posttoday

Passive Income กับอิสรภาพทางการเงิน

25 ตุลาคม 2561

นิยามที่แท้จริงของคำว่าอิสรภาพทางการเงิน

โดย...จักรพงษ์ เมษพันธุ์

จนถึงทุกวันนี้ยังมีคนจำนวนไม่น้อยที่ยังคงสับสนกับนิยามของ 2 คำฮิตในโลกการเงิน นั่นคือ Passive Income กับ Financial Freedom มันเหมือน หรือต่าง หรือเกี่ยวข้องกันอย่างไร

ในฐานะที่พอจะรู้จักและเข้าใจ ผมอยากจะเล่านิยามและแบ่งปันมุมมองของสองคำนี้ให้ทุกท่านได้ฟังกัน เผื่อจะเป็นประโยชน์ในการต่อยอดสู่ความสำเร็จทางการเงินครับ

Passive Income หรือรายได้จากทรัพย์สิน หมายถึง รายได้ที่เกิดจากการนำทรัพย์สินที่เราสร้างหรือครอบครองไปใช้ประโยชน์ อาทิ ธุรกิจให้กำไรอสังหาริมทรัพย์ให้ค่าเช่า ตราสารการเงิน (หุ้น พันธบัตร กองทุนรวม ฯลฯ) ให้เงินปันผล หรือดอกเบี้ยลิขสิทธิ์หรือสิทธิบัตรให้ค่าลิขสิทธิ์หรือส่วนแบ่งกำไร เป็นต้น

รายได้จากทรัพย์สินนี้เป็นรายได้ที่อยู่ในรูป “กระแสเงินสด” ที่เราจะได้รับอย่างต่อเนื่อง โดยไม่ต้องทำงานตลอดเวลาไม่ต้องทำงานทุกวัน เลือกเวลาทำงานได้ จัดสรรเวลาได้ (แต่ไม่ทำอะไรเลยแล้วได้เงินไม่มีนะครับ) ต่างจากรายได้ประเภทเงินเดือนหรือค่าจ้าง ที่หยุดทำไม่ได้ หยุดทำก็จะไม่มีรายได้ (Active Income)

ตามนิยามของคนทั่วไปนั้น ว่ากันว่าคนเราถ้ามีรายได้จากทรัพย์สินมากกว่ารายจ่ายรวมในแต่ละเดือนเมื่อไหร่ เราก็จะมีอิสระทางการเงินเมื่อนั้น เช่น ถ้าเรามีรายจ่ายต่อเดือน 3 หมื่นบาท หากเรามีคอนโดให้เช่า 1 หลัง เก็บค่าเช่าหักค่าผ่อนแล้วเหลือเดือนละ 1 หมื่นบาท มีธุรกิจที่เราจ้างลูกจ้างทำงานให้ มีกำไรต่อเดือน เดือนละ 2 หมื่นบาท แบบนี้เราก็จะถือว่ามีอิสรภาพทางการเงิน หรือ Financial Freedom ตามนิยามของกูรูทางการเงินส่วนใหญ่

แต่สำหรับผม Financial Freedom หรือ อิสรภาพทางการเงินนั้น ผมให้ความหมายที่แตกต่างตามประสบการณ์ของตัวเองว่า มันคือการมีชีวิตที่มีอิสระทางความคิด โดยไม่มี “เงิน” เป็นเครื่องพันธนาการ

ทำอะไร ตัดสินใจอะไร ไม่ต้องเอา “เงิน” เป็นตัวตั้ง ไม่เลือกทำบางงานเพราะได้เงินเยอะ เกี่ยงงานบางงานเพราะได้เงินน้อย หรือไม่ทำเลย ถ้าไม่ได้เงิน

เพราะหากคนเราถ้ายังหายใจเข้าออกเป็น เงิน เงิน เงิน … แล้วมันจะมีอิสรภาพทางการเงินที่แท้จริงได้อย่างไร

ด้วยเหตุของนิยามตามข้างต้น ทำให้ผมมองเห็นและเข้าใจได้ว่า โจทย์ที่แท้จริงของ Financial Freedom ก็คือ “ความคิด” ไม่ใช่เงิน หรือรายได้จากทรัพย์สิน

เพราะต่อให้คุณเป็นพนักงานประจำ แต่ถ้าคุณเลือกทำงานนั้นด้วยตัวคุณเองทำงานด้วยใจรัก ด้วยความชอบ ไม่เบื่อ ไม่บ่นทำงานสนุกทุกวันเหมือนไม่ได้ทำงาน มุ่งมั่นตั้งใจ ทำเกินเงินเดือน แถมรายได้ก็ยังพอเก็บ พอกิน พอสะสม

แบบนี้ก็อาจเรียกได้ว่ามีอิสรภาพทางการเงินแบบไม่ต้องมีเงินเยอะๆ หรือมีรายได้จากทรัพย์สินก็ได้เหมือนกัน (แต่มีก็น่าจะดีกว่าใช่มั้ย 555)

ตรงกันข้าม คนบางคนที่มีรายได้จากทรัพย์สิน แต่ทุกวันก็ยังคิดถึงแต่เงิน ทำอะไรก็ยังเอาเงินเป็นตัวตั้ง ไม่ได้เงินก็ไม่ทำแบบนี้ต่อให้มี Passive Income มากแค่ไหน ก็ยังถือว่าไม่มีอิสรภาพทางการเงินอยู่วันยังค่ำ

ที่อธิบายมาข้างต้น ไม่ได้ต้องการคัดค้านหลักคิดทางการเงิน หรือตั้งเป็นประเด็นถกเถียงเรื่องเงินๆ ทองๆ เพียงแต่อยากจะนำเสนอวิธีคิดว่า อิสรภาพทางการเงินที่แท้จริงนั้น ในความเป็นจริงแล้วอยู่ใกล้มากกว่าที่ใครหลายคนเข้าใจ

ลูกศิษย์ผมคนหนึ่งลาออกจากงานประจำ มาเดินตามความฝันการเป็นนักเขียนการ์ตูนของตัวเอง แม้จะต้องเริ่มต้นจากความยากลำบาก แต่ด้วยใจรัก เขาก็สามารถทำสิ่งที่รักให้กลายเป็นธุรกิจเลี้ยงตัวได้

เริ่มต้นจากการเปิดร้านขายเสื้อที่เขาออกแบบเอง แม้จะรายได้ไม่มากนัก แต่ก็พอเลี้ยงตัวได้สบาย แถมยังมีเวลามาเขียนการ์ตูนตามความฝันของตัวเอง

ปัจจุบันเขามีร้านขายเสื้อที่ออกแบบลายเอง 2 สาขา มีบ้านเช่า 1 หลัง และมีงานเขียนการ์ตูนที่ประสบความสำเร็จ ถึงระดับรางวัลชมเชยจากการประกวดที่ประเทศญี่ปุ่น

เริ่มต้นจาก “ความคิด” ที่เป็น “อิสระ” หลุดให้พ้นจากพันธนาการปลอมๆ ที่สร้างขึ้นมาหลอกตัวเอง นั่นคือ จุดเริ่มต้นของอิสรภาพทางการเงิน และความสุขที่แท้จริงของชีวิต

ลองปลดปล่อยตัวเองจากพันธนาการทางการเงิน แล้วใช้ “ใจ” นำทางดูบ้างนะครับ เราเรียนหนังสือกันมานาน จนเอะอะอะไรก็ใช้แต่สมอง

หาเงินให้เยอะ มีทรัพย์สินให้แยะ … ต้องใช้สมองคิด

แต่หากอยากได้ชีวิตที่อิสระ และมีความสุข … ต้องใช้ใจครับ

เพราะอิสรภาพทางการเงินที่แท้จริงนั้น มองไม่เห็นด้วยตา … แต่มองเห็นได้ด้วยความคิด

#TheMoneyCoachTH