posttoday

ใช้ภาษีลดเหลื่อมล้ำ รวยจนไม่ได้

06 มีนาคม 2558

การผลักดันเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

โดย...เกียรติศักดิ์ ผิวเกลี้ยง/ชลลดา อิงศรีสว่าง

การผลักดันเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ประกาศจะแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำของประเทศ ซึ่งประกาศมาตั้งแต่สมัยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามาบริหารประเทศ เพราะไม่ต้องการให้ใครนำเอาปัญหาความรวยจนมาปลุกระดมทางการเมืองอีก

กฎหมายภาษีที่กระทรวงการคลังดำเนินการเพื่อให้เป็นสัญลักษณ์ของการลดความเหลื่อมล้ำ คือ การออก พ.ร.บ.ภาษีมรดก คู่กับกฎหมายการให้และการรับ ซึ่งได้ผ่านการพิจารณาจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไปแล้ว และอยู่ในระหว่างการแปรญัตติในวาระที่ 2 ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)

อีกฉบับคือการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง โดยมีเจตนารมณ์ที่จะเก็บภาษีผู้ที่ครอบครองที่ดินจำนวนมาก แต่ไม่ได้นำไปทำประโยชน์ ซึ่งถือเป็นการสูญเปล่าทางเศรษฐกิจ

การเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ถือเป็นเรื่องใหญ่กระทบกับคนทั้งประเทศ ทำให้การผลักดันภาษีไม่มีความคืบหน้า เพราะรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งไม่คิดจะทำ เกรงจะเสียฐานเสียงและคะแนนนิยม ทั้งที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กระทรวงการคลัง คิดเรื่องนี้มานานกว่า 30 ปี มีสมัยรัฐบาลประชาธิปัตย์ อดีตนายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เคยผลักดันเรื่องนี้ถึงสภาแต่ก็แป้ก และเมื่อเปลี่ยนเป็นรัฐบาล
ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็โยนกฎหมายนี้เข้ากรุอีกครั้ง

การผลักดันภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ ต้องแลกมาด้วยความแตกแยกภายในพรรค เมื่อนักการเมืองสายเก่าไม่เห็นด้วย เพราะกลัวว่าคู่แข่งทางการเมืองจะนำไปโจมตีว่า เห็นไหมว่ารัฐบาลนี้กำลังออกกฎหมายมาทำให้คนที่มีบ้านทุกคนต้องควักกระเป๋าจ่าย ทำให้เสียคะแนนทางการเมืองและอาจทำให้หนทางที่จะมารัฐบาลอีกครั้งมืดมน

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลอภิสิทธิ์ก็ยอมหักนักการเมืองในพรรคเพื่อดันกฎหมายเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เพื่อลดความเหลื่อมล้ำของสังคม ก่อนที่จะโดนรัฐบาล
ต่อมาโยนทิ้งเพื่อรักษาคะแนนและความนิยมทางการเมือง

ดังนั้น การเสนอร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ของรัฐบาล คสช. จึงไม่ใช่เรื่องง่ายแม้ว่าจะมีอำนาจเบ็ดเสร็จในการบริหารประเทศก็ตาม จะเห็นได้ว่ากฎหมายนี้ได้รับการต่อต้านตั้งแต่เศรษฐีรวยที่ดิน ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับการถือครองที่ดิน และคนทั่วไปที่มีบ้านอยู่อาศัย กังวลกับกฎหมายดังกล่าวมาก เพราะมีภาระต้องควักเงินในกระเป๋าจ่ายเงินภาษีเพิ่ม

ถึงขนาด สมหมาย ภาษี รมว.คลัง ออกปากว่าเศรษฐีไทยหวงสมบัติ ภาษีมรดกก็จะไม่ยอมเสีย ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างก็จะไม่ยอมจ่าย ทำให้ประเทศไทยไม่เดินหน้าแล้วยังถอยหลัง เพราะแก้ปัญหาเหลื่อมล้ำไม่ได้ และยังฉุดรั้งให้ไทยเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วไม่ได้

ส่งผลให้ รมว.คลัง ถูกรุมกินโต๊ะมากที่สุดในรัฐบาล เพราะประกาศชัดเจนว่าไม่ยอมถอย อย่างไรก็จะเสนอร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เข้า ครม.ให้ได้ภายใน 2 สัปดาห์นี้ หากใครจะไม่ให้เสนอก็ต้องมาเขาออกจากตำแหน่ง รมว.คลัง เป็นการบอกอย่างตรงไปตรงมา เพราะกฎหมายนี้สำคัญกับประเทศในระยะยาว เพราะนอกจากจะแก้ปัญหาเหลื่อมล้ำแล้ว ยังเป็นการสร้างความเข้มในการเก็บรายได้ให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) มีเพียงพอกับการพัฒนาความเป็นอยู่ของคนในพื้นที่ให้ดีขึ้น

สำหรับสาระสำคัญของกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ก็มีการรื้อใหญ่หลายครั้ง จากเดิมที่แบ่งเป็นเพดานภาษี 4 อัตรา ที่ดินเพื่อการเกษตร 0.5% ที่ดินเพื่ออยู่อาศัย 1% ที่ดินเพื่อการพาณิชย์ 2% และที่ดินรกร้างว่างเปล่า 4%

เมื่อมีการโยนหินถามทางออกมา กระแสต่อต้านภาษีเกิดขึ้นอย่างหนักหน่วง เพราะเห็นว่าเพดานภาษีดังกล่าวสูงเกินไป เป็นภาระของประชาชน จึงได้มีการปรับอัตราภาษีอีกครั้ง เป็นภาษีที่ดินเพื่อการเกษตร 0.25% ที่ดินเพื่ออยู่อาศัย 0.5% ที่ดินเพื่อการพาณิชย์ 1% และที่ดินรกร้างว่างเปล่า 2%

รมว.คลัง ระบุว่า เพดานอัตราภาษีทั้งหมดคิดอยู่บนพื้นฐานว่าอัตราเพดานควรสูงกว่าอัตราที่คิดจะเก็บจริง 3-4 เท่า นั้นหมายความอัตราภาษีที่ดินที่จะให้ อปท.เก็บจริงต่ำกว่าอัตราเพดานที่กำหนดไว้มาก

ในส่วนของภาษีที่ดินเพื่อการเกษตร คาดว่าจะเก็บไม่เกิน 0.05% ของราคาประเมินเท่านั้น และยังยกเว้นสำหรับผู้ที่มีที่ดินเพื่อการเกษตรไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือ 1.5 ล้านบาท ไม่ต้องเสียภาษีอีกด้วย

สำหรับภาษีบ้านอยู่อาศัยคาดว่าเก็บไม่เกิน 0.1% มีการยกเว้นบ้านที่ราคาไม่เกิน 1 ล้านบาท บ้านที่ราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท เก็บภาษีแค่ครึ่งเดียว และบ้านที่ราคาเกิน 10 ล้านบาท เสียเต็มอัตรา นั้นหมายความว่าคนที่มีบ้านเกิน 3 ล้านบาทขึ้นไป ต้องเสียภาษีบ้านล้านละ 1,000 บาท ซึ่งหากพิจารณากันแล้วถือว่าเหมาะสม คนที่อยู่บ้านราคาแพงควรเสียภาษีบ้าน คนที่มีบ้านหลังละ 10 ล้านบาท ต้องจ่ายภาษีให้รัฐปีละ 1 หมื่นบาท หรือคนที่มีบ้าน 100 ล้านบาท ต้องจ่ายภาษีให้รัฐปีละ 1 แสนบาท ก็ถือว่าเป็นแนวทางมาตรฐานสากลเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ แต่คนรวยที่ต้องเสียมากก็ไม่เห็นด้วย โดยอ้างว่าภาษีที่ดินก็ต้องเสีย ภาษีมรดกก็ต้องเสีย ทำให้การดันภาษีทั้งสองตัวเพื่อแก้ความเหลื่อมล้ำเป็นงานหินของรัฐบาล

นอกจากการเก็บภาษีที่ดินบ้านอยู่อาศัย ยังมีปัญหาการเก็บภาษีที่ดินเพื่อการพาณิชย์ ที่จากเดิมเสียภาษีโรงเรือน ซึ่งมีการเสียภาษีน้อย เพราะเป็นการเก็บจากฐานรายได้ที่มีความคลาดเคลื่อน แต่เมื่อมาเก็บเป็นภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่เก็บจากราคาประเมิน จะทำให้ต้องมีภาระภาษีสูงขึ้น ผู้ประกอบการจำนวนมากก็ต่อต้านภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างใหม่

สุดท้ายภาษีที่ดินรกร้างว่างเปล่า ที่จะเริ่มเก็บ 0.5% และเพิ่มขึ้นเท่าตัวทุก 3 ปี หากไม่มีการใช้ประโยชน์ นั้นหมายความว่าหากไม่ใช้ประโยชน์ 6 ปี ก็ต้องเสียภาษีให้รัฐเต็ม 2% ทำให้เศรษฐีรวยที่ดินวิ่งกันวุ่นล็อบบี้รัฐบาลและผู้ที่เกี่ยวข้องล้มกฎหมายนี้

แม้แต่ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ที่มีพื้นที่ว่างเปล่ารอพัฒนาโครงการยังไม่ยอมเสียภาษีที่ดินรกร้างว่างเปล่า และอ้างกดดันรัฐบาลว่าหากเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง คนซื้อบ้านต้องซื้อบ้านแพงขึ้น แต่กลับมา
บอกว่าที่ต้องทำเช่นนั้นเพื่อต้องรักษากำไรไว้เท่าเดิม หรือให้มากกว่าเดิม จึงต้องผลักภาระให้ผู้ซื้อจะได้ไม่ขาดทุนกำไร

จึงไม่ใช่เรื่องแปลกในช่วงโค้งท้ายของการเสนอร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง จึงมีการล็อบบี้ของกลุ่มผลประโยชน์กันวุ่น ถึงขนาดเดิมพันกันถึงล้มกฎหมายนี้ของฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย ขณะที่สมหมายก็
เดิมพันถึงเก้าอี้ รมว.คลัง ตราบใดที่ยังอยู่ในตำแหน่งจะเดินหน้ากฎหมายนี้เสนอให้ ครม.เห็นชอบภายใน 2 สัปดาห์นี้

จะเห็นได้ชัดเจนว่า การเสนอเก็บภาษีมรดกที่รัฐบาลจะเก็บกับผู้ที่ได้รับมรดกตั้งแต่ 50 ล้านบาทขึ้นไป มีกระแสต่อต้านจากคนรวยเท่านั้น ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นนายทุนของนักการเมือง ในขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศเห็นด้วยที่จะให้รัฐบาลเก็บภาษีมรดก แต่เมื่อมาถึงคิวการพิจารณาภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างก็มีเสียงค้านจากประชาชนดังระงมทั่วแผ่นดิน

ถามว่าการเก็บภาษี 2 ประเภทนี้ช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมได้หรือไม่ ในความจริงแล้ว การลดความเหลื่อมล้ำลดช่องว่างคนรวยและคนจน มีอีกหลายเรื่องที่จะต้องพิจารณา การใช้ภาษีลดความเหลื่อมล้ำ คนที่เห็นโอกาสก็ใช้ช่องว่างของกฎหมายหลบเลี่ยงภาษีไปได้อีก โดยเฉพาะเศรษฐีถึงกับจ้างที่ปรึกษากฎหมายมาเพื่อหาช่องว่างเลี่ยงเสียภาษีให้น้อยที่สุด ในขณะที่คนชั้นกลางหรือมนุษย์เงินเดือนไม่มีทางที่จะเลี่ยงเสียภาษีให้น้อยลงได้เลย

มาตรการภาษีจึงใช้แก้ไขอะไรไม่ได้ แต่การกระจายทรัพยากรให้ทั่วถึง การจัดสรรให้คนมีที่ดินทำกิน มีอาชีพและมีรายได้เพียงพอเลี้ยงตัวเอง เป็นแนวทางที่แก้ไขปัญหาที่ยั่งยืนกว่า