posttoday

โมเดลพัฒนา ‘สยาม-ปทุมวัน’ สู่เมืองนวัตกรรมแห่งยุค 4.0

22 มกราคม 2561

"นวัตกรรม" เป็นประเด็นที่มีการนำมาเสนออย่างมากในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา แต่ไม่มีการต่อยอดให้เกิดเป็นรูปธรรมที่จับต้องได้

โดย...อรวรรณ จารุวัฒนะถาวร

"นวัตกรรม" เป็นประเด็นที่มีการนำมาเสนออย่างมากในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา แต่ไม่มีการต่อยอดให้เกิดเป็นรูปธรรมที่จับต้องได้ ขณะที่รัฐบาลได้มีนโยบายที่ขับเคลื่อนประเทศไทยเข้าสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 สร้างความแข็งแกร่งให้กับประเทศ โดยเปลี่ยนเศรษฐกิจแบบเดิมไปสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม

ทั้งนี้ ทางสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) ได้ริเริ่มพัฒนา "ย่านนวัตกรรมโยธี" ให้เป็นต้นแบบย่านนวัตกรรมของประเทศ มุ่งเน้นการพัฒนานวัตกรรม 3 ด้าน ซึ่งสอดคล้องกับลักษณะของพื้นที่ที่เป็นหน่วยงานรัฐ สถานบริการสาธารณสุข และที่พักอาศัย ได้แก่ นวัตกรรมทางการแพทย์ นวัตกรรมสำหรับภาครัฐ และนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาเมือง

อย่างไรก็ดี บริเวณทำเลย่านสยาม-ปทุมวัน ถือเป็นศูนย์กลางธุรกิจในทุกด้าน ภายในพื้นที่มีทั้งห้างสรรพสินค้า บริษัท และแหล่งการศึกษา ที่มีผู้เข้ามาในพื้นที่ประมาณวันละ 1.2 แสนคน

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยพร้อมเป็นผู้นำในการส่งเสริมการพัฒนาพื้นที่ย่านสยามสแควร์และปทุมวันสู่เมืองนวัตกรรมแห่งสยาม (Siam Innovation District : SID) เพื่อร่วมขับเคลื่อนภาคการศึกษาและภาคอุตสาหกรรมในประเทศสู่ยุค Thailand 4.0 ตลอดจนส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการรุ่นใหม่และสร้างสตาร์ทอัพไทยรายใหม่ด้วยการผลักดันโครงการศูนย์กลางนวัตกรรมแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CU Innovation Hub) ให้เป็นศูนย์รวม ทั้งเรื่องของการเรียนรู้ อีกทั้งเป็นเวทีกลางให้ผู้ผลิตและผู้ลงทุนได้เจรจากัน

ศ.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จุฬาฯ ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดตั้ง ซียู อินโนเวชั่น ฮับ โดยรัฐบาลสนับสนุนงบประมาณ 200 ล้านบาท เพื่อส่งเสริมให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมเพื่อสังคม โดยมีเป้าหมายสร้างเสริมสังคมไทยสู่วิถีใหม่ในการใช้ชีวิต การเรียนรู้และความคิดสร้างสรรค์

ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าปัจจุบันมีสตาร์ทอัพเกิดขึ้นจำนวนมาก แต่ผลงานที่สามารถนำไปต่อยอดมีไม่มากนักเพราะยังไม่ตอบโจทย์ในตลาด ในย่านนี้ก็มีบริษัทสตาร์ทอัพกว่า 10 บริษัท ดังนั้น ซียู อินโนเวชั่น ฮับ จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถสตาร์ทอัพไทย โดยการสนับสนุนแนะนำและส่งเสริมนักสร้างสรรค์นวัตกรรมที่มีพรสวรรค์ออกสู่ตลาด

ในเบื้องต้นจะมุ่งเน้น 4 หัวข้อหลัก ได้แก่ Aging Society หรือสังคมผู้สูงอายุ Digital Economy & Robotics หรือเศรษฐกิจแบบดิจิทัลและระบบหุ่นยนต์ Sustainable Development หรือการพัฒนาอย่างยั่งยืน และ Inclusive Community & Smart City หรือชุมชนที่มีส่วนร่วมและเมืองอัจฉริยะ โดยจุฬาฯ ได้รับงบการอุดหนุนจากรัฐจำนวน 20 ล้านบาท ดำเนินการปรับปรุงพื้นที่ในสยามสแควร์วันขนาด 1,000 ตารางเมตร (ตร.ม.) ซึ่งเดิมให้เช่า ทว่าเมื่อหมดสัญญาเช่าแต่ไม่มีการต่อสัญญาจึงพัฒนาเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้และสร้างสตาร์ทอัพ โดยเปิดบริการใน วันที่ 22 มี.ค.นี้ เป็นต้นไป

สำหรับแผนสนับสนุนการพัฒนาพื้นที่ย่านสยามสแควร์และปทุมวันให้พลิกโฉมจากแหล่งช็อปปิ้งสู่เมืองนวัตกรรมต้นแบบการพัฒนาพื้นที่ย่านสยามสแควร์และปทุมวัน ภายใต้โครงการเมืองนวัตกรรมแห่งสยาม มี เป้าหมายมุ่งสู่การสร้างสังคมอุดมปัญญา มีพันธกิจหลัก 4 ประการที่ต้องดำเนิการ ได้แก่ 1. การเชื่อมโยงภาคอุตสาหกรรม (Industry Liaison) 2.ตลาดนัดนวัตกรรม (Marketplace) 3.ชุมชนนวัตกรรมแห่งอนาคต (Futurium) และ 4.การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (Talent Building)

อย่างไรก็ตาม ด้วยพันธกิจดังกล่าวได้เกิดเป็นโครงการส่งเสริมนวัตกรรมแห่งสยาม (100 SID) ซึ่งเป็นโครงการที่ผลักดันให้นวัตกรรมรุ่นใหม่ได้มีพื้นที่ในการจัดแสดงผลงาน การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ความร่วมมือทางธุรกิจ ตลอดจนเป็นโครงการต้นแบบในการนำนวัตกรรมไปต่อยอดการใช้งานให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศไทย ขณะนี้มี 38 ทีม จาก 55 ทีมที่ผ่านการคัดเลือกเข้าสู่รอบสุดท้ายก่อนประกาศรายชื่อผู้ที่จะได้รับทุนสนับสนุนจากโครงการดังกล่าวในวันที่ 22 มี.ค.นี้

นอกจากนี้ จุฬาฯ มีแผนพัฒนาพื้นที่ย่านสวนหลวงและสามย่านจำนวนกว่า 200 ไร่ ตามแผนพัฒนาในระยะเวลา 15 ปี โดยในช่วง 1-2 ปีนี้ มีแผนพัฒนาให้เป็นสมาร์ทอินดัสเทรียลคอมมูนิตี้ ด้วยงบลงทุนราว 700 ล้านบาท ซึ่งเป็นการลงทุนเอง และจะเป็นการทยอยสร้างนอกเหนือจากสเตเดี้ยมวันที่เอกชนลงทุน โดยจะเปิดบริการในเดือน ก.พ.นี้

ทั้งนี้ แผนการพัฒนาในพื้นที่จะแบ่งการพัฒนาเป็น 3 โซน คือ ฝั่งสนามกีฬาแห่งชาติ จะพัฒนาเป็นย่านสุขภาพ ฝั่งพระราม 4 เป็นย่านการศึกษาและรักษาพยาบาล และตรงกลางบริเวณอุทยานจุฬาฯ 100 ปี ซึ่งจะเชื่อมต่อทั้งสองฝั่ง บริเวณนี้จะมีทั้งบริษัท ศูนย์วิจัย ร้านค้า ที่อยู่อาศัย และยังมีแผนเชื่อมต่อกับเมืองนวัตกรรมแห่งสยามอีกด้วย

นอกจากนี้ มีแผนปรับพื้นที่ราวกว่า 1 ไร่ ของโรงภาพยนตร์สกาลา ซึ่งจะหมดสัญญาเช่ากลางปีนี้โดยผู้เช่าเดิมไม่ต่อสัญญา ขณะนี้ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นจากสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ถึงรูปแบบการพัฒนาโดยจะไม่มีการทุบอาคารเดิม เช่นในรูปแบบมิวเซียม คาดว่าจะมีความชัดเจนปลายปีนี้ อย่างไรก็ดี จุฬาฯ มีแผนจะพัฒนาโครงการในหลายๆ พื้นที่ที่หมดสัญญาเช่าให้สอดรับกับเมืองนวัตกรรมแห่งสยาม

อย่างไรก็ดี ในช่วง 3 ปีจากนี้ จุฬาฯ มุ่งสร้างอีโคซีสเต็มพัฒนาแพลตฟอร์มใหม่ๆ รองรับ ซึ่งจะเน้นการสร้างและผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพ รวมทั้งเปิดตลาดด้วยการโชว์เคสและเป็นเวทีกลางให้ผู้ผลิต นักลงทุน และผู้ขายมาเจอกัน ซึ่งปัจจุบันไม่จำเป็นต้องมีหน้าร้าน เบื้องต้นเป็นการนำร่องในประเทศก่อน รวมทั้งจะเห็นมิติการเชื่อมโยงระหว่างมหาวิทยาลัยเพื่อร่วมกันทำงานให้สามารถสู้กับนานาชาติได้

ขณะเดียวกัน มองว่าในช่วง 1-2 ปีนี้จะเห็นเทรนด์ใหม่ๆ ซึ่งเป็นผลมาจากการนำนวัตกรรมมาใช้มากขึ้น เพื่อตอบสนองการใช้ชีวิตให้มีความสะดวกสบายและปลอดภัยยิ่งขึ้น ดังนั้นผู้ประกอบการหรือสตาร์ทอัพต้องนำจุดเด่นที่มีการปรับรับเทรนด์ที่จะเกิดขึ้น เช่น กลุ่มผู้สูงอายุ เป็นต้น