posttoday

เปิดภารกิจหน่วยงานรัฐ บี้อสังหาฯคุ้มครองผู้บริโภค

25 มกราคม 2554

ในปี2554การดำเนินการของหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องกับภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์หลายหน่วยงานก็จะมีเนื้องานใหม่ๆ ที่อาจจะมีผลกระทบต่อการทำธุรกิจได้....

ในปี2554การดำเนินการของหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องกับภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์หลายหน่วยงานก็จะมีเนื้องานใหม่ๆ ที่อาจจะมีผลกระทบต่อการทำธุรกิจได้....

โดย... วราพงษ์ ป่านแก้ว / สุกัญญา สินถิรศักดิ์

ในปี 2554 นอกจากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จะต้องเผชิญกับวิบากกรรมจากปัจจัยลบทางธุรกิจต่างๆ นานาแล้ว การดำเนินการของหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องกับภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์หลายหน่วยงานก็จะมีเนื้องานใหม่ๆ ที่อาจจะมีผลกระทบต่อการทำธุรกิจได้หากไม่ติดตามอย่างใกล้ชิด

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การแก้ไขตัวบทกฎหมาย หรือมาตรการที่จะนำมาใช้คุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคที่ซื้อบ้านจะกลายเป็นกระแสหลักที่หน่วยงานรัฐให้ความสนใจที่จะนำมาใช้กำกับดูแลภาคธุรกิจมากขึ้น เมื่อกระแสเรียกร้องสิทธิของผู้บริโภคผ่านสื่อสาธารณะต่างๆ นับวันจะมีพลังมากขึ้นพอที่จะกดดันให้ภาครัฐต้องออกมาตรการป้องกันให้เข้มงวดขึ้น

สคบ.เล็งทวงเงินดาวน์บ้าน

หน่วยงานที่ดูแลโดยตรงอย่าง สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคจึงมีแผนงานอยู่หลายโปรเจกต์ด้วยกัน นพปฎล เมฆเมฆา รองเลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) กล่าวว่า สคบ.มีแนวคิดที่จะแก้ปัญหาการขอสินเชื่อไม่ผ่านและถูกยึดเงินดาวน์บ้านซึ่งมีการร้องเรียนเข้ามาเป็นจำนวนมาก โดย สคบ.เห็นว่า ไม่เป็นธรรมกับผู้บริโภค จึงอยู่ระหว่างหาแนวทางกำหนดเป็นกฎหมายที่ชัดเจนต่อไป

เปิดภารกิจหน่วยงานรัฐ บี้อสังหาฯคุ้มครองผู้บริโภค

อีกภารกิจที่ สคบ.หมายมั่นว่าจะผลักดันให้เกิดขึ้นในปีนี้ คือการศึกษาข้อกฎหมายเพื่อผลักดันให้นำ พ.ร.บ.การดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญา พ.ศ. 2551 หรือเอสโครว์มาใช้โดยบรรจุไว้อยู่ในสัญญามาตรฐานที่กรมที่ดินถ้าศึกษากฎหมายแล้วสามารถทำได้ก็จะมีผลบังคับให้ผู้ประกอบการต้องจัดทำเอสโครว์ เพื่อคุ้มครองเงินดาวน์ของผู้บริโภคไปโดยปริยาย

กรมที่ดินเข้มสาธารณูปโภค

สำหรับอีกหนึ่งหน่วยงานหลักอย่างกรมที่ดินที่กำกับการพัฒนาทั้งบ้านจัดสรร และอาคารชุด ในปีนี้การแก้ไข พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน และการปรับปรุงกฎกระทรวงที่ออกตาม พ.ร.บ.อาคารชุดยังค้างคาอยู่จะต้องสางต่อเช่นกัน

สุชาติ ดอกไม้เพ็ง นักวิชาการชำนาญพิเศษ ผู้อำนวยการส่วนมาตรฐานการจัดสรรที่ดินกรมที่ดิน กล่าวว่า การแก้ไข พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน อยู่ในขั้นตอนของคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจสอบก่อนที่จะส่งมาให้คณะรัฐมนตรีเสนอเข้าสู่สภาต่อไป ขณะที่ พ.ร.บ.อาคารชุด ฉบับที่ 4 ได้ประกาศไปแล้ว แต่หากมีข้อเสนอที่จะขอปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติม ทางกรมก็พร้อมที่จะรวบรวมประเด็นปัญหามาดำเนินการให้

นอกจากนี้ กรมที่ดินยังมีแนวคิดที่จะเพิ่มบทลงโทษในกรณีที่ผู้ประกอบการไม่จัดทำสาธารณูปโภคตามที่ระบุไว้ หรือทำไม่แล้วเสร็จ รวมถึงการศึกษาความเป็นไปได้ การ|ยกเงินค้ำประกันสาธารณูปโภคให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อใช้เป็นงบประมาณส่วนแรกให้กับท้องถิ่นในการดูแลสาธารณูปโภคในกรณีที่ผู้ประกอบการยกให้สาธารณะด้วย

โยธาฯคุมผังเมืองพื้นที่เสี่ยง

ขณะที่งานในส่วนของกรมโยธาธิการและผังเมือง ก็มีอยู่ไม่น้อยเช่นกันที่จะเพิ่มเข้มข้นในปีนี้ โดยเฉพาะการควบคุมพื้นที่เสี่ยงภัย|น้ำท่วมที่ได้ทำการศึกษาเสร็จเรียบร้อยแล้ว และจะมีมาตรการทางผังเมืองออกมาคุมพื้นที่เสี่ยงที่ไม่ควรส่งเสริมให้มีการก่อสร้างที่อยู่อาศัย

ปรีชา รณรงค์ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านการผังเมือง กรมโยธาธิการและผังเมือง เปิดเผยว่า กรมจะใช้มาตรการทางผังเมืองมาควบคุมพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วม และดินถล่มทั่วประเทศ โดยขณะนี้ได้จัดทำแผนผังพื้นที่ 25 ลุ่มแม่น้ำที่เสี่ยงต่อภัยน้ำท่วมเสร็จเรียบร้อยแล้ว

ในขณะเดียวกันคณะกรรมการผังเมืองได้มีมติให้พื้นที่สีเขียวในผังเมือง หรือพื้นที่เกษตรกรรมทั่วประเทศ ห้ามไม่ให้มีการจัดสรรที่ดินและพาณิชยกรรม เพราะพื้นที่เหล่านี้เป็นพื้นที่ที่มีไว้สำหรับการทำการเกษตร ส่วนใหญ่จะเป็นพื้นที่ลุ่ม พื้นที่รับน้ำ เมื่อผังเมืองฉบับไหนมีการแก้ไขปรับปรุงใหม่ พื้นที่สีเขียวจะไม่อนุญาตให้ทำการจัดสรรที่ดิน และพาณิชยกรรม

ผังใหม่กทม.เน้นเมืองกระชับ

ส่วนการปรับปรุงแก้ไขผังเมือง กทม. ที่จะหมดอายุในเดือน พ.ค. 2554 และได้ทำการต่ออายุออกไปอีก 1 ปี แนวทางของการแก้ไขผังเมือง กทม.ฉบับใหม่ จะเน้นการเป็น Compact City หรือทำเมืองให้กระชับขึ้นโดยจะส่งเสริมการพัฒนาพื้นที่จะถูกส่งเสริมในเขตเมืองชั้นในและเมืองชั้นกลาง หรือไม่เกินวงแหวนรอบนอก ส่วนเขตชานเมืองจะไม่สนับสนุนการพัฒนา

นอกจาก 3 หน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์แล้ว ยังมีหน่วยงานอื่นๆ ที่จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การลดการใช้พลังงานของกรมส่งเสริมพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน การติดตามดูแลธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อย่างใกล้ชิดจากธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นต้น

กฎเกณฑ์จากภาครัฐเหล่านี้ ยากที่จะหลีกเลี่ยงได้ แต่ถ้าติดตามอย่างใกล้ชิดและรู้เท่าทัน ก็พอที่จะหาทางรับมือ ไม่ให้ธุรกิจได้รับผลกระทบได้ ก่อนที่จะสายเกินไป