posttoday

เลือกวัสดุกันร้อนให้บ้าน

20 มีนาคม 2560

ประกาศเข้าหน้าร้อนปุ๊บอากาศก็ร้อนปั๊บอย่างแม่นยำ มาหาเทคนิคคลายร้อนกันกับ เอสซีจี ก็น่าจะดีไม่ใช่น้อย

ประกาศเข้าหน้าร้อนปุ๊บอากาศก็ร้อนปั๊บอย่างแม่นยำ มาหาเทคนิคคลายร้อนกันกับ เอสซีจี ก็น่าจะดีไม่ใช่น้อย ซึ่ง ชัยทัต ศรีสุดาวรรณ ผู้เชี่ยวชาญจากวัสดุก่อสร้างเอสซีจี บอกว่า ยุคนี้เป็นยุคที่ง่ายในการเลือกวัสดุ เพราะนวัตกรรมด้านการก่อสร้างพัฒนาขึ้นมาก โดยวิธีเลือก 3 วัสดุยอดฮิตที่ช่วยทำหน้าที่ลดความร้อนเข้าสู่ตัวบ้าน

- ฉนวนกันความร้อน

นับเป็นปราการด่านแรกที่นอกจากจะช่วยสกัดกั้นความร้อนจากหลังคาไม่ให้ถ่ายเทมาสู่ภายในบ้านแล้ว ยังสามารถสะท้อนรังสีความร้อนได้ถึง 95% สามารถติดตั้งได้ตั้งแต่บริเวณใต้หลังคา บนฝ้าเพดาน และภายในผนังบ้าน โดยเฉพาะด้านทิศตะวันตก ซึ่งในช่วงบ่ายจะเป็นเวลาที่ร้อนที่สุด

การติดตั้งฉนวนกันความร้อนทำได้ง่าย และติดตั้งได้ทั้งบ้านใหม่และบ้านเก่า ทั้งยังติดตั้งได้ตั้งแต่ฝ้าแบบทีบาร์และฝ้าแบบฉาบเรียบ นอกจากนี้ ยังมีความหนาให้เลือกหลากหลาย ฉนวนที่มีความหนามาก ก็จะยิ่งมีประสิทธิภาพในการกันความร้อนได้ดีกว่าฉนวนที่มีความหนาน้อย

เลือกวัสดุกันร้อนให้บ้าน ชัยทัต ศรีสุดาวรรณ

สำหรับบ้านชั้นเดียว แนะนำให้ใช้ฉนวนกันร้อนขนาด 6 นิ้ว ที่กันความร้อนได้ดีถึง 4 เท่า ส่วนบ้านสองชั้นทั่วไป สามารถติดตั้งฉนวนที่มีความหนา 3 นิ้วได้ตามปกติ ซึ่งกันความร้อนได้ดีถึง 4 เท่า และยังสามารถช่วยให้ประหยัดไฟได้ถึง 47% เมื่อเทียบกับบ้านที่ไม่ได้ติดฉนวน และควรเลือกประเภทที่ผลิตจากใยแก้ว เพราะไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ที่สำคัญยังเป็นวัสดุไม่ลามไฟอีกด้วย

- ฝ้าชายคาและฝ้าภายในบ้าน

เลือกฝ้าที่มีค่าการนำความร้อนต่ำ และมีความยืดหยุ่น แข็งแรง ทนน้ำและทนชื้นได้ดี ไม่มีใยหินที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ภายนอกบ้านแนะนำให้เลือกใช้ฝ้าชายคา ที่มีรูหรือช่องให้อากาศระบายผ่านเข้าออกได้ เพื่อรับลมเย็นและระบายความร้อนที่สะสมใต้โถงหลังคาที่โดนแดดมาตลอดทั้งวัน โดยปัจจุบันมีฝ้ารุ่นใหม่ที่มีรูระบายอากาศสำเร็จจากโรงงาน และมีตาข่ายไฟเบอร์กลาสคุณภาพสูงที่ช่วยระบายความร้อน ติดตั้งง่ายและป้องกันแมลงเข้าสู่ตัวบ้าน

เลือกวัสดุกันร้อนให้บ้าน

สำหรับความร้อนบางส่วนที่ยังหลงเหลืออยู่ภายใต้โถงหลังคา ฝ้าภายในบ้านจะช่วยได้ ควรเลือกใช้ฝ้าที่กันความร้อนได้ดีหรือมีค่าการนำพาความร้อนต่ำ เพื่อช่วยกันความร้อนจากโถงหลังคาเข้าสู่ตัวบ้าน ทั้งยังเพิ่มประสิทธิภาพเมื่อใช้ร่วมกับฉนวนกันร้อนใต้หลังคาและแผ่นสะท้อนความร้อน ซึ่งจะทำให้สามารถช่วยลดการใช้พลังงานจากเครื่องปรับอากาศลงได้ถึง 23-45%

- ผนังหรือตัวบ้าน

ควรเลือกใช้วัสดุที่ไม่สะสมความร้อน อย่างอิฐมวลเบา ซึ่งมีคุณสมบัติเป็นฉนวนกันความร้อนได้ดีกว่าอิฐมอญ 4-8 เท่า และมีน้ำหนักเบากว่าอิฐมอญ 2 เท่า จึงช่วยประหยัดพลังงานลดค่าไฟฟ้าได้มากกว่า 30% เมื่อเทียบกับบ้านที่ไม่ได้ใช้อิฐมวลเบา นอกจากนี้ ยังมีขนาดหลากหลายให้เลือก

เคล็ดลับการเลือกอิฐมวลเบา ควรเลือกวัสดุจากผู้ผลิตที่เชื่อถือได้ มีความแข็งแรง ไม่เปราะ เนื้อวัสดุมีการกระจายตัวของฟองอากาศอย่างสม่ำเสมอและเป็นระเบียบ ผนังอิฐมวลเบายังสามารถเจาะ ตอก ยึดแขวนสิ่งของต่างๆ บนผนังได้อย่างมั่นใจ เพียงแค่ทำงานให้ถูกต้อง และเลือกขนาดพุกให้เหมาะสมกับประเภทของสิ่งของที่จะแขวน