posttoday

Top 5 บริษัทอสังหาฯ ฝ่าวิกฤติโควิด-19

20 พฤษภาคม 2563

คอลัมน์ อสังหาฯ ประเด็นร้อน

Top 5 บริษัทอสังหาฯ ฝ่าวิกฤติโควิด-19

บริษัทอสังหาริมทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ ได้ประกาศผลประกอบการในไตรมาสแรกกันเกือบครบหมดแล้ว มีเพียงไม่กี่บริษัทที่ขอผ่อนผันเลื่อนการส่งผลประกอบการให้ตลาดหลักทรัพย์เนื่องจากติดปัญหาจากโควิด-19 ทำให้การเก็บข้อมูลตัวเลขต่างๆ ล่าช้า

ผลสอบของไตรมาสแรกของปี 2563 ออกมาแล้ว บริษัทส่วนใหญ่ทั้งรายได้และกำไรต่างตกลงเมื่อเทียบกับไตรมาสแรกของปี 2562 แต่จะเหมาว่า ผลกระทบมาจากวิกฤติไวรัสโควิด-19 คงไม่ถูกซะทีเดียว เพราะถ้าเราย้อนกลับไปในไตรมาสที่ 1 ปี 2562 เป็นช่วงเวลาที่ทุกค่ายเร่งขาย เร่งโอน เพื่อจะหนีกฎเหล็กของธนาคารแห่งประเทศไทยในการคุมสินเชื่อที่อยู่อาศัย หรือที่เรียกันติดปากว่า คุม LTV ที่จะเริ่มประกาศใช้ในเดือนเมษายน 2562

ตัวเลขรายได้ในไตรมาส 1 ปี 2562 จึงสูงกว่าปกติกที่ควรจะเป็น เมื่อมาเทียบ YoY กับไตรมาส 1 ปี 2563 ซึ่งจริงๆ ผลกระทบจากโควิด-19 เริ่มเห็นผลชัดเจนในเดือนมีนาคม ผสมโรงกันไปเลยทำให้ผลงานในไตรมาสแรกเทียบกันแล้วติดลบกันกราวรูด ลองมาดูบทสรุปผลประกอบการอสังหาฯในไตรมาส 1 ปี 2563 กันครับ

กว่า 30 บริษัทอสังหาฯที่พัฒนาโครงการที่อยู่อาศัย และยัง active อยู่ในขณะนี้ มีรายได้รวมในไตรมาส 1 ปี 2563 รวมกันประมาณ 60,000 ล้านบาท ลดลง 32% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้วที่มีรายได้รวม 87,000 ล้านบาท

แต่อย่างที่บอกว่า ในไตรมาส 1 ปี 2562 รายได้ที่พีคขึ้นมานั้นเกิดจากการเร่งขายเร่งโอนก่อนการบังคับใช้มาตรการคุม LTV ดังนั้นจึงขอเอาผลประกอบการในไตรมาส 1 ปี 2561 มาเป็นอีกหนึ่งคู่เทียบ ซึ่งจะพบว่า รายได้รวมของไตรมาส 1 ปี 2563 ลดลงจากรายได้รวมในไตรมาส 1 ปี 2561 ที่มีรายได้รวม 67,000 ล้านบาท อยู่ประมาณ 12%

ประมาณการได้ว่า จากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว และผลจากวิกฤติโควิด-19 ที่เกิดขึ้นในช่วงปลายไตรมาส 1 ปี 2563 ได้ส่งผลกระทบต่อตลาดอสังหาฯประมาณ 10% กว่าๆ และผลกระทบจริงๆ น่าจะเกิดขึ้นในไตรมาส 2 นี้

คราวนี้มาดูกันที่รายได้จากการขาย ซึ่งถือเป็นรายได้หลักของบริษัทพัฒนาที่อยู่อาศัย พบว่า ในไตรมาสที่ 1 ปี 2563 บริษัทอสังหาฯกว่า 30 บริษัท มีรายได้จากการขายรวมกันที่ 50,000 ล้านบาท ลดลง 35% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2562 ที่มีรายได้จากการขายรวม 76,000 ล้านบาท และลดลง 15% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2561 ที่มีรายได้จากการขายรวมกันทั้งสิ้น 58,000 ล้านบาท

ขณะที่กำไรสุทธิของบริษัทอสังหาฯรวมกันทำไปได้ 6,000 ล้านบาท ขณะที่กำไรสุทธิในไตรมาส 1 ปี 2562 ทำได้ 13,000 ล้านบาท ลดลงถึง 53% และลดลง 35% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2561 ที่มีกำไรสุทธิ 9,400 ล้านบาท

สาเหตุที่กำไรสุทธิในไตรมาส 1 ปี 2563 ที่ลดลงค่อนข้างมาก นอกจากรายได้ที่ลดลงแล้ว เกิดจากการแข่งขันราคา เพื่อระบายสต๊อกที่มีอยู่ออกไปให้ได้มากที่สุด โดยผู้ประกอกการยอมที่จะลดกำไรลง เพื่อเปลี่ยนสต๊อกให้เป็น cash flow

หากนำรายได้และกำไรมาหาอัตรากำไรสุทธิของอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ จะพบว่า ในไตรมาส 1 ปี 2563 มีอัตรากำไรสุทธิของอุตสาหกรรมอยู่ที่ 10% ขณะที่ไตรมาส 1 ปี 2562 และ 2561มีอัตรากำไรสุทธิอยู่ที่ 15% และ 14% ตามลำดับ

ท็อป 5 บริษัทอสังหาฯผลงานเยี่ยม

มาถึงผลสอบที่ใครๆ อยากรู้ว่า 5 อันดับแรกของบริษัทที่มีผลประกอบการโดดเด่นในด้านต่างๆ จะเป็นใครกันบ้าง โดยอยู่บนเงื่อนไขที่ว่า ข้อมูลรายได้จากการขายที่ใช้เป็นรายได้ที่แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ จึงไม่รวมรายได้จากโครงการร่วมทุน ซึ่งจะบันทึกเฉพาะผลกำไรเท่านั้น นอกจากนี้ ยังขาดข้อมูลของบริษัทรายใหญ่อย่าง พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค ที่ขอเลื่อนการส่งรายงานผลการดำเนินการ ข้อมูลจึงเป็นไปตามสภาพปัจจุบัน ณ วันที่ 18 พ.ค. 2563 ติดตามกันได้เลยครับ

สำหรับ 5 อันดับแรกของบริษัทที่มีรายได้รวมสูงสุดในไตรมาส 1 ปี 2563 มีดังนี้

อันดับ 1 ยังคงเป็น พฤกษา โฮลดิ้ง แม้รายได้รวมจะลดลงไปมากจากไตรมาส 1 ปี 2562 โดยมีรายได้รวมในไตรมาส 1 ปี 2563 อยู่ที่ 7,176 ล้านบาท ขณะที่ช่วงเดียวกันของปีก่อน พฤกษา ก็ครองอันดับ 1 ด้วยรายได้รวม 11,909 ล้านบาท

อันดับ 2 เป็นของ แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ มีรายได้รวม 7,057 ล้านบาท เกือบๆ จะแซงหน้าพฤกษาไปได้ โดยมีรายได้รวมห่างกันหลัก 100 กว่าล้านบาทเท่านั้น และถือว่ายังทำผลงานได้ใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้รวม 7,128 ล้านบาท อยู่ในอันดับที่ 3

อันดับ 3 ได้แก่ แสนสิริ แม้ว่า ผลกำไรในไตรมาสนี้จะดูไม่จืด (กำไร 2 ล้านบาท) แต่รายได้รวมยังถือว่าทำได้ดีอยู่ที่ 6,623 ล้านบาท ใกล้เคียงไตรมาส 1 ปีที่แล้วที่มีรายได้รวม 6,638 ล้านบาทอยู่ในอันดับ 4

อันดับ 4 สำหรับไตรมาสนี้ คือ เอพี (ไทยแลนด์) ถือว่าผลงานดร็อปลงมาเล็กน้อย เพราะในระยะหลังมักอยู่ในท็อป 3 มาโดยตลอด ไตรมาส 1 ปีนี้หลุดวงโคจรมาอยู่ในอันดับ 4 ด้วยรายได้รวม 5,412 ล้านบาท ขณะที่ช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่อันดับ 2 ด้วยรายได้รวม 7,800 ล้านบาท ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะมีรายได้อื่นๆ ที่น้อยเกินไป

อันดับ 5 ของไตรมาส 1 ปี 2563 ตกเป็นของ โกลเด้นแลนด์ มีรายได้รวม 3,994 ล้านบาท เฉือนศุภาลัยที่อยู่อันดับ 6 แบบเฉียดฉิว และแม้ว่าจะมีรายได้รวมน้อยกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนที่อยู่ในอันดับ 7 ด้วยรายได้รวม 4,885 ล้านบาท แต่ก็สามารถฉกฉวยโอกาสที่ตลาดบ้านแนวราบกำลังไปได้ดีปีนขึ้นมาติดท็อป 5 ได้

พฤกษา กวาดรายได้ขายอันดับหนึ่ง

ในส่วนของท็อป 5 ด้านรายได้จากการขายซึ่งถือเป็นตัวชี้วัดสำคัญอีกตัวหนึ่ง โดย 5 บริษัทที่มีรายได้จากการขายสูงสุด ได้แก่

อันดับ 1 ยังคงเป็น พฤกษา โฮลดิ้ง ที่มีรายได้จากการขาย 7,143 ล้านบาท แม้จะลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้จากการขาย 11,881 ล้านบาท แต่ก็ยังถือว่ารักษาแชมป์เอาไว้ได้แบบหืดขึ้นคอ

อันดับ 2 คือ แสนสิริ มีรายได้จากการขาย 5,383 ล้านบาท โดดจากอันดับ 5 ที่ทำได้ 4,893 ล้านบาท ในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ด้วยกลยุทธ์ เร่งการขาย เพื่อแข่งขันกับสภาพตลาดที่ชะลอตัวอย่างหนัก (Speed to Market) แม้จะต้องยอมแลกกับกำไรที่ลดลงอย่างมากก็ตาม

อันดับ 3 เอพี เข้าป้ายมาด้วยรายได้จากการขาย 5,162 ล้านบาท ซึ่งถือว่าตัวเลขใกล้เคียงชนิดหายใจรดต้นคอกับอันดับ 2 แสนสิริ และอันดับ 4 แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ แต่ยังถือว่ามีผลงานที่ตกลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่รั้งอันดับที่ 2 ด้วยรายได้จากการขาย 7,503 ล้านบาท

อันดับ 4 คือ พี่ใหญ่แลนด์แอนด์เฮ้าส์ มีรายได้จากการขายรวม 5,048 ล้านบาท รักษาทั้งอันดับและรายได้จากการขายที่ใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้วที่มีรายได้จากการขาย 5,698 ล้านบาท ถือว่ามีผลงานที่ค่อนข้างคงเส้นคงวา แม้ว่าสถานการณ์ตลาดจะเปลี่ยนไปก็ตาม

อันดับ 5 ได้แก่ ศุภาลัย แม้รายได้รวมจะไม่เข้าป้ายใน 5 อันดับแรก แต่ส่วนของรายได้จากการขายศุภาลัยก็ยังรั้งอันดับในท็อป 5 เอาไว้ได้ โดยมีรายได้จากการขาย 3,621 ล้านบาท เฉือนโกลเด้นแลนด์ในอันดับ 6 ที่มีรายได้จากการขาย 3,557 ล้านบาท ขณะที่ในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ศุภาลัยอยู่ในอันดับ 3 ด้วยรายได้จากการขาย 6,253 ล้านบาท

แลนด์ฯครองแชมป์กำไรสูงสุด

บทสรุปสุดท้ายคือกำไรสุทธิ ในไตรมาส 1 ปีนี้ โดยภาพรวมเกือบทุกบริษัทกำไรลดลงกราวรูด จากการแข่งขันในตลาดที่รุนแรง ซึ่งเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ท็อป 5 ที่กำไรสุทธิสูงสุดมีตัวเลขเกินหลักพันล้าน แต่สำหรับไตรมาสนี้มีเพียงบริษัทเดียวที่กำไรเกินหลักพันล้าน และ 5 บริษัทที่มีกำไรสูงสุด ได้แก่

อันดับ 1 แลนด์แอนด์เฮ้าส์ มีกำไรสุทธิ 1,339 ล้านบาท ถือเป็นบริษัทที่โดดเด่นในแง่ของความสามารถในการทำกำไร แม้จะถูกมองว่า มีแนวนโยบายที่ค่อนข้าง conservative แต่ก็อาศัยจุดแข็งที่มีเอาชนะคู่แข่งได้ด้วยบรรทัดสุดท้าย โดยในไตรมาส 1 ปี 2562 แลนด์แอนด์เฮ้าส์ก็ครองแชมป์บริษัทที่มีกำไรสูงสุดที่จำนวน 1,831 ล้านบาท 

อันดับ 2 พฤกษา โฮลดิ้ง ทำกำไรได้ 940 ล้านบาท ยังคงยึดอันดับ 2 ไว้อย่างเหนี่ยวแน่น แต่ถือว่ากำไรลดลงมากเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้วที่อยู่อันดับ 2 ด้วยกำไรสุทธิ 1,717 ล้านบาท

อันดับ 3 ได้แก่ ศุภาลัย ในไตรมาสนี้มีกำไร 761 ล้านบาท ลดลงมากเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ที่อยู่อันดับ 3 ด้วยตัวเลขกำไรสุทธิ 1,545 ล้านบาท

อันดับ 4 ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ ไต่เข้าสู่ท็อป 5 ได้ด้วยตัวเลขกำไรสุทธิ 676 ล้านบาท ขณะที่ช่วงเดียวกันของปีที่แล้วอยู่ในอันดับ 7 ด้วยตัวเลขกำไรสุทธิ 720 ล้านบาท

อันดับ 5 เอพี (ไทยแลนด์) มีกำไรสุทธิ 618 ล้านบาท ขณะที่ช่วงเดียวกันของปีที่แล้วก็อยู่ในอันดับ 5 ด้วยตัวเลขกำไรสุทธิ 1,078 ล้านบาท

ทั้งหมดคือภาพรวมของผลประกอบการของบริษัทอสังหาฯที่สะท้อนตลาดในไตรมาสที่ 1 ได้เป็นอย่างดี และคงต้องมาลุ้นกันต่อว่าในไตรมาสที่ 2 ตัวเลขผลประกอบการจะติดลบลงไปกว่าไตรมาสแรกนี้มากน้อยแค่ไหน

เพราะในไตรมาส 2 ตลาดจะได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อย่างเต็มตัว ตัวเลขไตรมาส 2 จึงต้องลุ้นกันอย่างระทึกหัวใจแน่นอน

Top 5 บริษัทอสังหาฯ ฝ่าวิกฤติโควิด-19

Top 5 บริษัทอสังหาฯ ฝ่าวิกฤติโควิด-19

Top 5 บริษัทอสังหาฯ ฝ่าวิกฤติโควิด-19

อ่านบทความอื่นๆ ได้ที่ www.thaipropertymentor.com

เกี่ยวกับผู้เขียน: วราพงษ์ ป่านแก้ว อดีตหัวหน้าข่าวอสังหาริมทรัพย์ โพสต์ทูเดย์ คลุกคลีในสนามข่าวมานานกว่า 25 ปี ปัจจุบัน

เป็นผู้ก่อตั้งและบรรณาธิการข่าว thaipropertymentor.com