posttoday

สิงห์ เอสเตท เปิดแผน Master Plan “เอส อ่างทอง” นิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ

27 มิถุนายน 2565

สิงห์ เอสเตท เปิดแผน Master Plan “เอส อ่างทอง” นิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ พร้อมโซนพิเศษสำหรับอุตสาหกรรมอาหารและธุรกิจเกี่ยวเนื่อง World Food Valley

นางฐิติมา รุ่งขวัญศิริโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน) กล่าว ว่า บริษัทฯ ดำเนินธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์มาตั้งแต่ปี 2014 และเติบโตมาอย่างต่อเนื่อง ภายใต้กลยุทธ์กระจายการลงทุนเพื่อสร้างความหลากหลายใน 4 กลุ่มธุรกิจที่เชื่อมโยงกัน ส่งผลให้บริษัทฯ สามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีได้อย่างสม่ำเสมอ โดยปัจจุบันบริษัทฯ มีโครงสร้างธุรกิจแบ่งเป็น 4 กลุ่มธุรกิจทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ประกอบด้วย ธุรกิจพักอาศัย ธุรกิจโรงแรม ธุรกิจสำนักงานให้เช่าและพื้นที่ค้าปลีก และล่าสุดธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมและโครงสร้างพื้นฐาน

โดยกลุ่มธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม และโครงสร้างพื้นฐานของสิงห์ เอสเตท แบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ

1) ธุรกิจโครงสร้างพื้นฐาน: ครอบคลุมธุรกิจผลิตกระแสไฟฟ้า ธุรกิจพลังงาน ธุรกิจบริการด้านวิศวกรรม และ ธุรกิจบริการ รวมถึงนวัตกรรมต่างๆ

2) ธุรกิจโรงไฟฟ้า: ร่วมทุนเพื่อดำเนินงานโรงไฟฟ้า จำนวน 3 โรง ขนาดกำลังการผลิตรวมกว่า 400 เมกะวัตต์ ซึ่งมีสัญญาซื้อขายกับกฟผ. แล้วราว 70% เป็นเวลา 25 ปี โดยบริษัทจะมีการรับรู้ผลการดำเนินงานของธุรกิจผ่านส่วนแบ่งกำไรจากธุรกิจร่วมค้า

3) นิคมอุตสาหกรรม: สร้างนิคมอุตสาหกรรมที่สร้างคุณที่ยั่งยืนให้กับลูกค้า ชุมชน สังคม ยกระดับ คุณภาพชีวิตของชุมชนและส่งเสริมศักยภาพด้านเศรษฐกิจ

สิงห์ เอสเตท เปิดแผน Master Plan “เอส อ่างทอง” นิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ

นางฐิติมา ยังกล่าวถึงที่มาของนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศแห่งนี้ด้วยว่า ตอนนี้ประเทศไทย กำลังอยู่ในช่วงการพลิกวิกฤตเป็นโอกาสในการรับมือกับสถานการณ์ความมั่นคงด้านอาหารโลก และก้าวสู่ 1 ใน 10 ประเทศผู้ส่งออก ตามแนวทางการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร ระยะที่ 1 ของกระทรวงอุตสาหกรรม

ในปัจจุบันประเทศไทยเรายังมีความต้องการนิคมอุตสาหกรรมที่ออกแบบมาเพื่อสนับสนุนธุรกิจอาหารและธุรกิจเกี่ยวเนื่องโดยเฉพาะ สิงห์ เอสเตท จึงเห็นถึงโอกาสในการพัฒนานิคมอุตสาหกรรม โดยเลือกพื้นที่อ่างทองซึ่งเป็นจังหวัดที่มีศักยภาพสูงเพราะเป็นศูนย์กลางการเชื่อมต่อวัตถุดิบอาหารที่สำคัญของไทยและยังสะดวกในการขนส่งวัตถุดิบจากภาคเหนือและภาคกลางตอนบนสู่ศูนย์กระจายสินค้าหลักของประเทศอีกด้วย นอกจากนั้นอ่างทองยังพร้อมไปด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกที่ครบครัน ไม่ว่าจะเป็น โรงพยาบาล โรงเรียน แหล่งช้อปปิ้ง มีแรงงานจำนวนมากรองรับการความต้องการของผู้ประกอบการ

สำหรับแนวทางในการพัฒนาโครงการนิคมอุตสาหกรรม เอส อ่างทอง นั้น นายกำจร ลีประพันธ์กุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอส. ไอเอฟ. จำกัด กล่าวเสริมว่า โครงการนี้ถูกออกแบบมาเพื่อรองรับอุตสาหกรรมอาหารและธุรกิจเกี่ยวเนื่องบนพื้นที่โครงการ 1,776 ไร่ ตั้งอยู่ริมถนนสายเอเชีย กม.63 ต. ไชยภูมิ อ. ไชโย จ. อ่างทอง ห่างจากสนามบินและท่าเรือขนส่งเพียงแค่ 1ชั่วโมงครึ่ง พร้อมไปด้วยโครงสร้างระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานที่เพียงพอ มั่นคง และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม 3 โรง ขนาดกำลังการผลิตรวมกว่า 400 เมกะวัตต์ พร้อมระบบจ่ายไฟฟ้า 22 KV และ 115 KV รองรับผู้ประกอบการที่มีความต้องการไฟฟ้าในปริมาณมากและมีเสถียรภาพสูง รวมถึงสาธารณูปโภคอื่นๆ เช่น น้ำประปา ก๊าซธรรมชาติ และพลังงานทางเลือก พร้อมทั้งระบบเครือข่ายโทรคมนาคม ระบบ 5G และอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง ครอบคลุมทุกพื้นที่โครงการ นอกจากนี้ยังได้พัฒนาพื้นที่ค้าปลีก เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการ พนักงาน และประชาชนทั่วไป ได้ใช้ประโยชน์สูงสุดจากพื้นที่ของเราอีกด้วย โดยแบ่งเป็นพื้นที่โครงการทั้งหมด: 1,776 ไร่ เป็นพื้นที่ขาย: 993 ไร่ พื้นที่พาณิชยกรรมพร้อมด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน: 34 ไร่ พื้นที่สีเขียว: 148 ไร่ ระบบสาธารณูปโภค: 214 ไร่ อ่างเก็บน้ำ: 384 ไร่ สามารถกักเก็บน้ำปริมาณ 6.12 ล้าน ลูกบาศก์เมตร โดยพื้นที่อุตสาหกรรมเบา 393 ไร่ถูกจัดโซนอยู่บริเวณรอบโครงการ เพื่อความคล่องตัวของแต่ละประเภทธุรกิจ พื้นที่อุตสาหกรรมอาหารและธุรกิจเกี่ยวเนื่อง 600 ไร่ ถูกจัดโซนพื้นที่เพื่อให้ใกล้กับแหล่งพลังงานไอน้ำเพื่อประหยัดต้นทุนในการใช้พลังงาน

ที่สำคัญ นิคมอุตสาหกรรม เอส อ่างทองนี้ ยังมุ่งสร้างคุณค่าที่ยั่งยืนให้กับสังคมและยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชนโดยนำแนวคิด “Enriching Tomorrow” มาพัฒนาโครงการ ผ่านระบบโครงสร้างพื้นฐานและพลังงานคาร์บอนต่ำที่เหมาะสมกับธุรกิจอาหารและธุรกิจเกี่ยวเนื่อง ครอบคลุมทั้ง

สิงห์ เอสเตท เปิดแผน Master Plan “เอส อ่างทอง” นิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ

แหล่งพลังงานคาร์บอนต่ำตอบโจทย์อนาคต (Climate change mitigation) ? ระบบไฟฟ้าที่เพียงพอและมีความเสถียรสูงจากโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม 3 โรง ขนาดกำลังการผลิตรวมกว่า 400 เมกะวัตต์โดยไฟฟ้ามีสัญญาขายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยในสัดส่วน 70% และสัดส่วน 30% รองรับให้กับลูกค้าในนิคมอย่างเพียงพอและที่สำคัญเป็นพลังงานไฟฟ้าที่เกิดจากโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมที่เป็นเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าที่สะอาด

- น้ำดิบคุณภาพดีปริมาณมากกว่า 6.12 ล้านลูกบาศก์เมตร ในพื้นที่ 384 ไร่ เพียงพอในการรองรับการผลิตของลูกค้าทั้งนิคม และยังใช้ระบบผลิตน้ำประปาด้วยระบบอัลตร้าฟิลเทรชั่น ที่สามารถกรองสิ่งสกปรกได้ละเอียดมากกว่า 0.1 ไมครอน ทำให้น้ำประปาที่ผลิตได้ มีคุณภาพสูง สะอาด เหมาะสมกับกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารได้เป็นอย่างดี

- พลังงานไอน้ำที่มีเสถียรภาพและคาร์บอนต่ำ ที่นอกจากจะได้พลังงานไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าแล้วยังได้พลังงานไอน้ำที่สามารถจ่ายให้กับผู้ประกอบการในนิคมได้อีกด้วย มีต้นทุนที่ต่ำกว่าและมีเสถียรภาพ

- พลังงานสะอาดผลิตจาก Solar cell นิคมฯ มีพื้นที่พร้อมที่จะทำ Floating solar ภายในอ่างเก็บน้ำหรือพื้นที่ส่วนกลางเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการที่จะเข้าสู่ NET ZERO เพื่อโอกาสในอนาคตทั้งเรื่องการส่งออกต่างประเทศ ช่วยลดภาษีคาร์บอน (CBAM) และการเพิ่มโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุน Green Finance

ระบบการบริหารจัดการของเสียและนำกลับมาใช้อย่างรู้คุณค่า (Responsible consumption)

- เทคโนโลยี Co-Generation Power Plant ในกระบวนการผลิตไฟฟ้าที่ทำให้เกิดของเสียน้อยที่สุด ลดการปล่อยคาร์บอนแต่ยังได้พลังงานที่มีประสิทธิภาพสูง

- ระบบน้ำที่สามารถใช้ได้อย่างคุ้มค่าและไม่ส่งผลกระทบต่อชุมชนโดยรอบ สามารถผลิตน้ำเพื่ออุตสาหกรรมได้เองและมีการรีไซเคิลน้ำกลับมาใช้ใหม่ พร้อมระบบบริหารจัดการกาก ตะกอนที่เหมาะสม

- พื้นที่สีเขียวกว่า 148 ไร่ ที่จะช่วยลดภาวะจากฝุ่นและดูดซับคาร์บอนได้กว่า 148 ตันต่อปี

- ระบบป้องกันน้ำท่วมและแนวป้องกันที่สูงถึง 10.5 เมตร เหนือระดับน้ำทะเลปานกลางพร้อมระบบการระบายน้ำที่มีประสิทธิภาพและที่สำคัญไม่สร้างผลกระทบต่อชุมชนรอบข้างส่งเสริมคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจชุมชน (Sustainable community)

- ส่งเสริมเศรษฐกิจและสร้างรายได้ให้ชุมชน เมื่อโครงการแล้วเสร็จจะเกิดการจ้างงานในนิคมมากกว่า 5,000 คนและส่งเสริมให้เกิดรายได้กับพื้นที่ชุมชนรอบข้าง

- สร้างพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจ ไลฟ์สไตล์ที่ทันสมัย และสนับสนุนเศรษฐกิจท้องถิ่นด้วยร้านค้าและกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์บนพื้นที่พาณิชยกรรม 34 ไร่

- สร้างศูนย์การเรียนรู้ เรื่องข้าว และส่งเสริมวัฒนธรรมท้องถิ่น รวมถึงแบ่งปันพื้นที่เพื่อสนับสนุนการขายสินค้าท้องถิ่น

นอกจากสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ที่ครบครัน เหมาะกับนิคมอุตสาหกรรมอาหารที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว การเดินทางในโครงการ ยังสะดวกสบาย ด้วยถนนสายหลักที่มีถึง 4 เลน เขตทางกว้าง 35 เมตร ออกแบบอย่างใส่ใจเพื่อความปลอดภัย และยังมีเทคโนโลยีโครงข่าย Internet ความเร็วสูง (FTTx) และ IOT และเครือข่าย โทรคมนาคมที่ครอบคลุม พร้อมระบบ CCTV เพื่อความปลอดภัย อีกทั้งพื้นที่สีเขียวกว่า 148 ไร่ ยังเป็นพื้นที่พักผ่อนให้กับผู้คนในโครงการเพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืนอีกด้วย

สำหรับแผนธุรกิจของโครงการนิคมอุตสาหกรรม เอส อ่างทอง นั้น นางฐิติมาเผยว่า บริษัทฯ วางแผนการขายพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมทั้งหมดภายใน 6 ปี มูลค่ากว่า 4,000 ล้านบาท พร้อมเตรียมรับ Recurring income อีกปีละกว่า 150 ล้านบาท และในปี 2022 นี้ ตั้งเป้าขายที่ 15% ของพื้นที่ทั้งหมด คิดเป็นพื้นที่ 149 ไร่ มูลค่ากว่า 500 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันได้เตรียมพร้อมรับรู้รายได้จากการขายให้โรงไฟฟ้าบี.กริม เพาเวอร์ อ่างทอง 2 และ 3 จำนวน 78 ไร่ ภายในไตรมาส 3 ปี 2022 นี้

ภาพรวมของเศรษฐกิจที่เริ่มกลับมาดีขึ้นหลังสถานการณ์โควิด-19 เชื่อว่าจะส่งผลให้ยอดขายพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมเติบโตขึ้นอีก และจากผลสำรวจพบว่าราคาที่ดินนิคมอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะจังหวัดในภาคกลาง จึงมั่นใจว่านิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ เอส อ่างทอง จะสร้างโอกาสใหม่ให้กับผู้ประกอบการ โดยเฉพาะในธุรกิจอุตสาหกรรมอาหารและธุรกิจเกี่ยวเนื่อง