posttoday

นานาประเภทหน้าต่าง

05 เมษายน 2561

หน้าต่างเป็นอีกองค์ประกอบที่เชื่อมระหว่างพื้นที่ ภายในและภายนอกบ้านเป็นทั้งช่องมองทิวทัศน์ ช่องทางรับแสงธรรมชาติ รับลม รวมถึงช่องทางการระบายถ่ายเทหมุนเวียนอากาศ

โดย...เอสซีจี เอ็กซ์พีเรียนซ์

หน้าต่างเป็นอีกองค์ประกอบที่เชื่อมระหว่างพื้นที่ ภายในและภายนอกบ้านเป็นทั้งช่องมองทิวทัศน์ ช่องทางรับแสงธรรมชาติ รับลม รวมถึงช่องทางการระบายถ่ายเทหมุนเวียนอากาศ ทั้งนี้ หน้าต่างแต่ละประเภทจะมีลักษณะเปิดปิดที่แตกต่างและเหมาะสมกับการใช้สอยแตกต่างกัน

หน้าต่างบานเปิดบานหน้าต่างจะเปิดอ้าออกไปอีกฝั่ง จึงสามารถรับลมได้เต็มช่องเปิด กรณีใช้งานชั้นล่างหรือพื้นที่ติดระเบียงทางเดิน จะต้องระวังไม่ให้บานหน้าต่างกีดขวางพื้นที่ใช้สอยและทางสัญจรฝั่งที่เปิดออกไปหน้าต่างบานเปิดจะมีบานพับ 2 รูปแบบ ได้แก่ บานพับแบบธรรมดา ซึ่งเปิดออกได้กว้างถึง 180 องศา แต่ต้องมีขอยึดกันลมพัดกับอีกรูปแบบคือ บานพับแบบเปิดค้าง(นิยมเรียกว่า บานพับวิทโก้) ซึ่งไม่ต้องใช้ตัวล็อก แต่จะเปิดได้ไม่ถึง 180 องศา

หน้าต่างบานเลื่อน บานที่เปิดจะเลื่อนไปซ้อนกับบานติดตาย ทำให้ช่องลมเหลือครึ่งเดียว แต่มีข้อดีคือไม่กินพื้นที่จึงไม่กีดขวางทางสัญจร ในการใช้งานควรคำนึงเรื่องตัวล็อก หรือระบบรักษาความปลอดภัยที่แน่นหนาด้วย

หน้าต่างบานยก (Slide-hung) คล้ายหน้าต่างบานเลื่อน แต่จะเปิดปิดในทิศทางขึ้นลง (ยกบานขึ้นโดยบิดอุปกรณ์ล็อกเพื่อเปิดค้างไว้และยกบานลงเพื่อปิด) ซึ่งช่องลมจะเหลือเพียงครึ่งเดียวของช่องเปิด แต่ก็มีข้อดีเรื่องประหยัดพื้นที่เช่นเดียวกันกับหน้าต่างบานเลื่อน ทั้งนี้ ในการใช้งานควรคำนึงเรื่องระดับความสูงที่ไม่ทำให้ลำบากขณะเปิดปิด

นานาประเภทหน้าต่าง

หน้าต่างบานกระทุ้ง เป็นหน้าต่างที่มีบานพับอยู่ด้านบนของบาน ในการเปิดจะดันด้านล่างออกไป ซึ่งจะกินพื้นที่อีกฝั่งเช่นเดียวกับหน้าต่างบานเปิด จึงต้องระวังไม่ให้เกิดการกีดขวาง ลักษณะการเปิดของหน้าต่างบานกระทุ้งอาจรับลมได้ไม่เต็มที่ แต่ตัวบานจะทำหน้าที่เป็นกันสาดในตัว และหากเป็นบานทึบจะช่วยกันแสงแดดจากด้านบนอีกด้วย ทั้งนี้ หน้าต่างบานกระทุ้งนอกจากจะนิยมติดตั้งต่อเนื่องกันเป็นจังหวะที่สวยงามแล้ว ยังนิยมติดตั้งบานเล็กๆ เป็นหน้าต่างในห้องน้ำเพื่อการระบายอากาศที่ดีอีกด้วย

หน้าต่างบานพลิกคือ หน้าต่างที่มีจุดศูนย์กลางของการหมุนอยู่บริเวณกลางบาน หรือกลางวงกบ สามารถเปิดได้โดยการผลักให้บานพลิกไปมามีทั้งแบบแนวตั้งและแนวนอน เมื่อเปิดแล้วจะได้ช่องเปิดเต็มที่ได้ลมดีสามารถทำความสะอาดได้ แต่ขณะเปิดจะกินพื้นที่ทั้งภายในและภายนอกอย่างละครึ่งบาน หากเป็นบานพลิกแบบพลิกขึ้นในแนวนอนจะทำหน้าที่เป็นเหมือนกันสาด (คล้ายกับบานกระทุ้ง) แต่จะไม่สามารถติดมุ้งลวดกันแมลงได้ จึงเหมาะสำหรับพื้นที่ที่ต้องการสัมผัสบรรยากาศภายนอกอย่างเต็มที่ แต่อาจไม่เหมาะสำหรับห้องส่วนตัวหรือห้องนอน

หน้าต่างบานเกล็ดมีทั้งแบบติดตายและแบบหมุนปรับระดับการเปิดปิดได้ ประหยัดพื้นที่สามารถใช้ได้กับผนังที่ติดกับภายนอกอาคาร หรือผนังกันพื้นที่ แต่ละส่วนภายในอาคาร ทั้งนี้ การเลือกใช้หน้าต่างบานเกล็ดจะมีข้อคำนึงเพิ่มเติมต่างจากหน้าต่างที่มีลักษณะบานทั่วไป อันดับแรกคือ ช่วงหน้าต่างต้องไม่กว้างเกินไป เพื่อไม่ให้ชิ้นบานเกล็ดแอ่นและแตกหักง่าย น้ำหนักของบานเกล็ดควรสัมพันธ์ และเหมาะสมกับอุปกรณ์หมุน เรื่องการกันฝน หากฝนสาดแรง น้ำฝนอาจย้อนไหลเข้ารอยต่อระหว่างแผ่นบานเกล็ดได้ (การออกแบบชิ้นบานเกล็ดให้มีระยะซ้อนทับเยอะจะช่วยป้องกันฝนสาดได้) นอกจากนี้ ตัวบานเกล็ด บานกรอบ และชุดอุปกรณ์ยึดสามารถถอดออกได้ง่าย จึงควรระวังเรื่องความปลอดภัย (อาจติดเหล็กดัดกันขโมยเพิ่มเติม)

จะเห็นได้ว่าหน้าต่างแต่ละประเภทนั้นมีข้อดี ข้อเสียแตกต่างกัน เจ้าของบ้านควรพิจารณาเรื่องความเหมาะสมของลักษณะการใช้งานและสภาพแวดล้อมโดยรอบ รวมถึงข้อจำกัดด้านพื้นที่ เพื่อให้สามารถเลือกใช้หน้าต่างที่ตรงตามความต้องการและเกิดประโยชน์สูงสุด