posttoday

รู้ไว้ไม่ปวดหัว จุดเสี่ยงควรระวังหลังคารั่วซึม (1)

17 สิงหาคม 2558

ปัญหาประจำฤดูฝนอย่างหลังคารั่วซึมจนน้ำหยดไหลเข้าบ้านนั้น เป็นเรื่องน่าหนักใจมิใช่น้อย

โดย...scg experience

ปัญหาประจำฤดูฝนอย่างหลังคารั่วซึมจนน้ำหยดไหลเข้าบ้านนั้น เป็นเรื่องน่าหนักใจมิใช่น้อย แม้แต่การหาต้นต่อจุดรั่วซึมบางครั้งก็เป็นเรื่องยาก วิธีหลีกเลี่ยงปัญหานี้ควรเริ่มต้นด้วยการทำความเข้าใจถึงจุดเสี่ยงรั่วซึมบริเวณ “รอยต่อหลังคา” และ “บนผืนหลังคา” โดยก่อนอื่นขอเริ่มต้นที่จุดเสี่ยงรอยต่อหลังคาเป็นอันดับแรก สำหรับหลังคาบ้านที่มีความสลับซับซ้อนมาก มีรอยต่อมาก ย่อมเสี่ยงที่จะรั่วซึมได้มากตามจุดต่างๆ ดังนี้

บริเวณครอบสันหลังคาและตะเข้สัน

แนวรอยต่อระหว่างผืนหลังคา อย่างครอบสันหลังคาและตะเข้สันนี้อาจกลายเป็นจุดรั่วซึมได้ด้วยสาเหตุต่างๆ เช่น ปูนยึดครอบเสื่อม กระเบื้องครอบมีปัญหาหรือติดตั้งผิดวิธี เช่น วางแปคู่สันห่างเกินไป กระเบื้องครอบเผยอ ใส่ปูนทรายล้นหัวกระเบื้อง เป็นต้น วิธีแก้ไขกรณีปูนยึดครอบมีปัญหา ควรรื้อปูนยึดครอบออกแล้วติดตั้งกระเบื้องครอบใหม่ให้ถูกวิธี หากแปคู่สันห่างเกินไป ให้รื้อออกแล้ววางใหม่ด้วยเช่นกัน กรณีกระเบื้องครอบเผยอให้รื้อทำใหม่ โดยเจียนแต่งปลายครอบให้เรียบร้อย หรือหากกระเบื้องครอบเสื่อมสภาพควรเปลี่ยนใหม่ไปเลย ทั้งนี้ ผู้ที่กำลังสร้างบ้านใหม่ ควรใส่ใจเรื่องการติดตั้งครอบให้ถูกวิธี เลือกอุปกรณ์ที่เหมาะสมกับรุ่นกระเบื้อง ลดโอกาสเกิดปัญหาเรื่องรั่วซึมระยะยาว

บริเวณแนวรอยต่อกระเบื้องหลังคาชนผนัง

เป็นอีกจุดที่ต้องมีวัสดุปิดครอบและอาจเกิดรั่วซึมได้ง่าย โดยเฉพาะการใช้ปูนปั้นปิดยึดรอยต่อจะเสี่ยงต่อการรั่วซึมมากที่สุด กรณีใช้ปีก ค.ส.ล. หากคอนกรีตเกิดการเสื่อมสภาพ หรือติดตั้งไม่ได้มาตรฐานก็อาจทำให้รั่วซึมได้ เช่น เสียบเหล็กยึดผิดวิธีปีก ค.ส.ล.สั้นไป ติดสูงหรือต่ำเกินไป ซึ่งมักต้องแก้ไขโดยการทุบทิ้งทำใหม่ (กรณีติดตั้งสูงไปอาจเสริมความหนาได้) นอกจากนี้ ตัวกระเบื้องหลังคาใต้ปีกอาจมีปัญหา เช่น แตกร้าว ติดตั้งห่างผนังเกินไป หรือใช้ลอนคว่ำชนผนัง กรณีเหล่านี้จะต้องรื้อกระเบื้องหลังคาออกแล้วมุงใหม่ให้ถูกต้อง

เพื่อลดปัญหารั่วซึมระยะยาวอาจเปลี่ยนจากปีก ค.ส.ล. มาเป็นใช้แผ่นปิดรอยต่อปิดเชื่อมระหว่างกระเบื้องหลังคากับผนัง จากนั้นติดตั้ง Flashing สเตนเลส เหนือแผ่นปิดรอยต่อ ส่วนกรณีเกิดปัญหาปูนปั้นรั่วซึมควรเปลี่ยนมาติดตั้งวิธีนี้แทน นอกจากนี้ หากต้องการความสวยงามสามารถเลือกใช้ชุดระบบครอบผนัง (มีเฉพาะสำหรับกระเบื้องหลังคาบางรุ่นเท่านั้น) ประกอบด้วย แผ่นปิดรอยต่อ และ Flashing สเตนเลสแบบสั้น พร้อมครอบผนัง เพื่อความเรียบร้อยสวยงาม ทั้งนี้ แผ่นปิดรอยต่อสามารถใช้ปิดรอยต่อหลังคาทั่วๆ ไป เพื่อกันรั่วซึมได้ด้วย

รอยต่อบริเวณตะเข้รางและรางน้ำเชิงชายก็ไม่ควรมองข้ามเช่นกัน ซึ่งนอกจากจะติดตั้งให้ถูกต้องแล้ว ควรเลือกรางน้ำที่มีขนาดเหมาะสม ไม่แคบเล็กจนเกินไป และมีรูปทรงที่ระบายน้ำได้ง่าย เพื่อป้องกันมิให้น้ำล้นรางไหลย้อนเข้าบ้าน ทั้งนี้ ควรนำเศษใบไม้กิ่งไม้ออกจากรางน้ำ เพื่อป้องกันการอุดตัน (หรืออาจเลือกใช้รางน้ำแบบที่มีตะแกรงกันใบไม้เพื่อความสะดวก)

มาถึงตรงนี้เจ้าของบ้านหลายท่านคงทราบถึงจุดเสี่ยงรั่วซึมบริเวณรอยต่อหลังคาบ้าน รวมถึงวิธีป้องกันและแก้ไขโดยสังเขปแล้ว อย่างไรก็ตาม โอกาสเกิดการรั่วซึมมิได้มีแค่บริเวณรอยต่อหลังคาบ้าน แต่บนผืนหลังคาบ้านก็อาจรั่วซึมได้ด้วยสาเหตุต่างๆ ซึ่งจะขอกล่าวถึงในตอนถัดไป