posttoday

‘ปล่อยกู้บ้าน’...สัญญาณเป็นบวก

31 พฤษภาคม 2560

ตัวเลขล่าสุดที่รายงานโดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย แสดงให้เห็นว่า ยอดการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ในเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา

โดย...ทีมข่าวการเงินโพสต์ทูเดย์

ตัวเลขล่าสุดที่รายงานโดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย แสดงให้เห็นว่า ยอดการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ในเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา เริ่มส่งสัญญาณเป็นบวกมากขึ้น เมื่อภาพรวมของสินเชื่อได้ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.4% เมื่อเทียบกับเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา และเพิ่มขึ้น 2.13% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งถือได้ว่าเป็นระดับที่สูงที่สุดในปีนี้

อย่างไรก็ตาม ตัวเลขการปล่อยสินเชื่อที่เพิ่มขึ้น เป็นผลจากสินเชื่อภาคธุรกิจขนาดใหญ่และสินเชื่อรายย่อย โดยเฉพาะสินเชื่อบ้านที่กลับมาปรับตัวดีขึ้น ขณะที่สินเชื่อเอสเอ็มอีโดยเฉพาะขนาดเล็กยังชะลอตัวต่อเนื่อง

นอกจากนี้ การปรับลดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่ออ้างอิงสำหรับลูกค้ารายย่อยในหลายธนาคาร รวมถึงมติเอกฉันท์ให้ตรึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินในช่วงเดือน พ.ค. คงมีส่วนช่วยผ่อนคลายความกังวลเกี่ยวกับทิศทางอัตราดอกเบี้ย และลดภาระหนี้ของผู้กู้ยืมได้มากขึ้น ขณะเดียวกันในมุมของการขอสินเชื่อใหม่ การปรับลดดอกเบี้ยของธนาคารดังกล่าวอาจช่วยให้ลูกค้าบางกลุ่มมีความสามารถในการชำระหนี้ดีขึ้น และผ่านการพิจารณาด้านเครดิตได้มากขึ้น  

ทั้งนี้ การขยายตัวของสินเชื่อที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสินเชื่อรายย่อยในกลุ่มสินเชื่อบ้าน และการเติบโตอย่างต่อเนื่องของสินเชื่อเงินทุนหมุนเวียน สำหรับธุรกิจในประเทศและธุรกิจระหว่างประเทศ ถือเป็นสัญญาณที่ดีสำหรับการฟื้นตัวอย่างชัดเจนขึ้นของสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ในระยะข้างหน้าอีกด้วย โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังคงคาดการณ์การเติบโตของสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ไว้ที่ระดับ 3-5% (ค่ากลางที่ 4%)

สอดคล้องกับความเห็นของ ลือชัย ชัยปริญญา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส ผู้บริหารสายงานกลยุทธ์และผลิตภัณฑ์รายย่อย ธนาคารกรุงไทย ที่มองว่า ภาพรวมสินเชื่อบ้านไตรมาส 2 คาดว่าจะดีขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจ โดยคุณภาพหนี้ในปัจจุบันของธนาคารดีขึ้นมาก ตัวหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) จากสินเชื่อใหม่ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาเกิดขึ้นน้อยมากไม่ถึง 1% เนื่องจากมีการปรับปรุงระบบคัดกรองสินเชื่อใหม่ ทำให้ธนาคารมั่นใจในการปล่อยสินเชื่อได้มากขึ้น อัตราการอนุมัติสินเชื่ออยู่ที่ 70% สูงกว่าระบบที่เฉลี่ยอยู่ 40-50%

สำหรับกลยุทธ์สินเชื่อบ้านในปีนี้ จะขยายสินเชื่อบ้านในภูมิภาคมากขึ้น หลังจากเห็นความต้องการสินเชื่อบ้านในภูมิภาคขยายตัว ขณะที่ตลาดในกรุงเทพมหานครเริ่มอิ่มตัว ความต้องการซื้อชะลอลง ขณะที่ปริมาณที่อยู่อาศัยรอการขายมีจำนวนมากโดยเฉพาะตามแนวรถไฟฟ้า

ทั้งนี้ การที่ธนาคารหันมารุกตลาดภูมิภาคอาจสวนทางกับธนาคารอื่น แต่ธนาคารมองไปข้างหน้าเห็นอนาคตของเศรษฐกิจภูมิภาคที่มีแนวโน้มขยายตัวสูง จากการค้าชายแดน นโยบายการลงทุนภาครัฐที่กระจายลงสู่ภูมิภาค และการเติบโตของหัวเมืองใหญ่ รวมทั้งระบบขนส่งที่ดีขึ้น ทำให้คนไม่จำเป็นต้องโยกย้ายเข้ามาอาศัยในเมืองหลวง