posttoday

ทิศทางสินเชื่อที่อยู่อาศัย

12 กันยายน 2560

ภาพรวมตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัยในปี 2560 มีการขยายตัวใกล้เคียงกับปี 2559 ที่ผ่านมา

ภาพรวมตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัยในปี 2560 มีการขยายตัวใกล้เคียงกับปี 2559 ที่ผ่านมา โดยมีปัจจัยช่วยสนับสนุนการขยายตัวของตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัยหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นอัตราดอกเบี้ยของสถาบันการเงินที่ยังทรงตัวอยู่ใน
ระดับต่ำตามอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ช่วยกระตุ้นแรงซื้อที่อยู่อาศัย สำหรับผู้ที่ต้องการที่อยู่อาศัยแท้จริง เงินเฟ้อที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลโดยเฉพาะการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมขนส่งและรถไฟฟ้าสายสำคัญต่างๆ

อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อจำกัดต่อการเติบโตของตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัยในปี 2560 เช่น ภาวะเศรษฐกิจของประเทศที่ยังไม่ขยายตัวมากนัก ยังไม่เอื้ออำนวยต่อการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยและการก่อหนี้ระยะยาวของผู้บริโภค ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ยังสะสมอยู่ในระดับสูงซึ่งเป็นข้อจำกัดในการก่อภาวะหนี้ใหม่ อุปสงค์ในตลาดที่อยู่อาศัยที่มีราคาเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งสถาบันการเงินต่างๆ ยังคงมีความกังวลต่อระดับหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทำให้สถาบันการเงินต่างระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อ

สำหรับแนวโน้มตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัยปี 2561 ยังคงมีปัจจัยบวกจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ทั้งการลงทุนโครงข่ายการคมนาคมขนส่ง รวมทั้งแผนการพัฒนาเขตเศรษฐกิจการลงทุนพิเศษระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจของประเทศมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง 

รวมถึงมาตรการส่งเสริมการพัฒนาที่อยู่อาศัยรองรับผู้สูงอายุที่รัฐบาลได้มีการผลักดันออกมาอย่างเป็นรูปธรรม ในขณะที่ความต้องการที่อยู่อาศัยจริงยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะทำให้ภาพรวมตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัยในปี 2561 มีแนวโน้มในทิศทางที่ดี

อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยเสี่ยง เช่น เศรษฐกิจของประเทศในภาพรวมยังขยายตัวได้ไม่เต็มที่ ซึ่งอาจส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการในการลงทุนด้านที่อยู่อาศัยและอสังหาริมทรัพย์ การตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัย และขอสินเชื่อที่อยู่อาศัยใหม่ ในขณะที่ปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนที่ยังคงอยู่ในระดับสูงจะเป็นข้อจำกัดในการก่อหนี้ใหม่ และสถาบันยังคงมีความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ ซึ่งจะส่งผลต่อการเข้าถึงสินเชื่อที่อยู่อาศัยของประชาชน

ทั้งนี้ คาดว่าจะมีความเข้มงวดมากขึ้น จากการเปลี่ยนแปลงตามกระแสโลกยุคดิจิทัลที่มีการนำเทคโนโลยีทางการเงิน (ฟินเทค) มาใช้ในการให้บริการมากขึ้น สถาบันการเงินต่างๆ จะมีการปรับตัวหันมาพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อรองรับพฤติกรรมผู้บริโภคที่มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะทำให้ผู้ใช้บริการได้รับความสะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น