posttoday

พื้นที่สำหรับมนุษย์ตัวเล็ก

08 กันยายน 2560

เปลี่ยนแปลง “บ้าน” อย่างไรให้เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของเด็กๆ

โดย...นิตยสารบ้านแสะสวน

บ้านซึ่งเคยเป็นพื้นที่อยู่อาศัยของมนุษย์ผู้ใหญ่ เมื่อถึงวันที่จะมีชีวิตน้อยๆ มาอยู่ร่วมด้วยย่อมเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นยินดี และต้องเตรียมการกันยกใหญ่ว่า เราจะเปลี่ยนแปลง “บ้าน” อย่างไรให้เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของเด็กๆ

หากใครเคยมีประสบการณ์ทำนองนี้คงจะทราบดีว่า ถ้าเป็นลูกหลานคนแรกของพ่อแม่ของปู่ย่าตายาย หรือของลุงป้าน้าอา แทบทุกบ้านจะเตรียมทุกอย่างแบบจัดเต็ม มีห้องพิเศษ มีของเล่นเสริมพัฒนาการคอยกระตุ้น ทุกขั้นตอนของการเจริญเติบโต แต่ถ้าเป็นลูกหลานคนต่อมา เราจะรู้แล้วว่าเด็กไม่ได้ต้องการอะไรมากมายขนาดนั้น หากผู้ใหญ่ลองทำความเข้าใจพัฒนาการและความต้องการที่แท้จริงของเด็ก ก็จะมองเห็นวิธีการง่ายๆ ในการปรับพื้นที่เพื่ออยู่ “ร่วมกัน” เราไม่จำเป็นต้องสิ้นเปลืองงบประมาณในการต่อเติมหรือตกแต่งห้องใหม่เพื่อเจ้าตัวน้อย แต่สามารถใช้พื้นที่ร่วมกันโดยไม่ต้องแบ่งแยกว่า ตรงไหนเป็นพื้นที่สำหรับเด็กหรือผู้ใหญ่ เพราะอันที่จริงเราควรทำให้ทุกพื้นที่มีความปลอดภัยสำหรับทุกคน

พื้นที่ในบ้าน

7 ปีแรกของชีวิต ประสาทสัมผัสทุกส่วนของเด็กทำงานโดยขาดการกลั่นกรองหรือการปฏิเสธ เด็กจะซึมซับทุกอย่างที่อยู่ในสภาพแวดล้อมเข้าไปในตัวของเขา ไม่ว่าจะเป็นความคิด คำพูด ทัศนคติ ท่าทีของผู้ใหญ่ที่เลี้ยงดู รวมไปถึงแสง สี เสียง สัมผัสของวัตถุต่างๆ และบรรยากาศที่โอบล้อมเขาอยู่ ลองนึกย้อนไปถึงความทรงจำแรกและสภาพแวดล้อมในบ้านที่เราเติบโตมาก็จะพบว่ามีหลายสิ่งหลายอย่างที่ก่อร่างสร้างให้เราเป็นผู้ใหญ่แบบที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ การจัดสภาพแวดล้อมในบ้านให้เอื้อต่อการเรียนรู้และเติบโตตามธรรมชาติของเด็กจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้ใหญ่ไม่ควรมองข้าม เพื่อให้เด็กรู้สึกมั่นคง อบอุ่น และมีอิสระในพื้นที่ที่ปลอดภัย และเมื่อเด็กได้อยู่ในพื้นที่ที่ผู้ใหญ่วางใจ ผู้ใหญ่เองก็จะดูแลเด็กได้ง่ายขึ้นด้วย

เฟอร์นิเจอร์ปลอดภัย แข็งแรง... เมื่อเด็กเริ่มเกาะยืน เฟอร์นิเจอร์รอบตัวเขาควรมีความแข็งแรงพอให้เขาเหนี่ยวดึงตัวเองขึ้นได้ เมื่อถึงวัยปีนป่าย โต๊ะ เก้าอี้ เตียงนอน ควรแข็งแรงพอที่จะเป็นสนามเด็กเล่นให้เขา โดยที่เราไม่ต้องคอยห้ามไปเสียทุกอย่าง

พื้นที่อิสระที่ไม่ต้องมีของเล่นมาก... เด็กเล็กๆ ไม่ได้ต้องการของเล่นหรือตัวช่วยในการทดสอบความสามารถของร่างกายตัวเอง เขาควรพลิกตัว นั่ง คลาน ยืน และเดินได้ด้วยความมุ่งมั่น และความแข็งแรงของตัวเอง เด็กที่อยู่ท่ามกลางของเล่นและอุปกรณ์กระตุ้นพัฒนาการจำนวนมากๆ กลับมีโอกาสน้อยที่จะได้ทำความรู้จักกับมือ เท้า แขน และขาของตน เด็กต้องการพื้นที่เพียงเล็กๆ ที่เปิดโอกาสให้เขาได้เล่นอิสระโดยไม่ต้องมีผู้ใหญ่เป็นผู้ชี้นำ หาของเล่นปลายเปิดที่แปรเปลี่ยนได้ตามจินตนาการเพียงเล็กน้อยและจัดเก็บอย่างเป็นระเบียบเพื่อให้เด็กสามารถ หยิบมาเล่นและเก็บเองได้ เป็นพื้นที่ที่เด็กได้เล่นโดยไม่ต้องมีวัตถุประสงค์ การเรียนรู้ที่กำหนดโดยผู้ใหญ่ ขณะที่เด็กเล่นอย่างอิสระ ลองมองว่าเขาเป็นศิลปินตัวน้อย ที่กำลังสร้างสรรค์การเล่นและไม่ต้องการให้ผู้ใหญ่เข้าไปรบกวน สังเกต เขาอย่างเงียบๆ เราอาจได้รู้จักลูกหลานของเรามากขึ้น

พื้นที่สำหรับมนุษย์ตัวเล็ก

 

พื้นที่นอกบ้าน

การได้ใกล้ชิดสิ่งมีชีวิตอื่น เช่น ต้นไม้ สัตว์เลี้ยง หรือสัตว์เล็กๆ ในธรรมชาติ ช่วยเสริมสร้างพลังชีวิตให้แก่มนุษย์ได้ หากบ้านไหนพอจะมีพื้นที่ การที่เด็กได้เห็นไม้ใหญ่เติบโต ได้ดมกลิ่นดอกไม้หอมสดชื่น ได้ดูแลสัตว์เลี้ยงแสนรัก ได้เห็นแม่นกฟูมฟักลูกน้อย เฝ้าลุ้นไปกับหนอน ที่กำลังจะกลายเป็นผีเสื้อ นอกจากจะได้รับพลังชีวิตแล้ว เด็กยังได้เรียนรู้เรื่องความเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติและความเป็นไปของชีวิตโดยที่เรา ไม่ต้องเอ่ยปากสอน และถ้าเปิดโอกาสให้เด็กได้ลงมือรดน้ำพรวนดินปลูกผักผลไม้จนเติบโต เก็บเกี่ยวกินได้ นอกจากความภูมิใจในสองมือของตนแล้ว เด็กจะมองเห็นความเชื่อมโยงระหว่างตัวเองกับโลกที่ลึกซึ้งกว่าเพียงแค่การไปซื้อผักจากซูเปอร์มาร์เก็ต หากไม่มีพื้นที่นอกบ้านก็สามารถทำกิจกรรมที่ว่ามาได้ในกระถาง ต้นไม้ริมระเบียงหรืออ่างปลาเล็กๆ หน้าบ้าน

พื้นที่เล่นดิน ทราย น้ำ... ถ้าพอจัดสรรพื้นที่ได้ ควรให้เด็กมีโอกาสสัมผัสดิน ทราย และน้ำ วัตถุธาตุเหล่านี้ล้วนเป็นองค์ประกอบของร่างกายมนุษย์ หากเด็กได้เล่นดิน เล่นทราย เล่นน้ำ เขาจะรู้สึกได้ถึงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับโลก เกิดความสบายใจ ช่วยชำระล้างและปลดปล่อยความคับข้องขุ่นมัวในใจ และได้บริหารจินตนาการความคิดสร้างสรรค์อย่างอิสระ

การจัดพื้นที่ในบ้านเพื่อการใช้งานร่วมกันของเด็กและผู้ใหญ่ อาจสรุปได้เป็น 3 ข้อสั้นๆ คือ ปลอดภัย ช่วยเหลือตัวเองได้ และดึงธรรมชาติเข้าใกล้ตัว จากนั้นผู้ใหญ่ก็เพียงเปิดหู เปิดตา เปิดใจ ให้เวลา รับฟัง และสังเกต เราก็จะได้พบช่วงเวลามหัศจรรย์แห่งการเติบโตของมนุษย์ ไม่จำเป็นต้องเร่งรัดให้เด็กโต แต่ควรให้เขามีประสบการณ์กับพัฒนาการแต่ละขั้นของเขาเองอย่างเต็มที่ เพราะวัยเด็กผ่านไปอย่างรวดเร็วและไม่อาจย้อนกลับไปแก้ไขได้