการก่อสร้าง 900 วัน คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จในวันที่ 17 พ.ย. 2561

โครงการดังกล่าวเริ่มต้นจากสัญญาที่ 1 (NS1) วงเงิน 1,604 ล้านบาท คืบหน้าไปแล้วกว่าร้อยละ 20.14 ประกอบด้วย การก่อสร้างถนนลาดยางผิวแอสฟัลต์คอนกรีตไป-กลับ รวม 6 ช่องจราจร ระยะทาง 5.2 กิโลเมตร (กม.) พร้อมก่อสร้างทางแยกต่างระดับขุนมหาดไทยจำนวน 1 แห่ง งานก่อสร้างสะพานข้ามคลองพระอุดมจำนวน 1 แห่ง งานก่อสร้างสะพานข้ามคลองเกาะเกรียงจำนวน 1 แห่ง งานก่อสร้างสะพานลอยคนเดินข้ามจำนวน 1 แห่ง

สัญญาที่ 2 (NS2) วงเงิน 1,871 ล้านบาท คืบหน้าไปแล้วกว่าร้อยละ 20.34 ประกอบด้วย งานก่อสร้างถนนลาดยางผิวแอสฟัลต์คอนกรีตไป-กลับ รวม 6 ช่องจราจร ระยะทาง 2.8 กม. พร้อมก่อสร้างทางแยกต่างระดับไพร่ฟ้าจำนวน 1 แห่ง งานก่อสร้างสะพานลอยคนเดินข้ามจำนวน 1 แห่ง

ส่วนด้านสัญญาที่ 3 (NS3) วงเงิน 2,007 ล้านบาท ขณะนี้คืบหน้าไปแล้วกว่าร้อยละ 14.88 ประกอบด้วย งานก่อสร้างถนนลาดยางผิวแอสฟัลต์คอนกรีตไป-กลับ รวม 6 ช่องจราจร ระยะทาง 4.322 กม. พร้อมก่อสร้างทางแยกต่างระดับปทุมธานีจำนวน 1 แห่ง งานก่อสร้างสะพานข้ามคลองบางหลวงจำนวน 1 แห่ง งานก่อสร้างสะพานข้ามคลองมหาโยธาจำนวน 1 แห่ง

ขณะที่สัญญาที่ 4 (CD ROAD) วงเงิน 1,275 ล้านบาท ขณะนี้คืบหน้าไปแล้วกว่าร้อยละ 20.86 ประกอบด้วยงานก่อสร้างถนนลาดยางผิวแอสฟัลต์คอนกรีตไป-กลับ รวม 6 ช่องจราจร ระยะทาง 2.4 กม. พร้อมก่อสร้างทางแยกต่างระดับบางโพธิ์ใต้จำนวน 1 แห่ง งานก่อสร้างสะพานข้ามทางแยกถนนตัดกับ CD Road จำนวน 1 แห่ง งานก่อสร้างสะพานข้ามคลองบางโพธิ์ใต้จำนวน 1 แห่ง งานก่อสร้างสะพานข้ามคลองตัน จำนวน 1 แห่ง งานก่อสร้างสะพานข้ามคลองใหม่จำนวน 1 แห่ง งานก่อสร้างสะพานบกบน CD Road จำนวน 1 แห่ง

ทั้งนี้ โครงการก่อสร้างถนนต่อเชื่อมถนนราชพฤกษ์-ถนนกาญจนาภิเษก (แนวเหนือ-ใต้) เมื่อก่อสร้างเสร็จแล้วจะสามารถเชื่อมต่อโครงข่ายจราจรในพื้นที่ปริมณฑลด้านเหนือของกรุงเทพฯ ตลอดจนส่งเสริมศักยภาพโครงข่ายเส้นทางคมนาคมของกรุงเทพฯ และปริมณฑลให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น รองรับเส้นทางคมนาคมสายหลักในพื้นที่ที่มีการจราจรหนาแน่น ตลอดจนการขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจและสังคมในอนาคต

ด้าน กิตติพล ปราโมช ณ อยุธยา กรรมการผู้จัดการ บริษัท สัมมากร กล่าวว่า โครงการก่อสร้างถนนต่อเชื่อมถนนราชพฤกษ์-ถนนกาญจนาภิเษก แนวตะวันออก-ตะวันตก และแนวเหนือ-ใต้ จะช่วยให้การคมนาคมขนส่งสะดวกมากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาบริเวณถนนราชพฤกษ์แนวตะวันออก-ตะวันตกบริษัทได้ซื้อที่ดินไว้เมื่อ 2 ปีก่อน เฉลี่ยไร่ละ 8 ล้านบาท หรือ 2 หมื่นบาท/ตารางวา (ตร.ว.) แต่ปัจจุบันราคาขายได้ขยับขึ้นไปเป็น 10 ล้านบาท/ไร่ หรือเฉลี่ย 2.5 หมื่นบาท/ตร.ว.แล้ว

โครงข่ายถนนดังกล่าวจะทำให้การคมนาคมบริเวณแจ้งวัฒนะนั้นสะดวกมากขึ้น ขณะนี้ผู้ประกอบการรายหลายเริ่มไปเปิดโครงการ รวมไปถึงศูนย์วัสดุก่อสร้างขนาดใหญ่ นอกจากนี้ในบริเวณนี้จะมีการก่อสร้างมหาวิทยาลัยหอการค้าแห่งใหม่ แต่โครงการดังกล่าวปัจจุบันได้ชะลอแผนการพัฒนาโครงการดังกล่าวไป ส่วนบริเวณถนนราชพฤกษ์-ถนนกาญจนาภิเษกแนวเหนือ-ใต้นั้น บริษัทยังไม่มีที่ดินในขณะนี้

หากโครงการก่อสร้างถนนต่อเชื่อมถนนราชพฤกษ์-ถนนกาญจนาภิเษก (แนวเหนือ-ใต้) เริ่มเห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้นเรื่อยๆ จะยิ่งเพิ่มศักยภาพในทำเลตามแนวถนนดังกล่าวมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการเปิดพื้นที่ใน จ.ปทุมธานี ให้มีความน่าสนใจมากยิ่งขึ้น