posttoday

บ้านสำหรับผู้สูงอายุ

13 กันยายน 2561

จากสถิติต่างๆ ที่ทำการสำรวจกันมานั้น คาดการณ์ไว้ว่าในปี 2564 ประเทศไทยจะเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์

จักรพงษ์ งามเอกลักษณ์ ฝ่ายออกแบบภายใน บริษัท จาร์เค็น

ทุกวันนี้ประเทศเรากำลังเริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ จากสถิติต่างๆ ที่ทำการสำรวจกันมานั้น คาดการณ์ไว้ว่าในปี 2564 (อีก 3 ปีข้างหน้านี้) ประเทศไทยจะเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ หมายความว่า เราจะมีจำนวนประชากรที่อายุ 60 ปีขึ้นไป มากถึง 20% ของจำนวนประชากรทั้งหมด ซึ่งย่อมส่งผลต่อการอยู่อาศัยในบ้านเราไม่มากก็น้อยครับ

โอกาสที่เราจะมีผู้สูงอายุอาศัยอยู่ร่วมกันย่อมมีมากขึ้นครับ การออกแบบพื้นที่พักอาศัยจึงจำเป็นต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษ ซึ่งจะช่วยให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นทั้งทางกายและใจ ช่วงหลังๆ มานี้ตัวผมเองก็มีโอกาสได้ออกแบบบ้านให้ลูกค้าหลายๆ ท่าน ซึ่งต้องเตรียมความพร้อมไว้สำหรับผู้สูงอายุเช่นกันครับ ต้องเรียนกันตามตรงเลยครับว่าไม่ใช่เรื่องง่ายเลยครับ เพราะความต้องการต่างๆ จะแตกต่างจากวัยอื่นๆ แต่มีคำแนะนำง่ายๆ ที่ควรคำนึงถึง ดังนี้

พื้นบ้าน เรื่องสำคัญมากอย่างหนึ่งเลยครับ เพราะเป็นส่วนที่ต้องสัมผัสบ่อยครั้งที่สุด วัสดุปูพื้นควรเป็นวัสดุที่ไม่ลื่น ไม่มัน ลวดลายไม่เยอะ ยิ่งถ้าเป็นแบบนุ่มๆ ได้ก็ยิ่งดีครับ เผื่อกรณีที่เกิดการหกล้ม จะช่วยลดอาการบาดเจ็บได้ครับ ที่สำคัญอีกอย่างคือ ไม่ควรมี Step หรือพื้นต่างระดับ เพราะมีโอกาสสะดุดล้มได้ง่าย

ทั้งนี้ ควรติดราวจับบนผนังได้มากเท่าไรยิ่งดีครับ ซึ่งจะช่วยให้ผู้สูงอายุช่วยเหลือตัวเองได้ ควรติดตั้งสูงจากพื้น 80-90 เซนติเมตร และควรมีพื้นที่ว่างประมาณ 1.50 เมตร สำหรับผู้สูงอายุที่ต้องนั่งรถเข็นวีลแชร์สามารถหมุนกลับรถเข็นได้

ส่วนประตู ควรกว้างกว่าประตูทั่วไปที่เราใช้กัน อย่างน้อยที่สุด 90 เซนติเมตร หรือมากกว่านั้น ซึ่งจะเพียงพอสำหรับรถเข็นครับ ถ้าเป็นประตูบานเลื่อนได้จะดีกว่าประตูบานเปิดครับ น้ำหนักประตูไม่ควรมากจนเกินไป เนื่องจากผู้สูงอายุนั้นแรงจะน้อยกว่าคนทั่วไป

ในส่วนของห้องน้ำเป็นเรื่องสำคัญมากจุดหนึ่ง เนื่องจากผู้สูงอายุส่วนใหญ่เข้าห้องน้ำบ่อยและมีโอกาสลื่นล้มในห้องน้ำได้มาก ห้องน้ำถ้าอยู่ในห้องนอนได้ยิ่งดีครับ ควรแยกพื้นส่วนเปียกในโซนอาบน้ำและส่วนแห้งออกจากกัน และที่สำคัญอีกอย่างคือ ไม่ควรมี Step ในห้องน้ำ กระจกกั้นห้องอาบน้ำอาจจะไม่จำเป็นเช่นกันครับ เพราะว่าการเข้าออกจะไม่สะดวก อาจใช้ม่านอาบน้ำช่วยกันน้ำกระเด็นออกแทน รวมทั้งติดตั้งราวจับช่วยพยุงตามจุดต่างๆ เช่น ห้องอาบน้ำ หรือด้านข้างชักโครก

ขณะที่เฟอร์นิเจอร์ต่างๆ เช่น โต๊ะ เก้าอี้ หรือเคาน์เตอร์ต่างๆ ควรมีลักษณะแบบปรับระดับได้ เก้าอี้ควรเป็นแบบมีที่วางแขนเพื่อช่วยพยุงตัวเวลาที่ยืนขึ้น โต๊ะหรือเคาน์เตอร์ควรเป็นแบบด้านล่างเปิดโล่ง เพื่อสามารถนั่งสอดขาหรือให้รถเข็นวีลแชร์เข้าไปนั่งได้สะดวก

ที่กล่าวมานี้เราสามารถนำไปปรับใช้กันได้ตามความจำเป็นและความเหมาะสมของสถานที่ แต่เหนืออื่นใดการดูแลผู้สูงอายุอย่างใกล้ชิด ให้ความรักและความเอาใจใส่ต่อท่าน ย่อมทำให้ท่านมีความสุขทั้งกายและใจอย่างแน่นอนครับ