posttoday

เลือกคอนโดถูกสถานีมีชัยกว่าครึ่ง

09 มกราคม 2561

กรุงเทพฯ กำลังจะเปลี่ยนไปมาก สถานีรถไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นเท่าตัว จะกลายเป็นทางเลือกจำนวนมหาศาล

โดย...หน้ากากอสังหาฯ

เผลอแวบเดียวก็เข้าสู่สัปดาห์ที่สองของศักราชใหม่ปี 2561 แล้ว ปีจอปีนี้ประเดิมด้วยความร้อนแรงของตลาดหุ้นที่พุ่งกระฉูดสร้างสถิติใหม่ต่อเนื่อง ส่วนฝั่งอสังหาริมทรัพย์เอง ข่าวที่ส่งผลบวกให้กับอุตสาหกรรมมากที่สุด เห็นจะไม่พ้นการก่อสร้างเมกะโปรเจกต์ด้านคมนาคมต่างๆ ของภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นมอเตอร์เวย์ ทางด่วน ทางคู่ รถไฟความเร็วสูง ขยายสนามบินใหม่ รวมถึงการเร่งงานก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าหลายสายในกรุงเทพฯ ซึ่งสายหลักๆ อย่างรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย (บางซื่อ-บางแค และหัวลำโพง-ท่าพระ) ที่ตามแผนจะแล้วเสร็จปี 2562 ก็ถือว่าใกล้เข้ามาทุกที

เช่นเดียวกับรถไฟฟ้าสายสีเขียวฝั่งแบริ่ง-สมุทรปราการ ก็คืบหน้าไปมาก หลังจากทดลองเปิดให้บริการสถานีสำโรงแล้ว สถานีอื่นๆ ก็จะทยอยเปิดให้บริการต่อเนื่อง ส่วนรถไฟฟ้าสายสีเขียวฝั่งหมอชิต-สะพานใหม่ แม้จะเพิ่งเริ่มๆ ก่อสร้าง แต่ก็มีคอนโดเข้าไปปักธงจำนวนมาก ไม่ต้องพูดถึงสายที่ใกล้จะเสร็จอย่างส่วนต่อขยายสีน้ำเงิน เวลานี้คึกคักมาก รายใหญ่ๆ เข้าไปปักธงเปิดหน้าดินใหม่ๆ แล้ว จากที่ไม่ค่อยมีโครงการคอนโด เวลานี้เรียกได้ว่าเกือบทุกสถานีของถนนจรัญสนิทวงศ์และถนนเพชรเกษม มีแต่คอนโดของแบรนด์ใหญ่ 

หลายคนเลยมีคำถามว่าแล้วจะซื้อโครงการไหนดี?

ผมอาจไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนอสังหาริมทรัพย์ แต่หากมองในมุมคนอยู่อาศัยแล้ว ผมมีข้อมูลที่น่าสนใจอยากแบ่งปัน นั่นก็คือนอกจากจะต้องมองว่าจะเลือกซื้อโครงการไหนแล้ว ที่สำคัญไปกว่านั้นอาจจะต้องมองว่า ควรซื้อ "ใกล้สถานีอะไร" ด้วย อย่างที่ผมบอก ผมมองในมุมคนอยู่อาศัย ไม่ใช่นักลงทุน ถ้าใครที่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัยเพื่ออยู่เอง ข้อมูลของผมก็น่าจะพอเป็นประโยชน์ ส่วนคนที่ซื้อเพื่อลงทุน คงต้องเลือกตามคำแนะนำของกูรูนักลงทุนอสังหาฯ

แล้วจะเลือกอยู่ใกล้สถานีอะไร ก่อนจะตอบคำถามนี้ ผมอยากแบ่งปันข้อมูลว่าปัจจุบันผมอาศัยในคอนโดใกล้สถานีที่สามนับจากสถานีต้นทาง ผมต้องทำงานเข้าเมือง ถ้าผมขึ้นรถไฟฟ้า ช่วงเวลา 06.30 น. หรือก่อน 7 โมงเช้า นี่คือยังชิลๆ (แต่ถ้าใกล้ 7 โมงมากๆ ก็เริ่มไม่ชิล) แต่ถ้าผมเข้าชานชาลาหลัง 7 โมงเช้า ผมแทบเข้ารถไฟไม่ได้เลย คือจะเข้าได้ก็ต้องดันตัวเองเข้าไป เพราะไม่เช่นนั้นผมคงไปตอกบัตรไม่ทัน แล้วความแน่นขนัดก็ยาวไปจนถึงเวลา 08.30 น. หลังจากนั้นถึงจะเริ่มเข้าได้สบายๆ

ถ้าผมอยู่สถานีที่สามนับจากต้นทางยังเข้าขบวนรถไฟได้ยาก สถานีที่สี่ ที่ห้า ซึ่งใกล้เมืองมากกว่าจะเป็นเช่นไร เท่าที่ผมดูทุกวัน คือ เข้าแทบไม่ได้เลย เข้าได้เพียงไม่กี่คนเท่านั้น และต้องดันตัวเองเข้าไป ซึ่งในการขายคอนโดยิ่งใกล้เมืองยิ่งราคาสูง นั่นหมายถึงคอนโด สถานีที่สี่ ที่ห้า ที่หก นับจากต้นทางจะแพงกว่าสถานีต้นทาง ซึ่งจะอยู่ขยับออกไปนอกเมืองหน่อย แพงกว่า แต่กลับเข้ารถไฟฟ้าได้ยากกว่า คำถามคือ ถ้ามนุษย์เงินเดือนซื้อเพื่ออยู่อาศัยอย่างเราๆ จะจ่ายแพงกว่าทำไม เมื่อจ่ายแล้วก็ยังต้องยืนรอรถไฟฟ้าขบวนถัดไปอย่างน้อย 1 ขบวน หรืออาจจะ 2 ขบวนในช่วงเวลาเร่งด่วน

ทีนี้ผมเลยจะตอบคำถามว่าเราควรเลือกสถานีอย่างไร ในมุมผมถ้ารถไฟฟ้าขยายมากขึ้น คนจะมีทางเลือกมากขึ้น เราสามารถเลือกสถานีต้นๆ ทางที่อยู่นอกเมืองหน่อย ค่าใช้จ่ายในการเดินทางอาจจะสูงกว่าหน่อย แต่ก็เดินทางสะดวกกว่า มีโอกาสได้เข้ารถไฟฟ้าตั้งแต่ขบวนแรกๆ  

ก่อนตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยลองมองกรุงเทพฯ ให้รอบ และมองไกลๆ อีกที กรุงเทพฯ กำลังจะเปลี่ยนไปมาก สถานีรถไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นเท่าตัว จะกลายเป็นทางเลือกจำนวนมหาศาลให้กับเรา มองรอบเมืองปีนี้คงได้แต่เห็นภาพร่างๆ แต่ปี 2562 ภาพคงชัดขึ้น

สวัสดีปีใหม่ โชคดีมีชัยทุกท่านครับ